มีอยู่จริง! พฤติกรรม ‘เสพติดอาหาร’ หวาน-มัน-เค็ม เสี่ยงอ้วน-ความดัน

เสพติดอาหาร
เสพติดอาหาร

มีอยู่จริง! พฤติกรรม ‘เสพติดอาหาร’ หวาน-มัน-เค็ม เสี่ยงอ้วน-ความดัน

เสพติดอาหาร – พอพูดถึงคำว่า “เสพติด” ก็พอจะอุปมานได้ว่าเป็นการรับเข้ามาในปริมาณที่เกินพอดี ซึ่งนอกจากจะเป็นคำใช้กับสารเสพติดผิดกฎหมาย และน้ำเมาแล้ว

ทราบหรือไม่ว่า อาหารที่กินกันอยู่ทุกวันก็สามารถทำให้เกิดการเสพติดได้เช่นเดียวกัน อาทิ ติดช็อกโกแลต ติดขนมหวาน ติดชานมไข่มุก รวมไปถึงขนมต่างๆ เมื่อไม่ได้กินจะเกิดความอยากกระสับกระส่ายหงุดหงิด หรือในการกินบางครั้งจะไม่อยากหยุดจนกว่าอาหารตรงหน้าจะหมดไป

ซึ่งอาการเหล่านี้ หลายคนเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่ต้องนํามาใส่ใจและไม่คิดว่าสิ่งเหล่านี้จะกระทบต่อสุขภาพของตนเอง แต่ในความเป็นจริงแล้วการเสพติดอาหารจะส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง

ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล อาจารย์ประจําภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “การเสพติดอาหาร” ชุดโครงการ “รวมพลังขยับกายสร้างสังคมไทยไร้พุง” เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า จากการศึกษาพบว่า ปัจจุบันโรคอ้วนและโรคอ้วนลงพุง มีอัตราการเพิ่มที่สูงขึ้น และเป็นปัญหาต่อสังคมและเศรษฐกิจซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากการเสพติดอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสพติดอาหารที่มีนํ้าตาลสูง หรือ การติดรสชาติหวาน การติดอาหารที่มีไขมันสูง เช่น กลุ่มอาหารทอด ขนมเบเกอรี่ และอาหารที่มีความเค็ม เช่น มันฝรั่งทอด เนื้อทอด ไก่ทอด หมูปิ้งซอสปรุงรสต่างๆ

Advertisement

ซึ่งนักวิชาการด้านโภชนาการได้ทําการศึกษาถึง “การเสพติดอาหาร” ของคนพบว่า คนที่มีการเสพติดอาหารจะมีสารเคมีในสมองที่เปลี่ยนแปลงเหมือนคนที่เสพติดยาเสพติด โดยความหวานจะทําให้คนติดมากที่สุด รองมาคือความเค็ม และความมัน

เมื่อได้รับอาหารที่ตัวเองเสพติดแล้วสารโดปามีนจะหลั่งออกมาทําให้เกิดความสุขทําให้อารมณ์ดีตื่นตัว กระฉับกระเฉง มีสมาธิทํางานได้ดีขึ้น จึงเกิดเป็นการเสพติดเพราะต้องการที่จะได้รับความสุขและทํางานได้มากขึ้น

จนบางครั้งทําให้กินอาหารประเภทนั้นๆ บ่อยและมากเกินไป ผลที่ตามมาคือทําให้ได้สารอาหารบางอย่างมากเกิน เช่น พลังงานที่มากเกินกว่าความจําเป็นของร่างกายทําให้นํ้าหนักเพิ่มมากขึ้น และตามมาด้วยโรคอ้วน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคเรื้อรังอื่นๆ

พฤติกรรมที่บ่งบอกว่ามีการเสพติดอาหาร
– เลือกซื้ออาหารชนิดนั้นเป็นประจําสัปดาห์ละมากกว่า 3 ครั้ง
– กินอาหารชนิดนั้นมากกว่าที่วางแผนว่าจะกินหรือกินแล้วไม่อยากหยุดกิน
– มีความอยากกินอาหารชนิดนั้นมากกว่าอาหารชนิดอื่น
– กินอาหารชนิดนั้นแม้ว่าจะไม่หิวเลยก็ตาม
– เมื่อไม่ได้กินอาหารชนิดนั้นจะทําให้จิตใจไม่เป็นสุขเกิดความหงุดหงิด อารมณ์เสีย หรืออาการทางร่างกาย เช่น ปวดหัว มือสั่น ใจสั่น หน้ามืด และขาดสมาธิเมื่อไม่ได้อาหารชนิดนั้นๆ
– หาข้ออ้างหรือเหตุผลในการกินอาหารชนิดนั้นเสมอ

แนวทางการแก้ไขการเสพติดอาหาร
– วางแผนการกินในแต่ละวัน และพยายามทําให้ได้ตามแผน สามารถรับประทานอาหารที่เสพติดได้ แต่กินให้น้อยลง และกินเฉพาะในมื้ออาหารเท่านั้น
– พยายามเลือกอาหารที่มีประโยชน์แทนที่อาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น หากติดการรับประทานนํ้าหวานอาจเริ่มเปลี่ยนแปลงเป็นผลไม้รสหวานแทน และรับประทานผลไม้ที่ไม่หวานร่วมด้วย
– ทําการจดบันทึกพฤติกรรมการบริโภคว่าอาหารว่ามีความถี่ในการกินมากน้อยแค่ไหน
– ถามตัวเองก่อนที่จะกินอาหารที่เสพติดว่าต้องการจริงๆ หรือไม่ และต้องการปริมาณเท่าใดถึงจะพอ เพราะการถามตัวเองก่อนจะช่วยลดปริมาณความอยากอาหารลงได้
– พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออํานวยต่อการซื้อหา หรือมีอาหารที่เสพติดอยู่

ทั้งนี้ การเสพติดอาหาร แม้จะฟังดูไม่น่ากลัวเหมือนการเสพติดอย่างอื่นแต่ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้เช่นกัน ดังนั้นหากเราสามารถที่จะลดการเสพติดอาหารโดยเฉพาะอาหารนั้นเป็นอาหารที่ก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายได้แล้ว ก็จะทําให้เรามีความสุขกับการกินอาหารได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น และทําให้สุขภาพดีตามมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image