นอนไม่หลับ ปัญหาใหญ่วัยทำงาน เปิดเทคนิค ‘หลับลึกมีคุณภาพ’ เพื่อสุขภาพที่ดี

นอนไม่หลับ

นอนไม่หลับ ปัญหาใหญ่วัยทำงาน เปิดเทคนิค ‘หลับลึกมีคุณภาพ’ เพื่อสุขภาพที่ดี

นอนไม่หลับ เรียกว่าเป็นปัญหาใหญ่ของใครหลายคน โดยเฉพาะกับวัยทำงาน ที่มีเรื่องเครียด เก็บไปคิดจนทำให้นอนไม่หลับ แต่การอดนอน จะทำให้ปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมาได้ไม่น้อย

จากข้อมูลของ กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย ที่เผยแพร่ในหนังสือ “รอบรู้…สุขภาพวัยทำงาน” เผยว่า การนอนหลับให้เพียงพอนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับวัยทำงาน เพราะการนอนหลับ เป็นช่วงเวลาที่ร่างกายได้พักผ่อน ร่างกายจะเกิดการซ่อมแซมตัวเองแต่หากนอนหลับไม่เพียงพอ จะก่อให้เกิดโรคตามมามากมาย อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุขณะทำงาน หรืออาจสูญเสียประสิทธิภาพการทำงานด้วย และเมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงวัยทำงานตอนปลาย (45-59 ปี) มักจะมีอาการ “นอนหลับยาก หรือนอนไม่หลับ” ตามมา เนื่องจากการเสื่อมสภาพของเซลล์และอวัยวะต่างๆของร่างกาย
ดังนั้นเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าสู่วัยผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ เราจึงควรฝึกการนอนหลับให้เพียงพอและมีคุณภาพ โดย วัยทำงานควรนอนหลับให้ได้วันละ 7 – 9 ชั่วโมง และควรนอนก่อนเวลา 22 นาฬิกา ในทุกๆวัน

พร้อมแนะนำ เทคนิคการนอนหลับเพื่อสุขภาพสำหรับวัยทำงาน

Advertisement

1. ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน
2. หลีกเลี่ยงการงีบหลับนอน ระยะสั้นๆในตอนเย็น หรือเวลากลางวัน หากฝืนร่างกายไม่ไหวสามารถงีบหลับพักได้แต่ไม่ควรเกิน 45 นาที
3. งดสูบบุหรี่ เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน และแอลกอฮอล์
4. หลีกเหลี่ยงกินอาหารเย็นหรือมื้อหนัก ก่อนเข้านอนอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
5. งดกิจกรรมที่ทำให้จิตใจได้รับการกระตุ้นก่อนนอน เช่น การดูหนังที่ตื่นเต้น สยดสยองขวัญ
6. จัดบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในห้องนอนให้เหมาะสม เช่น ไฟไม่สว่างเกินไป อุณหภูมิพอดี ไม่มีเสียงดังรบกวน
7. ไม่ควรใช้เตียงนอนสำหรับทำกิจกรรมอื่น เช่น เล่นเกม ดูหนัง
8. ไม่ควรดื่มน้ำปริมาณมากๆ หลังอาหารเย็น เพราะการปวดปัสสาวะกลางดึก จะรบกวนการนอนได้
9. ถ้านอนไม่หลับไม่ควรฝืนนอน ให้ลุกออกจากเตียงไปหากิจกรรมเบาๆ ทำ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลงสบาย ๆ รอจนง่วงอีกครั้งแล้วค่อยกลับไปนอน
10. ปรับท่านอนให้เหมาะสม เช่น ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน เวลานอนควรหนุนหัวเตียงให้สูงจากพื้นราบ ผู้ที่นอนกรน หรือมีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ ควรนอนตะแคงหมอนข้างหนุนที่หลัง และนอนศีรษะสูงเล็กน้อย
11. เข้านอน และ ตื่นนอนตรงเวลาทุกวัน จะช่วยให้วงจรการหลับ-การตื่นไม่เสียสมดุล

ที่มา กรมอนามัย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image