ถนนสายประชาธิปไตย ‘จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์’ ประธานสนท. เชื่อมั่น ‘พลังคนรุ่นใหม่’ (คลิป)

จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์
จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์

ถนนสายประชาธิปไตย จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสนท. เชื่อมั่น ‘พลังคนรุ่นใหม่’

หลังจากการเลือกตั้งครั้งใหญ่ เมื่อกลางปี 2562 ชีพจรทางการเมืองในประเทศก็กลับมาคึกคัก โดยหนึ่งในแรงกระเพื่อมมาจาก “คนรุ่นใหม่” ที่ก้าวเข้าสู่กิจกรรมทางการเมือง เริ่มตั้งแต่ กิจกรรมห้อยป้าย “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม” ที่ลานโพธิ์ และ หน้าตึกโดม หลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ รวมไปถึงกิจกรรม “แฟลชม็อบในมหาวิทยาลัย” ที่ส่งต่อไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วประเทศ

นับเป็น “ครั้งแรก” ที่มีการจัดแฟลชม็อบเรียกร้องประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัย

ซึ่งจัดโดย สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) นำโดย จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ หรือ อั๋ว ประธานสนท. นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะศิลปศาสตร์ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผู้อยู่เบื้องหลังแผนงานและคอยผลักดันให้กิจกรรมเดินหน้าไปอย่างราบรื่น
อั๋ว ในวัย 21 ปี เล่าว่า เธอเกิดและโตที่จ.อำนาจเจริญ ซึ่งแทบจะไม่มีสวัสดิการอะไรที่เข้าถึงได้ ไม่มีระบบขนส่งสาธารณะ นับเป็นความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน ว่ามาจากการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล ด้วยปัญหาที่พบเจอด้วยตัวเอง เธอจึงมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า “ระบบประชาธิปไตย” คือระบบที่ดีที่จะสามารถสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้คนได้

Advertisement

ก้าวแรกเมื่อเข้าสู่รั้วอุดมศึกษา อั๋ว จึงไม่รอช้าที่จะเข้าร่วมเป็นหนึ่งในส่วนขับเคลื่อนการเมืองในมหาวิทยาลัย ในมติยกเลิกวิชา TU100 วิชาบังคับที่สอนเรื่องการเป็นพลเมือง มีการลงพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่จริง กับเรื่องนี้เธอมองว่า “สำนึกในหน้าที่พลเมือง ควรจะเป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และมาจากความสมัครใจในการเรียนไม่ใช่การบังคับ” รวมไปถึงมติยกเลิกการให้สัมปทานกับทุนใหญ่ในการผูกขาดโรงอาหารของมหาวิทยาลัย

ด้วยความแนวแน่ ในจุดยืน “ยึดมั่นในประชาธิปไตย อยากให้สังคมนี้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียม” ผลักดันให้ อั๋ว ลงสมัครเลือกตั้งเป็น ประธานสนท. ซึ่งผลการโหวตก็เป็นเอกฉันท์ ตราบจนปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งมาแล้ว 8 เดือน

Advertisement

ทว่าในบทบาทของการเป็นผู้นำเยาวชนดำเนินกิจกรรมทางการเมือง จุฑาทิพย์ ยอมรับตรงๆ ว่า รู้สึกกดดันในจุดที่ว่าไม่ใช่แค่เธอคนเดียว แต่ยังมีพ่อแม่และครอบครัว ต้องพูดคุยทำความเข้าใจและก้าวผ่านมาให้ได้เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย สำหรับการออกมาเรียกร้องตรงนี้ ก็ถือว่าเป็นการต่อต้านอำนาจรัฐแล้ว ก็พร้อมอยู่แล้วที่จะทำหน้าที่นี้

จุฑาทิพย์ เป็นทายาทของ “เตียง ศิริขันธ์” เจ้าของฉายา “ขุนพลภูพาน” หนึ่งใน “สี่เสืออีสาน” ที่ต่อสู้จนวินาทีสุดท้ายของชีวิต

“อุดมการณ์ของปู่ ถ่ายทอดผ่านสิ่งที่ปู่ได้ทำและอั๋วเรียนรู้จากสิ่งเหล่านั้น ศรัทธามากที่ปู่ต่อสู้จนวินาทีสุดท้าย” เธอกล่าว โดยมีคำของปู่ที่ยึดมั่นมาตลอดคือ “ข้าพเจ้าต้องการให้ทุก ๆ คนบนพื้นอันเป็นสยามประเทศนี้ เป็นราษฎรเสมอหน้ากันหมด ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง”

เตียง ศิริขันธ์

ทั้งนี้ จุฑาทิพย์ สะท้อนถึงความแตกต่างของการต่อสู้ทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในแต่ละยุคสมัยว่า ในยุค 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 และ 2563 มีเหมือนกันคือทุกคนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ต่อสู้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่วนสิ่งที่แตกต่างกันคือยุคสมัยและเทคโนโลยีที่ปัจจุบันสามารถเชื่อมโยงเข้าหากันได้ง่ายกว่าแต่ก่อน ทุกวันนี้มีช่องทางมากมายในการแสดงออกและเรียกร้อง และเมื่อพร้อมก็ค่อยออกมาสู่แนวหน้า โซเชียลมีเดียก็มีอิทธิพลมาก อาจจะเรียกว่าเป็นรูปแบบของม็อบในยุคนี้ได้

“สิ่งที่ยังเหมือนเดิมคือประเด็นในการเรียกร้อง ในเรื่องเดิมๆ อย่างสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย ที่ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัยก็ยังคงต้องเรียกร้องต่อไป” จุฑาทิพย์กล่าว

สำหรับข้อเรียกร้อง 3 ข้อจากการม็อบเยาวชนปลดแอก ประกอบด้วย

1.หยุดคุกคามประชาชน

2.ยุบสภา และ

3.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ นั้น

อั๋ว เผยความคาดหวังว่า อยากให้สำเร็จ สำหรับเรื่องแรกรัฐบาลสามารถทำได้เลยเพราะไม่ต้องรอกระบวนการอะไร ส่วนอีก 2 ข้อเรียกร้องมีกระบวนการทางด้านกฎหมาย จุดนี้คาดหวังกับการเปลี่ยนแปลงมากๆ เพราะถ้าสามารถแก้ไขตรงนี้ได้ ก็จะมีรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน เพื่อประชาชนได้มีมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ชีวิตที่ดีกว่านี้ได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ประธาน สนท.’ พ้อ ที่แห่งนี้มีแต่คดี ยิ่งปิดปาก เสียงยิ่งดัง ปลุกพลังหวังสร้าง ปชต.ที่แท้จริง

สนท. โหม แคมเปญ #MobFromHome ชวนถือป้าย โพสต์รูป ประท้วงรบ.ออนไลน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image