เคล็ดลับวิธีใช้ ‘ไมโครเวฟ’ อุ่นอาหาร เปิดลิสต์สิ่งต้องห้าม เสี่ยงระเบิด

ไมโครเวฟ

เคล็ดลับวิธีใช้ ‘ไมโครเวฟ’ อุ่นอาหาร เปิดลิสต์สิ่งต้องห้าม เสี่ยงระเบิด

แม้ว่า ไมโครเวฟ จะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้เราประหยัดเวลา และ ช่วยทำให้ชีวิตของเราสะดวกขึ้น แต่การใช้ไมโครเวฟที่ผิดวิธี อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อชีวิต ก็เป็นได้ เช่นกรณีของสาวที่ต้มไข่ในไมโครเวฟ ที่พอนำออกจากเตา เกิดระเบิดลวกใส่หน้า การใช้ไมโครเวฟให้ถูกวิธี จึงเป็นสิ่งสำคัญ

ไมโครเวฟนั้น มาจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเหมือนคลื่นวิทยุ คลื่นแสงรังสีเอ็กซ์ต่างๆ โดยคลื่นไมโครเวฟที่ใช้ปรุงอาหาร จะมีความถี่ 2,450 ล้านรอบต่อวินาที การจ้องมองแสงว่างขณะที่ไมโครเวฟกำลังทำงานนั้น ไม่เป็นอันตรายต่อดวงตา เนื่องจากคลื่นไมโครเวฟ ไม่สามารถทะลุผ่านผนังตู้และฝาตู้ออกมาได้ เพราะมีแรงต่ำกว่า คลื่นอินฟาเรด แสงธรรมดา หรือ อัลตร้าไวโอเลต

ทั้งนี้ การลดความเสี่ยงจากการใช้เตาไมโครเวฟนั้น สามารถทำได้โดย

– เลาะกระดูกออกจากชิ้นเนื้อขนาดใหญ่ออกเสียก่อน
– ตัดอาหารที่จะใช้ปรุงต่อไปให้เป็นชิ้นเล็กๆ
– จัดเรียงอาหารให้ในถาดอบให้เป็นระเบียบ
– หากจำเป็นต้องอุ่นอาหารชิ้นใหญ่ๆ ควรจะลดความแรงของเตาอบไมโครเวฟครึ่งหนึ่ง และขยายเวลาในการปรุงอาหาร วิธีนี้จะช่วยให้ความร้อนกระจายได้ทั่วถึง
– หากจะอุ่นอาหารที่มีลักษณะแห้ง ให้เติมของเหลว เช่น น้ำเปล่า น้ำซุป หรือน้ำเกรวี เพื่อช่วยในการกระจายความร้อน
– ควรหยุดการอุ่นอาหารเพื่อคนอาหารหรือกลับข้างถาดหรือบรรจุภัณฑ์เมื่อใช้เวลาในการอุ่นอาหารไปแล้วครึ่งหนึ่ง
– คลุมอาหารด้วยฝาครอบหรือแผ่นพลาสติกคลุมอาหารที่สามารถใช้กับเตาอบไมโครเวฟได้เพื่อกักเก็บไอน้ำ
– ควรปล่อยให้อาหารระอุหลังการอุ่นอาหารตามคำแนะนำของอาหารแต่ละชนิดเพื่อมั่นใจได้ว่าอาหารได้รับความร้อนอย่างทั่วถึง
– ใช้เครื่องวัดอุณหภูมิสำหรับอาหารเพื่อตรวจสอบว่าอาหารได้รับความร้อนในระดับที่เหมาะสมตามมาตรฐานความปลอดภัยหรือไม่ โดยทดสอบอุณหภูมิของอาหารจากหลายๆ จุด โดยเฉพาะบริเวณชิ้นเนื้อที่หนา และควรหลีกเลี่ยงการวัดอุณหภูมิใกล้ๆ บริเวณที่มีกระดูก หรือไขมัน
– ไม่ควรอุ่นอาหารที่มีการยัดไส้ เช่น ไก่อบยัดใส้ โดยไม่มีการหั่นแบ่งเป็นชิ้นย่อยๆ
– อาหารแช่แข็งที่ถูกละลายน้ำแข็งด้วยเตาอบไมโครเวฟควรนำมาปรุงอาหารต่อทันที
– ตั้งอุณหภูมิให้เหมาะสมกับการใช้งาน
– เวลาอุ่นอาหารที่เป็นน้ำหรือมีการเดือด มีโอกาสกระเด็นไปติดรอบตู้ สกปรก เลอะเทอะ ยุ่งยาก ต้องเสียเวลาทําความสะอาดตู้ อาจจะใช้ฝาครอบ หรือพลาสติกทนความร้อนครอบอาหารเสียก่อนเริ่มเปิดใช้เครื่อง
– ไม่ควรนําอาหารที่มีผิวมันหรือมีเปลือกแข็ง เข้าไปทําให้สุกในตู้ เพราะความร้อนทําให้อากาศภายในอาหารขยายตัว ประกอบกับไอน้ำที่เกิดขึ้นมีแรงดันสูง จะทําให้เกิดระเบิดเสียงดังได้ ควรใช้ส้อมจิ้มผิวอาหารหรือเปลือกอาหารให้เป็นรูเสียก่อน เพื่อป้องกันการปะทุที่เกิดจากความร้อนภายในตัวขยาย
– การปรุงอาหารด้วยภาชนะที่มีฝาปิดในตัวควรเปิดฝาเล็กน้อย เพื่อให้ไอน้ำพุ่งออกได้หรือพลิกฝาปิดเพียงวางไว้เฉยๆ ไม่ปิดแน่น

