ที่น้อยก็ทำได้ รวมทริค ‘ปลูกต้นไม้’ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในบ้าน

ปลูกต้นไม้
ปลูกต้นไม้

ที่น้อยก็ทำได้ รวมทริค ‘ปลูกต้นไม้’ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในบ้าน

ปลูกต้นไม้ – แม้ว่าหลายคน จะต้องเริ่มออกไปทำงาน หยุดเวิร์กฟรอมโฮม กักตัวอยู่บ้านกันแล้ว แต่การอยู่บ้าน รักษาระยะห่างกับสังคม ก็ยังเป็นแนวทางที่ดีในการป้องกันตัวจากเชื้อโควิด

และปฏิเสธไม่ได้ว่า กิจกรรมที่ฮอตฮิต เมื่อต้องอยู่บ้าน ก็คือ “การปลูกต้นไม้” ที่นอกจากจะดีต่อธรรมชาติแล้ว ยังช่วยให้ผ่อนคลาย ขจัดความเครียดจากหลายอย่างที่รุมล้อมเข้ามา จนได้เห็นคนเมืองเลือกซื้อต้นไม้ที่ตลาดกันอย่างเนืองแน่น

แต่จะปลูกอะไร และปลูกอย่างไรให้ได้ผล ยังเป็นคำถามสำหรับใครหลายคน

Advertisement

รู้เรื่องพืชก่อนปลูก

ก่อนจะเริ่มลงมือปลูกต้นไม้สักต้น ดร.วีระชัย ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านพรรณไม้ ได้ให้คำแนะนำว่า ต้องคำนึงว่าเรามีพื้นที่ขนาดไหน หากมีพื้นที่ใหญ่ อาจเลือกปลูกไม้ต้น หรือพืชเศรษฐกิจต่างๆ ได้ แต่หากอาศัยในคอนโดมิเนียม หรือมีพื้นที่เล็กๆ หลังบ้าน ก็ต้องเลือกพันธุ์ที่เล็กลงมา หากมีพื้นที่รอบบ้าน ก็อาจจะปลูกไม้ประดับเขียวๆ รอบบ้าน ส่วนใหญ่จะปลูกไม้ผล มะม่วง ขนุน พวกพืชทานได้ แต่ถ้าพื้นที่เล็ก อาจปลูกพืชสวนครัว กะเพรา ผักบุ้ง หรือไม้ประดับ ไม้ดอก อย่าง แก้วกาญจนา โป๊ยเซียน โกศล ที่ปลูกในระเบียง บนกะละมังได้ง่ายๆ หรือจะเป็น มะเขือเทศ มะนาว ตะไคร้ มะกรูด ก็ได้

ขณะที่ นคร ลิมปคุปตถาวร หรือ ปริ๊นซ์ เจ้าชายผัก เผยว่า การจะปลูกพืชนั้น ต้องดูปัจจัยหลายอย่าง เริ่มจาก “แสงแดด” เพราะไม่มีแดดก็คงปลูกพืชได้ยาก การปลูกพืชผักทั่วไปต้องมีแดดจัด แดดเต็มวันยิ่งดี หรือไม่ควรน้อยกว่าครึ่งวัน แต่บางชนิดก็ขึ้นในแดดรำไร เช่น พวกต้นอ่อน หรือผักพื้นบ้านบางอย่าง สัมพันธ์กันกับพื้นที่เพาะปลูกของเรา คนเมืองอาจจะลำบากเพราะบ้านอยู่ในพื้นที่แดดน้อย อาจปลูกบนดาดฟ้า หรือระเบียง เป็นทางเลือกได้อีก แต่ดีที่สุดคือการปลูกพืชลงดิน

ต่อมาคือปัจจัยเรื่อง “น้ำ” น้ำที่ดีในการเพาะปลูกคือน้ำฝน หากใช้น้ำประปาก็ให้หมั่นฟังทางการ ว่าคลอรีนเกินกว่ามาตรฐานหรือไม่ หากเกินต้องนำน้ำมาพักก่อนหนึ่งคืน แต่หากที่บ้านมีปั๊มน้ำหรือแท็งก์น้ำ ก็เป็นการพักน้ำเช่นกัน

