เปิด 5 เทคนิค ‘การออม’ หลังโควิด เมื่อเรื่องเงินๆทองๆ ไม่มั่นคงอีกต่อไป

เปิด 5 เทคนิค ‘การออม’ หลังโควิด เมื่อเรื่องเงินๆทองๆ ไม่มั่นคงอีกต่อไป

โควิด 19 นอกจากจะสร้างผลกระทบกับธุรกิจและความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก จนทำให้ผู้คนต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตใหม่ ที่นอกจากจะ “นิว นอร์มอล” เรื่องสุขภาพ ใส่หน้ากากอนามัย พกเจลล้างมือ เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสแล้ว สภาพการผันผวนทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา ที่หลายธุรกิจต้องปิดตัว หรือต้องปรับลดค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ลดเงินเดือนไปถึงการเลิกจ้างพนักงาน ทำให้ต้องปรับวิถีชีวิตเรื่องเงินเสียใหม่ เพื่อรองรับกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นอีก เพราะไม่รู้ว่าจะดำเนินชีวิตและมีฐานการเงินปกติเหมือนเดิมได้

การเตรียมพร้อม จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ K-Expert จึงให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการจัดการเงินและการลงทุน หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิดไว้ดังนี้

1. หยุดการใช้จ่ายเกินตัว

ต้องจัดลำดับความสำคัญของค่าใช้จ่ายต่างๆ ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำในช่วงเศรษฐกิจถดถอยและรายได้หดหายไป วิธีการตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เริ่มจากจดบันทึกว่าแต่ละเดือนมีรายได้เข้ามาเท่าไหร่ และจดรายการใช้จ่ายแต่ละรายการว่าใช้ออกไปเท่าไหร่ จะทำให้รู้สถานะทางการเงินของตัวเอง เพราะความมั่นคงทางการเงินเกิดได้ต่อเมื่อมีรายได้มากกว่ารายจ่าย

Advertisement

หากรายจ่ายสูง ให้พิจารณาตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก โดยดูว่า แต่ละเดือน มีค่าใช้จ่ายเพื่อใช้ดำรงชีพเดือนละประมาณเท่าไหร่ ส่วนวิธีตัดที่ง่ายที่สุด ก็คือ จัดกลุ่มและเรียงลำดับค่าใช้จ่ายประเภทต่างๆ โดยเริ่มจาก จำแนกรายจ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายประจำและจำเป็น เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าสาธารณูปโภค เงินผ่อนชำระกู้ซื้อบ้าน เงินผ่อนชำระรถ และจ่ายบัตรเครดิต ที่จะถูกจัดไว้ในความสำคัญลำดับต้น กลุ่มที่สอง คือ ค่าใช้จ่ายรายวัน ค่าอาหาร ค่าเดินทาง และ สุดท้าย คือ ค่าสินค้าที่ยังไม่มีความจำเป็น เช่น สินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ กลุ่มหลังนี่เอง ที่ควรตัดเป็นอันดับแรกๆ

ต่อมาคือ รายง่ายที่สามารถลด หรือประหยัดได้ เช่น ค่าอาหาร เครื่องดื่ม ว่าสามารถลดลงได้อีกไหม หากตัดลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้ ก็เท่ากับจะมีเงินออมมากขึ้น หากตัด หรือ ลดรายจ่ายในกลุ่มสองและสามได้แล้ว ยังรู้สึกว่ารายจ่ายยังสูงกว่ารายได้ หรือสถานะทางการเงินยังตึงอยู่ ลองพิจารณาปรับลดค่าใช้จ่ายประจำที่มีความสำคัญในลำดับต้นๆ เช่น เรื่องภาระหนี้สิน ไม่ว่าชำระบ้าน รถ บัตรเครดิต สามารถมีวิธีการลดภาระหนี้ได้ โดยขอความช่วยเหลือในการพักชำระเงินต้นหรือพักชำระดอกเบี้ยได้ ด้วยการติดตามและขอเข้ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของแต่ละสถาบันเพื่อบรรเทาภาระลูกหนี้จากผลกระทบวิกฤติโควิด

2. ต้องระมัดระวังเรื่องการลงทุน

Advertisement

การลงทุนในช่วงวิกฤติ หรือหลังจากโควิดผ่านพ้นไปจะมีความผันผวนมากขึ้น คาดการณ์ว่าทั่วโลกต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การลงทุนจะผันผวนมากขึ้น กลยุทธ์การลงทุนในยามตลาดผันผวนอย่างนี้ จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ สิ่งสำคัญในการลงทุนยามนี้จึงไม่ใช่การหาผลตอบแทนให้ได้สูงที่สุดเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นการควบคุมหรือกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์หลาย ๆ ประเภท ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

