เปลี่ยน “บ้าน” เป็นแหล่งเรียนรู้  ด้วยสื่อทางเลือก เพื่อ “บุคคลออทิสติก”

มูลนิธิออทิสติกไทย ร่วมกับ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ กลุ่มบริษัททรู จัดทำโปรแกรม “บ้านส่งเสริมทักษะชีวิตบุคคลออทิสติกในชุมชน” สื่อการสอน “การสื่อสารทางเลือก” (AAC) มุ่งเน้นให้เด็กได้รับการฝึกทักษะที่บ้านและชุมชนโดยการมีส่วนร่วมของครอบครัว

นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ ประธานมูลนิธิออทิสติกไทย กล่าวถึงที่มาของโครงการ “บ้านส่งเสริมทักษะชีวิตบุคคลออทิสติกในชุมชน” ว่า ที่ผ่านมาเรามักจะพาลูกไปฝึกในสถาบัน เช่น โรงเรียน หรือศูนย์การศึกษาพิเศษ แต่ความจริง “บ้าน” มีบทบาทสำคัญโดยเฉพาะผู้ปกครอง และต้องมีสื่อที่ตอบโจทย์พัฒนาการด้านต่างๆ อย่างเต็มที่ รวมถึงเรื่องสุขภาวะด้วย โครงการดังกล่าว เป็นการต่อยอดจากศูนย์ส่งเสริมทักษะชีวิตบุคคลออทิสติก โดยการร่วมมือผลิตสื่อทั้งออฟไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งของที่จับต้องได้ เสริมทักษะต่างๆ รวมถึง ช่องทางออนไลน์ ผ่านระบบ True V WORLD ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครอบครัว วันนี้ผู้ปกครองต่างจังหวัดของเรา สามารถเจอกันทางโลกออนไลน์ และมีเนื้อหาวิชาการ ชุดความรู้ด้านเด็กออทิสติก เกิดเป็นชุมชนทำให้ทุกคนได้พบปะกันง่ายขึ้น 

Advertisement

อีกหนึ่งจุดเด่น คือ “การสื่อสารทางเลือก” (Augmentative Alternative Communication-AAC) ซึ่งเป็นสื่อที่สามารถใช้ได้จริง เป็นที่นิยมในต่างประเทศ อาทิ บัตรภาพ บัตรคำ แอปพลิเคชัน และสื่อฝึกทักษะการเคลื่อนไหวและการออกกำลังกาย สื่อด้านศิลปะ ขณะที่ในส่วนของการประกันคุณภาพเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กได้มีการเรียนรู้ที่ดี จะมีแผนติดตาม โดยให้ตัวแทนของศูนย์ทั่วประเทศ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้ผู้ปกครอง ติดตาม ทำแผน แนะนำ พบปะกลุ่มย่อย และประเมินผล 

ขณะที่ สสส.ได้มีการจัดทำคู่มือแนวทางการฝึกอาชีพด้านเทคโนโลยีสำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ 4 เรื่อง ได้แก่ สติ๊กเกอร์ไลน์ เว็บไซต์ ถ่ายภาพ และภาพยนตร์สั้น และเพิ่มโอกาสการมีอาชีพและรายได้ 

Advertisement

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า เนื่องจากงานหลักของ สสส. เกี่ยวกับคนพิการ ใน 3 – 4 ปีที่ผ่านมา เราเน้นในเรื่องการจ้างงานเชิงสังคม เพิ่มโอกาสที่คนพิการจะมีงานทำ หรือพึ่งพาตนเองได้ ทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 3,000 อัตราในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ ยังได้ออกแบบระบบ Health Tracking เพื่อให้คนพิการได้ดูแลสุขภาพของตนเองหลังจากมีงานทำอีกด้วย 

รวมถึงจัดทำชุดสื่อ visual strategies การใช้รูปภาพช่วยในการสื่อสารของเด็กออทิสติก ในการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และการใส่หน้ากากอนามัย เพื่อส่งต่อให้กับสมาชิกเครือข่ายบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษทั่วประเทศ จำนวน 4,800 ชุด  ในการส่งเสริมทักษะชีวิตบุคคลออทิสติกและเด็กพิเศษ ในเครือข่ายศูนย์ส่งเสริมทักษะชีวิตบุคคลออทิสติกในชุมชนทั่วประเทศ 

ด้าน นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ  อธิบดี พก. ได้กล่าวชื่นชมทุกฝ่ายที่ร่วมมือในการผลักดันสื่อการสอนรูปแบบใหม่ รวมถึงอาจารย์ และผู้ปกครอง ที่สามารถดึงศักยภาพน้องๆ เด็กพิเศษให้ออกมาได้เป็นอย่างดี โดยระบุว่า การที่มีเครื่องมือเข้ามาช่วย จะทำให้เกิดการขยายผลได้เร็วขึ้น เพราะการทำงานเกี่ยวกับเด็กออทิสติกและเด็กพิเศษ เป็นไปไม่ได้เลยที่ใครคนใดคนหนึ่งจะทำได้ ผู้ปกครองต้องผนึกกำลังกัน รวมถึงภาครัฐ ทำให้เป็นบ้านหลังใหญ่ ทำให้เกิดพลังมากขึ้น 

“ในโลกดิจิทัล เราสามารถช่วยกันได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน จังหวัดใด สามารถสื่อสาร แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ใจต้องมาก่อน หากเราช่วยกันคนละไม้ละมือเราก็จะเดินหน้าต่อไปได้ น้องๆ ก็จะสามารถทำงานได้ในอนาคต อยากให้ทุกคนสะท้อนกลับมาว่าการที่เอาสื่อไปใช้แล้วเป็นอย่างไร สุดท้ายน้องๆ จะต้องเข้มแข็งขึ้น พ่อแม่ต้องเบาใจว่าหากวันหนึ่งไม่มีคุณพ่อคุณแม่แล้วน้องๆ จะอยู่ได้โดยมีเครือข่ายร่วมกัน” อธิบดี พก. กล่าวทิ้งท้าย 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image