Advertisement

เลือกปลูกตามฤดูกาล

เมื่อมีแดดและน้ำแล้ว ต่อมาคือปัจจัยเรื่องสภาพอากาศ ที่ควรปลูกพืชตามฤดูกาล ที่นคร เผยว่า เราไม่ควรปลูกพืชฝืนสภาพอากาศ ไม่เช่นนั้นจะต้องดูแลมากเป็นพิเศษ ในช่วงอากาศร้อน ฝนตกไม่มาก สามารถปลูกผักได้หลายชนิด เช่น ผักบุ้ง ถั่ว แตง บวบ ฟัก แต่หากปลูกโปยเล้งที่ชอบหนาวๆ ก็จะโตช้า แก่เร็ว เมื่อเข้าหน้าฝน ผักทานใบต่างๆ รวมทั้งผักที่ใบอ่อนนุ่ม อย่างผักชี ผักสลัด ก็จะปลูกยากใบช้ำง่าย ควรปลูกผักที่ทานลูก จะทนกว่า หรือปลูกมะเขือ พริก ฟัก บวบ แตง ถั่ว

พืชสวนครัวกินได้

เตรียมดิน ก่อนลงมือจริง

นคร เผยว่า ปัจจัยสุดท้ายที่สำคัญในการปลูกผัก ก็คือเรื่องดิน ซึ่งควรใช้ดินธรรมชาติจริงๆ หากบ้านที่ไม่มีดิน ก็นำเอาดินที่ซื้อจากร้านต้นไม้มาปรับปรุงได้ มีวิธีง่ายๆ คือ นำดิน 1 ถุง ปุ๋ยคอก 1 ถุง เศษใบไม้ใบหญ้า ตัดให้เป็นชิ้นเล็กๆ มาคลุกเข้าด้วยกัน ผสมเสร็จแล้วนำมาใส่ภาชนะที่เจาะรูได้ บ่มทิ้งไว้ ใช้เวลา 2 อาทิตย์-1 เดือน ให้ขี้วัวและเศษหญ้าผสมกับดินจนเป็นเนื้อเดียวกัน ช่วงเวลาที่พักดินนั้น ก็ให้เพาะต้นกล้ารอ โดยนำดินร่อนด้วยที่ร่อนแป้ง ผสมขุยมะพร้าว มูลไส้เดือนร่อน ดินใบก้ามปูร่อน มาผสมกันให้เป็นเนื้อเดียวกัน ใส่ในถ้วยเล็กๆ เช่น ถ้วยโยเกิร์ตที่เรากินหมดแล้ว เจาะรูไว้ รดน้ำให้พอชุ่ม อย่าให้เยอะจนแฉะ อาจจะฉีดฟ็อกกี้ใส่ แล้วนำเมล็ดพันธุ์ใส่เข้าไป อย่าให้ลึกมาก วางให้โดนแดด หากแดดจัดเกินไป หรือน้ำไม่พอ ต้นกล้าจะขึ้นเอียง นำเอาสแลนมากรองแสงเบาๆ ได้ เมื่อต้นขึ้นแล้ว ก็ย้ายลงดินได้พอดี เคล็ดลับคือ ปลูกแล้วต้องหมั่นพรวนดิน ใช้ส้อมทิ่มๆ ลงไปก็พอ ไม่ต้องพรวนพลิกไปมา และไม่พรวนตอนดินเปียก

“การปลูกพืชในดิน ถือเป็นเรื่องดีที่สุด เพราะการที่เราอยู่ในสวน หรือได้สัมผัสกับธรรมชาติ จะช่วยเรารักษาสุขภาพได้ ได้สัมผัสดินเช้าชั่วโมงเย็นชั่วโมง ดินที่ทำเอง มีจุลินทรีย์ธรรมชาติ เป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับเรา” นคร ย้ำ

การปรับปรุงดิน

พื้นที่น้อย ปลูกอะไรได้บ้าง

แม้ว่าจะรู้ว่าต้องปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ แต่หลายคนก็มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ในการปลูก เจ้าชายผัก บอกว่า หากมีพื้นที่น้อยๆ ก็อาจจะปลูกผักพวกต้นอ่อน ปลูกเบียดๆ กันเก็บเกี่ยวกินได้ แต่อย่าทานบ่อยเพราะมีกรดยูริคมาก ไม่ดีกับผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ หากสะดวกก็ปลูกพืชจำพวกเครื่องเทศ ไว้ใช้กินเอง อย่างกะเพรา แมงลัก โหระพา หรือสมุนไพร อย่างฟ้าทะลายโจร ก็มีเมล็ดแจกฟรีอยู่ ผักไชยา หอมแซ่บ วอเตอร์เครส ผักเป็ด ก็ปลูกได้

