พึ่งตน เพื่อชาติ มุมมองทางรอดโควิด-19 พรรณราย พหลโยธิน ทายาทรุ่น 3 ‘เจ้าสัวกระทิงแดง’

ทายาทกระทิงแดง

พึ่งตน เพื่อชาติ มุมมองทางรอดโควิด-19 พรรณราย พหลโยธิน ทายาทรุ่น 3 ‘เจ้าสัวกระทิงแดง’

ทายาทกระทิงแดง – เป็นที่สนใจของสังคมไม่น้อย เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาส่งจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีชาวไทย ขอความช่วยเหลือเพื่อเยียวยาพี่น้องประชาชน ที่กำลังเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

หนึ่งในนั้นมีชื่อของตระกูล “อยู่วิทยา” เจ้าของกลุ่มธุรกิจ TCP หรือกระทิงแดง มหาเศรษฐีอันดับ 2 ของไทย กับมูลค่าทรัพย์สินรวม 660,000 ล้านบาท ที่ เฉลิม อยู่วิทยา ผู้นำตระกูล ส่งตัวแทนยื่นหนังสือตอบรับ ทุ่มงบ 300 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีแรก ช่วยประชาชนในโครงการ “พึ่งตน เพื่อชาติ”

คลิป

Advertisement

ผ่านมาถึงเดือนกรกฎาคม โครงการ “พึ่งตน เพื่อชาติ” เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ นำโดย “ผึ้ง” พรรณราย พหลโยธิน ทายาทรุ่นที่ 3 ของครอบครัวอยู่วิทยา ที่มารับหน้าที่ผู้อำนวยการโครงการ

เธอคนนี้นี่เองที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังไอเดีย “พึ่งตน เพื่อชาติ” ของครอบครัวกระทิงแดง

Advertisement

พรรณราย วัย 48 ปี เป็นทายาทของ สายพิณ พหลโยธิน ลูกสาวคนโตของ เฉลียว อยู่วิทยา ผู้ก่อตั้งอาณาจักรกระทิงแดง ปัจจุบันสืบทอดงานในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.ซี. ฟาร์มา-เคม จำกัด เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง “ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา เขาใหญ่” อีกภาคหนึ่ง เธอยังเป็นวิทยากรพิเศษภาควิชาศิลปะอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ในเวลาเพียง 10 กว่าวัน หลังได้รับจดหมาย พรรณรายเล่าว่า สมาชิกในครอบครัวทั้งรุ่นที่ 2 และ 3 ต่างมานั่งประชุมกันว่า จะทำอะไรและต้องเป็นทิศทางไหน และต่างมองเห็นตรงกันว่าต้องตอบโจทย์คำว่า “ยั่งยืน” ให้ได้ เพราะทุกคนอยากให้แน่ใจว่าเงินที่สนับสนุนนั้น จะได้ใช้ประโยชน์จริงๆ และต้องเร่งมือเพราะรู้ว่าหลายครอบครัวกำลังเดือดร้อน

ทำให้พรรณราย เสนอสิ่งที่เธอได้ทำอยู่แล้ว อย่างการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ มาพัฒนาให้คนยืนบนขาตัวเองได้ และพร้อมจะแบ่งปันให้ผู้อื่นต่อ ซึ่งครอบครัวก็ต่างเห็นด้วย เพราะเป็นสิ่งที่มีบทพิสูจน์ว่าทำมาแล้ว และทำได้จริง โดยแต่ละคนจะช่วยกันตามความสามารถและความถนัด และได้ลงพื้นที่จับจอบขุดดินปลูกพืชกันก่อนแล้ว

แล้ว “พึ่งตน เพื่อชาติ” คืออะไร?

