ถอดรหัสโรงแรมดุสิตธานี ตำนาน 50 ปี สถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย สู่การสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ 

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม  นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงแรมดุสิตธานีเป็นหนึ่งในตำนานอาคารสถาปัตยกรรมโมเดิร์นยุคแรกๆ ของเมืองไทย เริ่มก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2510 ออกแบบโดยสถาปนิกชาวญี่ปุ่นซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากพระปรางค์วัดอรุณ โดยผสมผสานเอกลักษณ์ไทยและความเป็นสากลเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนและโดดเด่น สำหรับ 50 ปีที่แล้ว โรงแรมดุสิตธานีเคยเป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทย ออกแบบและตกแต่งทันสมัยที่สุดในยุคนั้น แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป โจทย์ของธุรกิจโรงแรมเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ผู้บริหารเริ่ม เล็งเห็นว่า ห้องพักขนาด 32 ตารางเมตร ซึ่งกว้างขวางโอ่โถงมากสำหรับยุคเมื่อ 50 ปีก่อน แต่ในปัจจุบันก็อาจจะยังไม่ตอบโจทย์สำหรับการจะเสริมบริการเพื่อสร้างประสบการณ์อันเหนือระดับให้แก่ลูกค้าให้สมกับการเป็นโรงแรมระดับโลกในทศวรรษใหม่แม้ทางโรงแรมเคยปรับปรุงด้วยการทุบผนังเพื่อขยายขนาดห้องมาบ้างแล้วก็ตาม แต่ด้วยโครงสร้างเดิมทำให้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบห้องได้ตามความต้องการ

“หลังจากประกาศว่าจะทุบโรงแรมดุสิตธานี ผู้บริหารได้รับคำท้วงติงจากผู้คนมากมาย ต่างรู้สึกเสียดายที่โรงแรมซึ่งอยู่คู่กับกรุงเทพฯ มายาวนานจะต้องถูกทุบเพื่อสร้างใหม่ ในฐานะพนักงาน พวกเราทุกคนเสียดายไม่  ยิ่งหย่อนไปกว่าคนอื่น ทีมผู้บริหารและพนักงานต่างผูกพันและหวงแหนอาคารสถาปัตยกรรมแห่งนี้ แต่เมื่อจำเป็นต้องทุบ ทีมผู้บริหารจึงประสานกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ไม่ว่าจะเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ และคณะโบราณคดี เข้ามาศึกษา ถอดรหัส และเก็บรายละเอียดภายในโรงแรม เพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ” นางศุภจี  กล่าว

นางศุภจี  กล่าวอีกว่า กว่าแปดเดือนที่คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรเข้ามาศึกษาและเก็บข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ รวมถึงวิเคราะห์ถอดรหัส และวิจัย เพื่อศึกษาแนวความคิดการออกแบบโรงแรมดุสิตธานี โดย ผศ.ดร.ไธพัตย์ ภูชิสส์ชวกรณ์ ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ศึกษาวิจัยและถอดรหัสการออกแบบโรงแรมดุสิตธานี กล่าวถึงการออกแบบโรงแรมดุสิตธานีว่า มีความน่าสนใจที่จะทำการศึกษา วิเคราะห์และตีความหลายประการด้วยกัน นับตั้งแต่ที่มาของแนวความคิดในการออกแบบ ตลอดจนรูปแบบที่ปรากฏ ทั้งภายในภายนอก รวมไปถึงการแฝงไว้ซึ่งคติสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงมาจากวัฒนธรรมความเชื่อของชาวไทย  ที่ได้มีปรากฏอยู่ในการออกแบบอย่างแยบยล (โยโซ่ ชิบาตะ (Yozo Shibata สถาปนิกชาวญี่ปุ่นผู้ออกแบบโรงแรมดุสิตธานี ได้ผสมผสานความเป็นไทยในหลากหลายมิติ ทั้งรูปแบบสถาปัตยกรรม คติความเชื่อ และวัฒนธรรมค่านิยม ออกมาเป็นสถาปัตยกรรมแบบ modern architecture ของเมืองไทยในยุคนั้น โดยนอกจากได้แรงบันดาลใจจากพระปรางค์วัดอรุณแล้ว แนวคิดการออกแบบในแง่ความทันสมัยเป็นสากลนั้น สถาปนิกได้เชื่อมโยงเข้ากับชื่อ “ดุสิตธานี” ซึ่งเป็นเมืองจำลองประชาธิปไตยที่รัชกาลที่ 6 ทรงสร้างขึ้น ส่วนในแง่ความเป็นไทย คือการจำลองสวรรค์ชั้นดุสิตมาสู่งานออกแบบ

Advertisement

“ก่อนลงพื้นที่ คิดว่าสถาปนิกคงออกแบบโดยนำองค์ประกอบศิลปะไทยและสถาปัตยกรรมไทยมาดัดแปลงให้ทันสมัยและเรียบง่ายสำหรับยุค 50 ปีที่แล้ว แต่หลังจากเข้าไปสำรวจอย่างละเอียด พบว่ามีคติสัญลักษณ์และความเชื่อซ่อนอยู่ในงานออกแบบมากมาย รวมถึงจำนวนตัวเลขและการแทนค่าเพื่อสื่อความหมายเชิญสัญลักษณ์ในการออกแบบหลายส่วน

สำหรับดีไซน์ใหม่ของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 ออกแบบโดยบริษัท สถาปนิก 49 จำกัด (Architects 49) หรือ A49 แนวคิดหลักคือการสืบสานคุณค่าดั้งเดิม (Heritage) ตลอดห้าทศวรรษที่ผ่านมาของโรงแรมดุสิตธานี โดยตีความและออกแบบเป็นอาคารสถาปัตยกรรมหลังใหม่ ผ่านชุดข้อมูลและงานวิจัยของคณาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อนำความทรงจำและความเรืองรองของตำนาน 50 ปีที่แล้ว มาสู่การเริ่มต้นประวัติศาสตร์ยุคที่ 2 โดยลดทอนรายละเอียดให้เรียบง่าย เน้นเส้นสายและรูปทรงเรขาคณิต (Geometry)  แต่ยังคงไว้ซึ่งความสูงค่า สง่างาม ควบคู่ไปกับความทันสมัยที่เต็มเปี่ยมด้วยศักยภาพของทำเลที่ตั้ง ที่เป็นทั้งย่านธุรกิจใจกลางเมือง (Central Business District หรือ CBD) และเป็นจุดเชื่อมต่อของโครงข่ายรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดิน” นางศุภจี กล่าว

Advertisement

นางศุภจี  กล่าวทิ้งท้ายว่า ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ไปเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2562 โดยโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ จะสร้างเสร็จและเปิดใช้เป็นอาคารแรกในปี 2566 เอกลักษณ์และความสง่างามดั้งเดิมจะยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้ในรูปแบบต่างๆ ทั้งการนำของเดิมมาใช้ และการตีความแล้วออกแบบใหม่ให้ร่วมสมัย ซึ่งนอกจากจะผสานอยู่ในทุกรายละเอียดของอาคารใหม่แล้ว เรื่องราวที่เป็นเสมือนบันทึกหน้าหนึ่งของวงการโรงแรมและวงการสถาปัตยกรรมเมืองไทย จะจัดทำเป็น Heritage Floor โดยนำรายละเอียดการออกแบบทั้งหมดที่มหาวิทยาลัยศิลปากรทำงานวิจัย ถอดรื้อ และเก็บหลักฐานไว้ก่อนทุบอาคาร มาจัดทำเป็นชั้นนิทรรศการถาวรเพื่อการศึกษาต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image