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ภาชนะ ทุกชนิดจะเหมาะสมสำหรับการใช้อุ่นอาหาร ภาชนะที่ดีที่ใช้ได้ ต้องมีคุณสมบัติไม่ดูดกลืนคลื่นไมโครเวฟ เช่น แก้ว เซรามิก หรือ พลาสติกที่ระบุว่าใช้กับเตาไมโครเวฟได้

วิธีทดสอบ ง่ายๆว่า ภาชนะ ใดเหมาะกับเตาไมโครเวฟหรือไม่ ให้วางภาชนะเปล่าในเตาไมโครเวฟ และวางแก้วที่มีน้ำอยู่ประมาณ 250 มิลลิลิตรใกล้ๆ ภาชนะเปล่านั้น เปิดเตาไมโครเวฟที่ความร้อนสูงสุดประมาณ 1 นาที ตรวจดูภาชนะและน้ำในแก้ว ถ้าภาชนะเปล่าร้อนขึ้นในขณะที่น้ำในแก้วอุ่นๆ แสดงว่าภาชนะนั้นดูดกลืนคลื่นไมโครเวฟด้วย จึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับเตาไมโครเวฟ เพราะจะทำให้อาหารสุกช้าและสิ้นเปลืองพลังงาน นอกจากนี้ควรเลือกภาชนะที่ทนความร้อนและการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิได้ดี

Advertisement

1. แก้ว ภาชนะที่ทำด้วยแก้วเป็นภาชนะที่ใช้กับเตาไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัยที่สุด แก้วที่มีคุณภาพดีสามารถบรรจุอาหารแช่เย็นแล้วนำไปใช้กับเตาไมโครเวฟได้ในทันที ถ้าเป็นแก้วที่มีฝาปิดก็สามารถทนต่อความดันที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับความร้อนโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ต้องไม่ตกแต่งขอบหรือมีลวดลายสีทองหรือเงิน
2. เซรามิก เป็นภาชนะอีกชนิดหนึ่งที่ใช้กับเตาไมโครเวฟได้ดีและปลอดภัย แต่ก็ขึ้นอยู่คุณภาพของเซรามิกด้วย และไม่ควรตกแต่งลวดลายหรือเคลือบด้วยสีฉูดฉาดเช่นกัน เพราะเราไม่สามารถทราบได้ว่าสีที่นำมาใช้วาดลวดลายเหล่านั้นมีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรหลีกเลี่ยงภาชนะที่มีการเคลือบลวดลายไว้ด้านในที่มีโอกาสสัมผัสอาหาร เพราะอาจมีโลหะหนักละลายออกมาปนกับอาหารทำให้เกิดอันตรายได้
3. กระดาษ สามารถใช้กระดาษกับเตาไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัย ยกเว้นกระดาษที่มีการพิมพ์ตัวอักษรเมื่อได้รับความร้อนอาจทำให้สารที่อยู่ในหมึกพิมพ์ออกมาปนเปื้อนในอาหารเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะการใช้ภาชนะทำจากกระดาษอุ่นอาหารที่มีไขมันสูง ควรเลือกใช้กระดาษที่ไม่มีสีหรือตัวพิมพ์
4. พลาสติก ควรใช้ชนิดที่ระบุว่าใช้กับเตาไมโครเวฟได้เท่านั้น ซึ่งจะเป็นพลาสติกคุณภาพดีและทนความร้อน มีงานวิจัยหลายชิ้นที่รายงานว่าสารบางชนิดในพลาสติกอาจปนเปื้อนกับอาหารเมื่อได้รับความร้อนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งหรือก่อให้เกิดความผิดปกติอื่นๆ ในร่างกาย

แต่ภาชนะที่ทำจาก โลหะ นั้น ไม่เหมาะจะนำใช้กับเตาไมโครเวฟ เพราะจะทำให้คลื่นไมโครเวฟเกิดการสะท้อนกลับ ทำให้อุปกรณ์ภายในเสื่อมเร็วทำให้อายุการใช้งานของเครื่องสั้นลง นอกจากนี้ หากใช้กระดาษฟอยล์ โลหะบางๆ รวมถึงโลหะปลายแหลม เช่น ลวดเย็บกระดาษ เข้าไปในเตาไมโครเวฟ จะเกิดความร้อนในวัสดุดังกล่าวขึ้นอย่างรวดเร็วมากจนอาจทำให้เกิดประกายไฟได้

ทั้งนี้ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากจำเป็นจะต้องต้มไข่ในไมโครเวฟจริงๆ อาจจะใส่เกลือลงไปด้วย เพื่อไม่ให้ความร้อนในน้ำสูงเร็วเกินไป จนเกิดความดันในไข่ แต่ถ้ามีทางเลือกอื่น การต้มไข่ด้วยการตั้งไปโดยใช้หม้อต้ม จะมีความปลอดภัยมากกว่า

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สาวโพสต์เตือนภัย อย่าทำ ‘ไข่ต้มในไมโคเวฟ’ หลังระเบิดทำเจ็บหนัก

รู้ก่อนกิน หมอชี้อาหารเหลือ-อาหารแช่แข็ง นำมาอุ่นไมโครเวฟ มีผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่

ที่มา สำนักความปลอดภัยแรงงาน, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กรมวิทยาศาสตร์และบริการ 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image