“ผึ้งมองว่า ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ มีความมั่งคั่งในทรัพยากรธรรมชาติมาก ช่วงโควิดที่ผ่านมาเราเห็นได้ว่ามีคนเดือดร้อนมาก คนตกงานไม่น้อย ซึ่งหากเราทำให้คนพึ่งตัวเองได้ เมื่อเขามีพอก็พร้อมจะแบ่งปันคนอื่นต่อ ซึ่งเราวางกลุ่มเป้าหมายไว้ คือกลุ่มคนหาเลี้ยงชีพในเมือง คนกึ่งเมืองที่อยากจะกลับบ้านเกิดไปทำอะไรที่มั่นคง และเกษตรรากหญ้า ที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน โดยเราจะเปิดรับสมัครที่ www.พึ่งตนเพื่อชาติ.com จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม เพื่อเข้ามาร่วมฝึกอบรม รอบแรก 1 วัน เพื่อให้รู้ว่าเราจะสอนอะไรบ้าง จากนั้นอบรมอีก 5 วัน เพื่อเรียนรู้หลักคิด ทฤษฎีใหม่ อย่างการปรับปรุงฟื้นฟูน้ำ ออกแบบพื้นที่ ก่อนจะอบรมต่อกับครู 10 วัน ลงพื้นที่ชุมชน ว่าแต่ละพื้นที่แตกต่างกันอย่างไร และจากนั้น 75 วัน จึงเป็นการลงมือทำจริง โดยที่มีครูให้คำแนะนำ

เราหวังจะสร้างผู้นำชุมชนเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคม จากนั้นเขาจะสร้างชุมชนต้นแบบ และขยายผลให้คนไทย 1 ล้านคนได้ประโยชน์ โดยเราร่วมมือกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันอาศรมศิลป์ ที่จะมาวิจัยทำเป็นหลักสูตรให้ผู้สนใจต่อไป

ทั้งหมดนี้ ตกผลึกมาจากสิ่งที่เธอได้ทำตลอด 3 ปี ที่ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา-เขาใหญ่

พรรณรายเล่าว่า หลังจากเรียนจบกลับมา เราก็มาเริ่มทำงานที่ ที.ซี.ฟาร์มา-เคม เลย ซึ่งนี่เป็นธุรกิจแรกที่คุณตาตั้งตัวด้วย และค่อนข้างมั่นคง ทำให้เราไม่ต้องไปปรับระบบอะไรมาก บางครั้งเวลาเราทำงานแล้วเครียด ก็มักจะค้นหาว่าสุดท้ายแล้วเราเกิดมาทำไม พอดีกับว่าเพื่อนชวนไปเรียนกับ อ.ยักษ์-วิวัฒน์ ศัลยกำธร อาจารย์สอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 และทำให้เราเปลี่ยนความคิดไปเลย เราแปลกใจว่าทำไมมันดีขนาดนี้ แต่เราไม่เคยรู้มาก่อน

“วันหนึ่งอาจารย์ยักษ์ชวนไปฟื้นฟูต้นน้ำที่น่าน ตอนที่เครื่องบินกำลังจะลงเรามองไปเห็นแต่เขาหัวโล้น เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เห็นว่านี่มันไม่เหลืออะไรเลยประเทศเรา ถามตัวเองว่าทำไมเราไม่เคยรู้ พอได้อยู่กับชาวบ้าน 3-4 วัน กินอาหารกับเขา รู้สึกแบบ ทำไมอร่อยจัง สุขกว่าโรงแรมทั้งหมดที่ไปมา และคิดว่าทำไมบ้านเขาถึงมีความสุขขนาดนี้ ก็เลยคิดว่าไม่ได้การแล้ว เราต้องกลับมาทำเองให้เร็วที่สุด”

อ.ยักษ์-วิวัฒน์ ศัลยกำธร (กลาง)

จากวันนั้นจึงได้เริ่มออกแบบพื้นที่ 50 กว่าไร่ที่มี ปลูกพืช ปรับปรุงดินเรื่อยมา จนพื้นที่ซึ่งเคยมีแต่ดิน ทุกวันนี้เต็มไปด้วยสีเขียวของต้นไม้ มีพืชผักไว้กินในฤดูต่างๆ ทั้งยังแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างชาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ของใช้ต่างๆ และยังทำงานร่วมกับชุมชนต่างๆ ให้พึ่งตัวเองได้

