สสส.ส่งเสริมสุขภาวะเด็กไทยบนชีวิตวิถีใหม่ ชวนเพิ่มกิจกรรมทางกาย เติมเต็มพัฒนาการสมบูรณ์รอบด้าน

แรงกระเพื่อมจากการอุบัติของมหันตภัยไวรัสตัวร้าย ก่อให้เกิดรูปแบบชีวิตวิถีใหม่พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ โดยเฉพาะในด้านสุขภาพที่ต้องปรับรูปแบบการดำเนินชีวิตให้แตกต่างไปจากแนวปฏิบัติที่คุ้นเคยในแบบเดิมๆ 

แม้แต่ระบบการศึกษาก็ต้องเลื่อนเปิดภาคเรียน มีการปรับมาใช้รูปแบบออนไลน์ในการเรียนการสอน บรรดาน้องๆ หนูๆ ที่ชอบเล่นเกม-ดูการ์ตูนออนไลน์หรือท่องยูทูบอยู่แล้ว ก็ยิ่งต้องบวกเวลานั่งหน้าจอมากขึ้น 

ตามมาด้วยปัญหาของ ‘กิจกรรมทางกายเพียงพอ’ ที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมสุขภาวะคนไทยทุกช่วงวัย ‘สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ’ หรือ สสส. ได้จัดโครงการกิจกรรมส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายกลุ่มวัยเด็กในสถานศึกษา (Active Play Active School) ส่วนหนึ่งของโครงการเป็นกิจกรรม ‘New Normal for Thai Children ชีวิตวิถีใหม่ของเด็กไทย’ มีการเชิญผู้แทนจากภาคี นำโดย วราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมโรคระบาด มาขึ้นเวทีพูดคุยถึงความสำคัญของการจัด ‘New Normal for Active Play Active School’ ร่วมกับ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ สสส. และมี ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนฯ รับหน้าที่ดำเนินรายการ

Advertisement

เริ่มจาก ‘วราวิช กำภู ณ อยุธยา’ กล่าวว่า ศธ.ได้เตรียมความพร้อมที่จะเปิดเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ก่อนหน้าก็มีการเรียนการสอนทั้งแบบออนไลน์และออนแอร์ผ่านทีวี 17 ช่อง ตั้งแต่ช่องอนุบาล 1 จนถึงช่อง ม.6  มีช่องของอาชีวะและ กศน. โดยในส่วนของโรงเรียนขนาดเล็กไม่เกิน 120 คนซี่งมีประมาณ 15,000 แห่งสามารถเปิดสอนได้แล้ว เนื่องจากขนาดของจำนวนนักเรียนทำให้ไม่มีปัญหาการจัดการความปลอดภัยด้านสาธารณสุข พร้อมกันนี้ก็ได้ออกมาตรการป้องกัดอย่างรัดกุมให้โรงเรียนนำไปปฎิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการวัดไข้ ล้างมือ สวมหน้ากาก หากเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ต้องมีการเว้นระยะห่างในห้องเรียน เพื่อลดความเสี่ยง เพิ่มปัจจัยเสริมเพื่อให้เด็กมีสุขภาวะที่ดี

Advertisement

‘นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์’ กล่าวเสริมถึงการควบคุมโรคระบาดในโรงเรียนว่า เมื่อโรงเรียนเปิดแล้วก็จะมีบางโรคที่เพิ่มขึ้น แต่บางโรคที่มาตามฤดูกาลอย่างไข้หวัดใหญ่ มือเท้าปาก จะลดลง เพราะมีมาตรการต่างๆ ในการป้องกันโควิด-19 ที่ช่วยสกัดโรคเหล่านี้ไปในตัว แต่อย่างไรก็ตาม หากมีการระบาดรอบ 2 เด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 จะไม่มีอาการรุนแรง ทำให้มีโอกาสแพร่ให้คนอื่นได้น้อย พร้อมกับให้ความเห็นถึงการกระตุ้นให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายอย่างเหมาะสม นอกจากเป็นการสร้างเสริมให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สามารถป้องกันหรือต่อสู้กับโรคภัยแล้ว ยังลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญช่วยลดโอกาสการกลับมาระบาดซ้ำของโรคโควิด-19