ซึ่งการกระจายการลงทุน เปรียบเสมือนการแบ่งไข่เก็บในตะกร้าหลาย ๆ ใบ ถ้าตะกร้าใบหนึ่งตก ก็ยังเหลือตะกร้าใบอื่น ๆ อยู่ เช่นเดียวกับการลงทุน หากเราเอาเงินทั้งหมดลงทุนในตลาดหุ้น อาจเจอกับสถานการณ์ที่การลงทุนติดลบอย่างหนัก เหมือนช่วงเดือนมีนาคม ที่ปิดต่ำสุดในรอบ 8 ปี อาจดีกว่าถ้ากระจายการลงทุน ไปในตลาดหุ้นไทย ตราสารหนี้ และสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ เป็นต้น ช่วงที่หุ้นขาลง จะยังมีผลตอบแทนจากตราสารหนี้และทองคำ มารองรับผลขาดทุนได้อยู่

3. วางแผนเก็บเงินในการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น

หลังจากนี้ อาจมีโรคระบาดใหม่ๆ เกิดขึ้น ทำให้ต้องหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น แม้มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน หรือเงินออมแล้ว แต่อาจไม่พอหากเจ็บป่วย ต้องเตรียมพร้อมด้วยการหาประกันมาเป็นหลักในการดูแลสุขภาพ เป็นสวัสดิการคุ้มครองตนเอง เพื่อเตรียมรับมือโรคระบาดใหม่

4. พัฒนาตัวเองและหาช่องทางเพิ่มรายได้

สำหรับผู้ที่มีรายได้ทางเดียว อาจจะพิจารณาหาช่องทางเพิ่มรายได้ หรือให้เงินช่วยทำงานผ่านการลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดรายได้ โดยเฉพาะหลังวิกฤติโควิด มีการคาดการณ์กันว่า การจ้างงาน อาจจะเปลี่ยนจากการจ้างมนุษย์เงินเดือน มาจ่ายเป็นเวลา หรือจ่ายตามผลงาน ซึ่งจะอิงกับทักษะความสามารถแทน ตัวแปรดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านเงินเดือน หรือสวัสดิการของมนุษย์เงินเดือนในอนาคต แต่ในทาง​กลับกัน คนเก่งอาจทำงานได้หลายที่ภายใต้การจ่ายเงินตามความสามารถ

ดังนั้น สิ่งที่เราพึงระลึกถึงตลอดเวลา คือ เราต้องหมั่นพัฒนาตัวเอง ก้าวทันโลกที่เปลี่ยนไป เพื่อโอกาสและความก้าวหน้าในชีวิตการงาน รวมถึงเพื่อให้มั่นใจได้ว่าความรู้ความสามารถที่เรามีจะยังใช้ได้อยู่ในอนาคต

5. ควรออมเงินไว้เพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน

อย่ารอให้ฉุกเฉินก่อนค่อยออม เราควรต้องเตรียมพร้อมรับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน และเก็บสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง แนะนำให้มีเงินสำรองสภาพคล่องเผื่อฉุกเฉินไว้ครอบคลุมอย่างน้อย 6 เดือน โดยอาจทยอยออม แบ่งเป็น 10-20% ของรายได้สะสม จนได้เงินสำรองสภาพคล่องเผื่อฉุกเฉินครบตามจำนวนที่ต้องการ จะเก็บไว้ในบัญชีหรือ กองทุนที่ถอนออกมาใช้ได้สะดวก เน้นรักษาเงินต้นมากกว่าทำผลตอบแทนที่สูง หากอยู่ในช่วงขาดรายได้ ยังไม่สามารถออมเพื่อสภาพคล่องฉุกเฉิน แนะนำให้สมัครบัตรเงินด่วนเตรียมไว้ สำรองหากต้องใช้จ่ายๆในยามจำเป็น เพราะหากไม่ใช้ก็ไม่เสียดอกเบี้ย และควรเอาไว้ใช้ยามจำเป็นจริง
เพราะหลังโควิด เราอาจเจอกับความไม่มั่นคงทางการงานมากขึ้น

นอกจากจะต้องปรับตัวในการจัดการเรื่องการเงินและลงทุนแล้ว หลังโควิด อาจจะต้องปรับตัวให้คุ้นชินกับเทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ สิ่งสำคัญคือ เทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะเข้ามามีบทบาทต่อการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้คนรุ่นใหม่คุ้นชินกับการใช้ดิจิทัล เทคโนโลยีใหม่ๆจึงเกิดขึ้นเร็วมาก ทั้งทำงานที่บ้าน ซื้อสินค้า และธุรกรรมทางการเงิน จึงเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาไว้อีกด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image