หากไม่สะดวกจะปลูกผัก นคร แนะนำว่า ให้ปลูกไม้ประดับ ที่ทนร่มได้ดี เช่น พลูด่าง ที่ดูดซับ ไอระเหยของสารเคมีที่มาจากเฟอร์นิเจอร์ พวกไม้อัดต่างๆ ได้ หรือสาวน้อยปะแป้ง คอยเอาใจใส่ ตัดแต่งใบที่แห้งเหี่ยว ยกออกแดดบ้าง ก็ช่วยได้ หรือหากไม่มีเวลา ก็ปลูกแคคตัสได้ อย่าให้น้ำมากเกินไป ก็พอ

ข้อดีคือ การปลูกต้นไม้เหมือนได้ดูแลตัวเองไปด้วย จิตใจก็สงบมากขึ้น เวลาทุกร้อนหรือหงุดหงิด ก็ได้ทำจิตใจให้ว่าง

กระบองเพชร

ขณะที่ ดร.วีระชัยกล่าวว่า ต้นไม้ที่ปลูกง่ายๆ นั้น แนะนำให้ปลูกไม้ประดับ เช่น แก้วกาญจนา บอนสี โป๊ยเซียน พญาไร้ใบ พวกนี้ถูกและทน แต่หากขี้เกียจรดน้ำมากๆ ก็ให้เลี้ยงกระบองเพชร ใครยังไม่มีไอเดีย ก็สามารถไปเดินสวนสาธารณะ อย่างสวนจตุจักร สวนหลวง ร.9 ก็จะได้เห็นต้นไม้สวยๆ เป็นไอเดียได้ สมัยนี้ต้นไม้ราคาไม่แพง สามารถหาซื้อได้ง่ายๆ

ส่วนใครมีพื้นที่มาก อยากจะปลูกต้นไม้ดูดฝุ่นให้อินเทรนด์นั้น ดร.วีระชัยกล่าวว่า คนที่ปลูกต้นไม้ ก็อยากให้ต้นไม้ช่วยดูดคาร์บอนไดออกไซด์ให้ หากอยากให้ดูดฝุ่น อาจจะทำไม่ได้เยอะขนาดนั้น แต่ก็สามารถเลือกพวกไม้ต้น เช่น ตะแบก ประดู่บ้าน ราชพฤกษ์ ที่มีกระบวนการสังเคราะห์แสง จะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซน์ ได้ดี อย่างไรก็ตาม หลายคนกลัวว่ากลางคืนต้นไม้จะคายคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาให้เป็นอันตราย เรื่องนี้ ปลูกต้นไม้อย่างไรก็ปลอดภัย 100%

ดร.วีระชัย ภาพจาก UP Channel

 

เคล็ดลับปลูกพืชให้เติบโต

ดร.วีระชัยเผยว่า สิ่งสำคัญในการปลูกพืช คือ ต้องตั้งใจ ถ้าอยากปลูกต้องลงมือเลย ซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ดิน ให้ครบเงิน 100 บาท สามารถซื้อต้นไม้ได้ 5 ต้นแล้ว มีดินดีๆ ไม่แพงให้เลือกได้เยอะ หากไม่มีเวลา เราก็รดน้ำเช้า เย็น ก่อนและหลังไปทำงาน และคอยชื่นชมผลของมันในช่วงวันเสาร์อาทิตย์ก็ได้

ขณะที่ เจ้าชายผัก บอกว่า การดูแลต้นไม้ก็ต้องเหมือนดูแลตัวเอง การปลูกต้นไม้ก็คือการลงทุนในดิน เหมือนที่ซื้อกองทุนต่างๆ กัน เราปลูกผัก มีอาหารไว้กินเอง เอาค่าใช้จ่ายไปหาหมอน้อยลง คือกำไรชีวิต ได้กินผักสดๆ ที่แตกต่างกับไปซื้อมา

วิกฤตครั้งนี้ ทำให้เราเห็นแล้วว่าความมั่นคงทางอาหาร เป็นเรื่องที่สำคัญมาก หากล็อกดาวน์นานกว่านี้ ปิดตลาด 4 มุมเมือง ก็ไม่มีอาหารเข้ามาส่ง เป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องตระหนักในเรื่องนี้ เราลงทุนไม่เยอะ แต่เทียบดูแล้วนี่คือ กำไรชีวิต

เพื่อสุขภาพที่ดี

นคร ลิมปคุปตถาวร
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image