เด็กไทยต้องเท่าทันสื่อ ข้อเสนอกู้วิกฤตภัยออนไลน์

เด็กไทยต้องเท่าทันสื่อ ข้อเสนอกู้วิกฤตภัยออนไลน์

โลกาภิวัตน์ มิได้เป็นเพียงโอกาสของมนุษยชาติ แต่ยังเป็นวิกฤตให้กับหลายคน ต้องเผชิญกับปัญหา “ภัยออนไลน์” เจอทั้งวัยเด็กและเยาวชน กระทั่งผู้ใหญ่ อย่างน้อยๆ ต้องเคยผ่านตากับเรื่อง “ไซเบอร์บูลลี่-พนันออนไลน์-ล่อลวงทางอินเตอร์เน็ต” ปรากฏอนาคตของชาติตกเป็นผู้เสียหายอยู่ตลอด กลายเป็น “เด็กติดเกม-ซึมเศร้า-ถูกล่วงละเมิดทางเพศ-ผลการเรียนตกต่ำ”

จึงเป็นที่มาของการคิดแก้ปัญหา โดยคณะทำงานเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ในเด็กและเยาวชน จัดทำเป็นร่าง 9 ข้อเสนอ ก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็นในเสวนาโต๊ะกลม เรื่อง “การเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน” จัดโดย คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา โดยมีภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม เข้าร่วม ณ ห้องประชุม อาคารสุขประพฤติ ถนนประชาชื่น กรุงเทพฯ

ภายในงาน นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธาน กมธ.การพัฒนาสังคมฯ กล่าวเปิดการเสวนา โดยได้แสดงเจตนารมณ์ในการปกป้องคุ้มครองดูแลเด็กและเยาวชนไทยจากภัยออนไลน์ จึงตั้งคณะทำงานฯ เพื่อมาศึกษาและจัดทำร่างข้อเสนอ และรับจะช่วยผลักดัน 9 ร่างข้อเสนอต่อวุฒิสภา เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ประกาศเป็นรูปธรรมต่อไป

Advertisement

ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน และรองประธานคณะทำงานเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ในเด็กและเยาวชน เผยว่า จากงานศึกษาพบเด็กไทยต้องเผชิญปัญหาภัยออนไลน์ อันดับที่ 1.คือ การระรานทางออนไลน์ หรือไซเบอร์บูลลี่ อย่างคำง่ายๆ ที่เรามักเรียกกันด้วยความสนุก “อ้วน” คำนี้อาจทำร้ายจิตใจกันถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ เป็นคำที่ไม่ตลกสำหรับคนบางคน ทั้งนี้ มีผลการศึกษาชี้ว่าเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งรังแก มีความเสี่ยงสูงที่จะกลายเป็นผู้รังแกคนอื่นในอนาคต

รองลงมา 2.การติดเกม การพนัน ดร.ธีรารัตน์อธิบายว่า องค์การอนามัยโลกได้รับรองให้การติดเกมเป็นอาการป่วยอย่างหนึ่ง ทำให้ผู้นั้นมีสมาธิสั้น เกเร ก้าวร้าว และอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง อีกทั้งพบว่าในเกมยังมีการเล่นพนัน เช่น ใช้เงินจริงซื้อขายไอเท็ม เปิดกล่องลุ้นรางวัล

“ในต่างประเทศมีกฎหมายมาควบคุมเด็กและเยาวชนเล่นเกม อย่างนิวซีแลนด์ มีกฎหมายเอาจริงกับการกำหนดเรตติ้งเกมให้สอดคล้องกับช่วงอายุเด็ก กำหนดเวลาเล่น มีมาตรการบำบัดรักษาผู้ติดเกม เช่นเดียวกับสิงคโปร์ ที่ยังเพิ่มเติมการควบคุมซื้อขายไอเท็มในเกม มีมาตรการควบคุมการพนันซ้อนการพนัน ในการแข่งขันอีสปอร์ต ส่วนเวียดนาม ก็กำหนดให้ผู้ประกอบการสื่อออนไลน์ทุกประเภท มีบริษัทสาขาในประเทศ เพื่อสามารถสืบสวนได้เวลาเกิดปัญหา และกำหนดให้เยาวชนอายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถเล่นเกมได้วันละ 3 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการเหล่านี้เลย”

“ไม่ได้บอกว่าการเล่นเกมเป็นสิ่งผิด แต่จะชวนว่าเราจะมาหาจุดสมดุลอย่างไร ระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครอง ตัวเด็กและเยาวชน และผู้ประกอบการ ที่จะได้ประโยชน์ร่วมกันบนความรับผิดชอบ”

ดร.ธีรารัตน์ เล่าอีกว่า และ 3.การล่อลวงและคุกคามทางเพศ ซึ่งเห็นได้จากหน้าข่าวมีเด็กและเยาวชนถูกกระทำอยู่ตลอด กระทั่งผู้ใหญ่ก็โดนเช่นกัน

การเสวนาได้เปิดร่าง 9 ข้อเสนอ อาทิ ให้รัฐบาลกำหนดเรื่องรู้เท่าทันสื่อเป็น “วาระแห่งชาติ” พร้อมผลักดันให้คณะกรรมการระดับชาติ หรือสำนักงาน เพื่อขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม ให้รัฐจัดสรรงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ผลักดันกฎหมายกำกับดูแลเกมและกิจการเกม ตั้งแต่การกำหนดอายุเล่นเกม คัดเลือกเกมที่ไม่สร้างความรุนแรงแก่เด็ก กำหนดเวลาเหมาะสมต่อวัน รวมถึงให้ทุกภาคส่วนมาร่วมส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ

ขณะที่แต่ละหน่วยงาน ได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปบ้างแล้ว อย่างกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่บรรจุการรู้เท่าทันสื่อ ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เริ่มสอนตั้งแต่ชั้น ป.-ม.6 อยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่วนกระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เดินหน้าจัดสร้างสนามเด็กเล่นในชุมชน เพื่อดึงเด็กเล็กออกจากจอโทรศัพท์ พร้อมสร้างความเข้าใจกลุ่มผู้ปกครองในศูนย์รับเลี้ยงเด็ก ไม่หยิบยื่นหรือซื้อมือถือให้เด็กเล็ก อย่างไรก็ตาม มีการเสนอให้จัดชุดความรู้แก่ผู้ปกครอง เพื่อให้เท่าทันสื่อและกำกับดูแลลูกหลานได้ถูกต้อง ตลอดจนการออกแบบกฎหมาย ระเบียบ และมาตรการภาครัฐให้ทันยุคสมัย เพราะแม้จะมีวิกฤตสื่อออนไลน์ แต่ขณะเดียวกันก็มีโอกาสของเด็กในการสร้างรายได้ อย่างในระดับโลกที่มีเด็กหลายคนเป็นยูทูบเบอร์ดัง สร้างรายได้สูงและดังระดับโลก

ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะอเนก

ต้องเท่าทันสื่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image