มิติใหม่ ‘วงราชการ’ ภูมิภาค ประกาศ ‘เท่าเทียมทางเพศ’ จะมีประโยชน์อะไรที่ต้องมากีดกัน

ภาพประกอบ ชุดข้าราชการ

มิติใหม่ ‘วงราชการ’ ภูมิภาค ประกาศ ‘เท่าเทียมทางเพศ’ จะมีประโยชน์อะไรที่ต้องมากีดกัน

“เรื่องนี้เป็นเศษเสี้ยวของสิทธิมนุษยชน เป็นสิ่งที่เราต้องเคารพอยู่แล้ว การลงนามในประกาศนี้จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ กระทั่งมีเสียงชื่นชมจากกลุ่มคนหลากหลายทางเพศเข้ามามากมาย จนผมสงสัยว่าตัวเองได้ทำคุณงามความดีอะไร”

คำพูดน้ำเสียงเคอะเขินของ นายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ซึ่งทิ้งผลงานชิ้นสุดท้าย ในการลงนามประกาศจังหวัดจันทบุรี เรื่อง “ข้อปฏิบัติในการส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2563 ก่อนตัดสินใจลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนนี้

ประกาศดังกล่าวทำให้จันทบุรี นับเป็นจังหวัดแรกในประเทศไทย ที่กล้าประกาศสร้างความเท่าเทียมทางเพศ 6 ประการ ได้แก่ การอนุญาตให้บุคลากรแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศ ตามข้อบังคับของหน่วยงาน, การจัดพื้นที่ที่เหมาะสมกับจำนวนและข้อจำกัดของบุคคล, การประกาศรับสมัครงานที่ไม่ระบุคุณสมบัติเรื่องเพศ, การแสดงออกด้วยถ้อยคำ กิริยาท่าทาง และเอกสารที่ไม่เสียดสี ลดทอนคุณค่าของบุคคลทุกเพศ, การสรรหาคณะกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในหน่วยงาน ที่ส่งเสริมทุกเพศ ทั้งชาย หญิง และผู้แสดงออกต่างจากเพศกำเนิด เข้าถึงในทุกระดับอย่างเสมอภาค และการป้องกันและแก้ไขการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน

เป็นมิติใหม่ในวงราชการระดับภูมิภาคของไทย ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก และถูกนำไปเป็นประเด็นเฉลิมฉลองของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ห้วงเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) หรือ Pride Month ที่กำหนดอยู่ในเดือนมิถุนายนของทุกปี

Advertisement

นายวิทูรัช เล่าว่า จริงๆ เรื่องนี้ผมไม่ได้เป็นต้นคิด แต่เริ่มมาจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้มาหารือถึงการมี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ พ.ศ.2558 และมาตรการที่เกี่ยวข้อง จะทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างไร หรือทำให้ประชาชนรับทราบและเข้าใจ ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องดี และคิดว่าเป็นสิ่งที่ข้าราชการและบุคลากร ต้องปฏิบัติตามกฎหมายบัญญัติและนโยบาย จึงลงนามในประกาศดังกล่าว เพื่อจะบอกว่าจังหวัดได้ร่วมรณรงค์ และให้ความชัดเจนว่ามีเรื่องอะไรบ้าง

“ประกาศนี้เป็นการรณรงค์ในเชิงเอกสารของฝ่ายที่ดูแลบ้านเมือง แต่จะเกิดผลในทางปฏิบัติหรือไม่ อยู่ที่ทุกคนจะเข้าใจและมีจิตสำนึกแค่ไหน ที่จะเคารพให้เกียรติกัน เอื้ออาทรกัน รักและสามัคคีกัน ทำให้เห็นว่าคุณค่าของคน ไม่ได้อยู่ที่เพศสภาพ ศาสนา เชื้อชาติ สีผิว”

ผู้ว่าฯจันทบุรี ขอไม่ลงรายละเอียดว่าในมาตรการ 6 ข้อ ต้องเป็นอย่างไรบ้าง เพราะอยากให้เป็นกติกาชุมชนกลางๆ ที่คนในชุมชนสามารถปฏิบัติตามได้อย่างสบายใจ