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดตลอดทั้ง 6 เดือนที่ผ่านมา หลายคนอาจจะคิดว่าส่งผลกระทบในแง่จิตใจและความเดือดร้อนเฉพาะผู้ใหญ่หรือวัยทำงาน แท้จริงแล้ว มีตัวเลขที่น่าสนใจมาจากสภาเด็กและเยาวชนแห่งชาติซึ่งร่วมกับยูนิเซฟและยูเอ็นดีพี ทำการสำรวจออนไลน์ในกลุ่มเด็กนักเรียนชั้นมัธยมขึ้นไปในทั่วประเทศ พบว่าเด็กๆ ได้รับผลกระทบไม่ต่ำไปจากผู้ใหญ่ 

“มีเด็กๆ ประมาณ 86% อยู่ในครอบครัวที่ได้รับรู้ผลกระทบทางการงานของผู้ปกครอง ไม่ว่าจะตกงานหรือรายได้ลดลง ซึ่งส่งผลต่อความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐาน ขณะเดียวกัน 3 ใน 4 บอกว่าตัวเองมีความเครียดความกังวล กลุ้มใจ รวมถึงกังวลที่ไม่ได้เรียน นี่คือสิ่งที่เด็กสะท้อนออกมา” ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ กล่าว

ผู้จัดการกองทุน สสส. ยังกล่าวอีกว่า สถานการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนชีวิตวิถีใหม่ของเด็กไทยทั้งในมิติเชิงบวกและเชิงลบ ในเชิงบวกพบว่า เด็กร้อยละ 11.6 มีโอกาสเล่น ออกแรงเคลื่อนไหว และมีกิจกรรมทางกายมากขึ้นกว่าในช่วงปกติซึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ปกครองได้ทำงานที่บ้าน ทำให้มีเวลาเล่นหรือทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ ตรงกันข้ามกับมิติเชิงลบที่เด็กร้อยละ 61.6 มีกิจกรรมทางกายลดลง พร้อมกับการใช้เวลานั่งหน้าจอมือถือ แทปเลต หรือคอมพิวเตอร์เพื่อความบันเทิงเพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน

“เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะจากเดิมที่นั่งหน้าจอเฉลี่ยวันละ 3 ชั่วโมงก็นับว่าสูงกว่าข้อแนะนำมาตรฐานกว่า 1 ชั่วโมงอยู่แล้ว สสส.จึงหวังให้ทุกภาคส่วนร่วมกันส่งเสริมให้ชีวิตวิถีใหม่ของเด็กและเยาวชนไทยมีสุขภาวะที่ดีผ่านการปรับพฤติกรรมให้มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอสูงขึ้นอีกร้อยละ 10”

และอีกหนึ่งผู้ร่วมเวทีเสวนาแต่ผ่านทางระบบ Zoom ‘รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุกในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายและโภชนาการในเด็ก อธิบายถึงความหมายของคำว่า Active Play ว่า ไม่ได้เป็นเพียงแค่เล่นเกมหรือเล่นกีฬา แต่หมายถึงทุกอย่างที่มีการขยับเขยื้อนเพื่อใช้กล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นเอ็น เมื่อเด็กได้ขยับร่างกาย ก็ส่งผลให้เกิดการให้กระตุ้นสมอง ปอด หัวใจ และกล้ามเนื้อ

“การจัดอาหารครบ 5 หมู่ให้เด็กได้รับประทาน ควบคู่ไปกับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพออย่างน้อย 60 นาทีต่อวันใน 3 รูปแบบ คือ การเล่นเพื่อความสนุกสนานและผ่อนคลาย, การเล่นเพื่อเสริมสร้างทักษะต่างๆ ตามช่วงวัย และกิจกรรมทางกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง จะทำให้เด็กไทยเติบโตอย่างมีสุขภาวะที่ดี มีภูมิต้านทานที่จะจัดการทั้งปัญหาสุขภาพและปัญหาการใช้ชีวิตในอนาคต”

อนึ่ง สสส.ได้จัดทำคู่มือการจัดการโรงเรียนรับมือโควิด เรียบเรียงจากการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกระทรวงสาธารณสุข และคู่มือส่งเสริมการเรียนรู้ 3 มิติ แนะนำการใช้ชีวิต 24 ชั่วโมงของเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกิน ออกกำลังกาย เล่น นอนพักผ่อน ฯลฯ สามารถนำไปเรียนรู้และปรับใช้ที่บ้านได้ ติดต่อขอรับหรือดาวน์โหลดได้ที่ www.thaihealth.or.th

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image