นี่ทำให้เธอมองว่า นี่อาจเป็นคำตอบที่คนไทยมองหา

“เมื่อเราได้ลงมือทำจริง เรารู้ว่าสิ่งนี้เปลี่ยนระบบความคิดเรา คำว่า พอก็พอแล้วมันจริง พอนี้ก็คือความมั่นคงทางใจ จากอาหารที่มีกิน กินดีด้วย ก็จะรู้ว่าเราไม่ต้องไปตามหาอะไรให้เยอะหรือใช้เงินมากมาย เมื่อมีเหลือเฟือแล้ว ก็จะแบ่งปันออกไป ซึ่งนี่คือสิ่งที่เป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมไทยมานาน หากจะนำสิ่งที่เหลือไปขาย มันก็จะขายด้วยความคิดที่ว่าของเราดี ขายไม่ได้ก็ไม่เดือดร้อน เพราะไม่ต้องควักเงินออกจากกระเป๋า เมื่อนั้นเราก็ไม่ต้องรอว่าใครจะมาช่วยเรา แต่เราลุกขึ้นเองได้แล้ว”

“ช่วงโควิด ผึ้งส่งเมล็ดพันธุ์ไปให้กับพนักงานที่อยากเริ่มปลูก เขาก็แลกเปลี่ยนกันว่า ฉันมีมะเขือเทศนะ ฉันมีมะละกอ ปลูกไว้เยอะมาแลกกันโดยไม่ต้องใช้เงิน นี่ทำให้เขาเริ่มมั่นใจว่ามีกิน ลดความกังวล อาจจะพัฒนาไปปลูกที่บ้านเขา ไปแบ่งปันคนอื่น ก็ช่วยประเทศได้”

ครอบครัวอยู่วิทยา

เมื่อถามว่า ทำไมเศรษฐีอย่างเธอต้องลงมาทำเอง พรรณรายบอกว่า จริงๆ ก็ไม่ได้ถูกเลี้ยงมาแบบสบายนัก เพราะคุณแม่เป็นลูกคนโต เคยลำบากมา คุณตาก็เคยลำบากมาก่อน ท่านจะสอนเราว่า จริงๆ ทำอะไรให้ติดดิน ทำอะไรให้ง่ายๆ ทำด้วยตัวเอง อย่าไปคิดว่าการใช้เงินเพื่อทำธุรกิจหรืออะไรมันเป็นเรื่องดี สิ่งสำคัญคือการได้พัฒนาตัวเอง และไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ เมื่อทำอะไรแล้วมีปัญหา ก็แค่แก้ไขมัน ไม่ใช่ทุกอย่างจะประสบความสำเร็จ แต่ล้มแล้วก็ต้องลุกขึ้นมาหาสิ่งที่เหมาะ ยิ่งมาเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ยิ่งเข้าใจว่า เมื่อทำอะไรที่เหมาะกับตัวเองแล้ว วันนั้นจะมีความสุข

“จริงๆ เราไม่รู้หรอกว่าเส้นทางที่เราเดินจะผิดหรือถูก แต่ทั้งหมดที่ผ่านมามันหล่อหลอมให้เราเป็นคนคนหนึ่ง อย่าไปคิดว่าสิ่งที่ทำไม่มีประโยชน์ ไม่ว่าจะชีวิตจะมีทางเลือกกี่ครั้ง ขอให้เลือกทางที่เราคิดว่าถูกต้อง แม้ว่าสังคมจะบอกว่าทำไมไม่ทำแบบนั้น ใครๆ ก็ทำกัน เขาจะว่าเราโง่หรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ทำไปเถอะ วันหนึ่งจะส่งผลเอง นั่นทำให้ไม่ยากเลย ที่จะเสนอทำงานนี้เพื่อช่วยเหลือชุมชน”

“เพราะคุณตาสอนว่า การเกิดเป็นคนไทย ต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน พระมหากษัตริย์ และศาสนา”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image