สร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมในสร้างความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ได้ไม่นาน ไม่กี่วันถัดมา จังปวัดปทุมธานี ก็ประกาศขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2563 และถือเป็นจังหวัดที่ 2 ของประเทศไทย

ตอกย้ำให้สังคมเห็นถึงความเสมอภาคระหว่างเพศยิ่งขึ้นไปอีก

พินิจ บุญเลิศ

นายพินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เล่าว่า ปทุมธานีเป็นประตูสู่เมืองหลวง เป็นเมืองท่าสำคัญที่มีโรงงานอุตสาหกรรมถึง 4 พันโรง มีตลาดระดับเล็กจนถึงใหญ่ มีสถาบันอุดมศึกษา 13 แห่ง มีนักศึกษาจบปีละ 2 ล้านคน และมีอาจารย์ทุกระดับ 6,800 คน เป็นความหลากหลายของผู้คนหลายภูมิภาคและทั่วโลกที่มาอยู่รวมกัน ซึ่งหลักการของเมืองตลาด เมืองอุตสาหกรรม ที่ต้องติดต่อกับคนทั่วโลก ต้องมีความเท่าเทียมกัน ซื่อสัตย์ และมีข้อตกลงที่เป็นธรรม จึงเป็นเรื่องปกติที่ปทุมธานีจะไม่มีการเลือกปฏิบัติ ฉะนั้น เมื่อเปิดโอกาสให้ผู้ว่าฯเซ็นได้ ผมก็เซ็นเลย เพราะเห็นว่านี่คือสิ่งที่ปทุมธานีเป็นอยู่แล้ว

“จะมีประโยชน์อะไรที่ต้องมากีดกันทางเพศ เพราะวันนี้ก็พิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า คนมีชื่อเสียงและมีความสามารถระดับโลก หลายคนแสดงออกและได้รับการยอมรับในฐานะเพศทางเลือก ทั้งนักร้อง ศิลปินวาดภาพ เช่น เอลตัน จอห์น, ฟรานซิส เบคอน ประเทศไทยก็มี มีทั้งศิลปินแห่งชาติ กระทั่งรองผู้ว่าฯ นายอำเภอ ทั้งนี้ ไม่ได้บอกว่าเพศไหนดีที่สุด แต่อยากจะบอกว่าควรเป็นมนุษย์ที่ดีที่สุด มนุษย์ที่มีความสร้างสรรค์ ความดี”

ผู้ว่าฯปทุมธานี ชี้แจงว่าประกาศดังกล่าวเป็นเพียงการขอความร่วมมือ ไม่ใช่คำสั่งทางราชการที่หากไม่ปฏิบัติต้องมีโทษ แต่เชื่อว่าการประกาศนี้ จะทำให้คนปทุมธานีมั่นใจว่า ที่นี่จะไม่มีการเลือกปฏิบัติทางเพศนะ เพราะผู้ว่าฯรับรองแล้ว ก่อนจะไล่เรียงทำความเข้าใจทีละข้อว่า จากนี้สามารถแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศได้ แต่ต้องสุภาพและเหมาะสมกาลเทศะของสถานที่ รวมถึงการจัดที่สถานที่ที่เหมาะสม ซึ่งมองเรื่องของการมีห้องน้ำที่รองรับเพศทางเลือก ขณะที่กรณีประกาศรับสมัครงานไม่ให้ระบุเพศนั้น มองว่าปัจจุบันการสอบเพื่อสมัครงานวัดที่ความสามารถเป็นหลักอยู่แล้ว และเชื่อว่าเพศหลากหลายที่มีส่วนผสมเด่นของผู้ชายและผู้หญิง ส่วนใหญ่มีความสามารถอยู่แล้ว

“จริงๆ ที่จวนผู้ว่าฯก็มีคนหลากหลายเพศทำงานอยู่ ทั้งข้าราชการ กระทั่งคนขายของหน้าจวน เราทำงานร่วมกัน มีชีวิตอย่างปกติ หัวเราะให้กัน ไม่มีใครมองว่าเป็นตัวประหลาด อย่างไรก็ดี ก็ขอบคุณกับเสียงชื่นชม แต่เชื่อว่าในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนปทุมธานี เราไม่รู้สึกอะไร เพราะมันก็เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว” นายพินิจกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image