ไร่สุขพ่วง ความสุขพร้อมแบ่งปัน เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับลงมือทำ

ไร่สุขพ่วง

ไร่สุขพ่วง ความสุขพร้อมแบ่งปัน เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับลงมือทำ

เพราะในตอนนี้ความสุขล่องลอยอยู่รอบๆ ตัวของ อภิวรรษ สุขพ่วง เจ้าของไร่ชื่อเดียวกับนามสกุล ที่มีสโลแกนจำง่ายว่า “สุขพร้อมแบ่งปัน” ที่สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานพระราชดำริ พาไปทำความรู้จักถึงที่ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี

ด้วยความสุขนี้เกิดจากการเดินตามรอย “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทว่าแรกเริ่ม อภิวรรษก็เป็นหนึ่งคนที่นึกภาพไม่ออกเลยว่าจะนำเศรษฐกิจพอเพียงจะนำมาปรับใช้และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ยังไง ในเมื่อตัวเขาเอง “ไม่มีทุนอะไรเลย

กระนั้น อุปสรรคก็พลิกชีวิตของอภิวรรษให้หันกลับมามอง “ผืนดิน” มรดกของครอบครัวว่าเป็น “ทุนที่มีค่า”

ทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง

Advertisement

“ผมเป็นทหารเกณฑ์ในเมืองหลวง ได้รับหน้าที่ให้ไปเฝ้าระวังเหตุชุลมุนจากสถานการณ์เสื้อแบ่งสี เห็นภาพของเพื่อนที่กำลังปะทะกับพ่อของตัวเอง เพราะเห็นต่างทางการเมือง จากนั้นผมก็เป็นไข้หวัด 2009 อีก แทบไม่รอด แต่พอรอดมาได้ก็ต้องหาทางรับมือกับน้ำท่วมกรุงเทพฯครั้งใหญ่ สิ่งของมีค่าลอยไปตามน้ำ แม้แต่ในชุมชนที่ร่ำรวยก็ต้องรอความช่วยเหลือเช่นเดียวกัน ตอนนั้นก็คิดถึงบ้าน อยากจะกลับมาอยู่บ้าน และเริ่มสำรวจว่าเรามีทุนอะไรบ้าง” เจ้าของไร่สุขพ่วงเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้น

ทั้งนี้ เมื่อหันหลังให้เมืองกรุงกลับมาอยู่บ้าน อภิวรรษหาหลักให้ตัวเองอยู่ร่วมปี ก่อนพบหลักในการดำเนินชีวิตว่า “เลิกเป็นภาระพ่อแม่” สังเกตแม่ที่ไปจ่ายตลาดว่าซื้ออะไรบ้างแล้วอะไรปลูกได้ก็ปลูก จนกระทั่งถึงวันที่แม่ของเขากลับมาจากตลาดพร้อม “น้ำมันพืชขวดเดียว”

ถ้าทำน้ำมันพืชเองได้ก็คงไม่ต้องซื้ออะไรแล้ว” แม่ของอภิวรรษกล่าวกับเขา หลังจากไร่สุขพ่วงเต็มไปด้วยพืชผักและสัตว์ที่ลูกชายปลูกเลี้ยง

Advertisement

จากที่กล่าวมาข้างต้นอาจจะทำให้สงสัยว่า เกี่ยวข้องยังไงกับ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

อภิวรรษ

เจ้าของไร่สุขพ่วง ซึ่งมีประสบการณ์ทำไร่มา 10 ปี อธิบายว่า ความพอเพียงคือระบบเศรษฐกิจที่รวมข้อดีของระบบสังคมนิยมและทุนนิยม โดยเชื่อในเรื่องของการให้ ซึ่งใน “ทฤษฎีบันได 9 ขั้น สู่ความพอเพียง” แบ่งเป็น 2 ช่วงคือ “ขั้นพื้นฐาน” และ “ขั้นก้าวหน้า”

ขั้นพื้นฐาน ก็คือการทำให้ “ฐานราก” นั้นแข็งแรง ซึ่งในที่นี้ก็คือ พอกิน พอใช้ พออยู่ และพอร่มเย็น (ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง) สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ก็คือที่เขาพึ่งพาตัวเองให้ได้ไม่เป็นภาระของครอบครัว

จากนั้นจึงเป็น “ขั้นก้าวหน้า” เมื่อไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกแล้ว สุขพอแล้วก็พร้อมที่จะแบ่งปัน โดย “ทำบุญ” กับ ศาสนา พ่อแม่ และครอบครัว ให้กินอิ่มเสียก่อน แล้วจึง “ทำทาน” เมื่อเหลือ ค่อยนำไปแบ่งปัน

ก่อนนำมา “เก็บรักษา” ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น เก็บเอาไว้ใช้เมื่อขาด และสุดท้ายค่อยนำไป “ค้าขาย”

เจ้าของไร่สุขพ่วงกล่าวว่า เศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เวลามีพูดที่ไหนคนฟังแรกๆ อาจจะไม่เข้าใจ คิดว่าทำยาก แต่หากได้ “ลงมือทำ” แล้วจะเข้าใจและมองเห็นถึงวิสัยทัศน์และคำสอนของพระองค์ท่านในนี้ เพราะฉะนั้นตัวอย่างความสำเร็จจึงมีค่ามากกว่าคำสอน

ไข่ไก่เลี้ยงแบบปล่อย ไม่ใส่สารเร่ง
ผลิตภัณฑ์จากไร่สุขพ่วง

“ไม่เคยมีใครคิดมาก่อนว่าจะใช้ไบโอดีเซลในรถยนต์ได้จริง แต่พระองค์ท่านก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ในรถยนต์ส่วนพระองค์” อภิวรรษกล่าวด้วยรอยยิ้มและว่า

ในช่วงที่มีวิกฤตโควิด-19 คือหลักฐานว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่มีวันล้าหลัง ช่วยบรรเทาปัญหาได้จริง เพราะแม้แต่แบรนด์ใหญ่ก็ล้มได้ ยุคนี้จึงเป็นยุคของคนตัวเล็กที่พึ่งพาตัวเองได้ พระองค์ท่านไม่ได้สอนให้ยึดติดรูปแบบว่าต้องเป็นแบบไหน แต่พระราชทานหลักการพอเพียงมาให้คนไทยได้แตกไลน์นำไปปรับใช้แก้ปัญหาของแต่ละพื้นที่ได้ ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืน ผมรู้สึกว่าโชคดีมากที่ได้เกิดเป็นคนไทย

อย่างไรก็ตาม อภิวรรษได้เปิดไร่เป็น “ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ Earth Safe อินทรีย์วิถีไทย” ที่นอกจากจะให้ความรู้เรื่องการการเกษตรแล้ว ยังคำนึงถึงความสำคัญของผู้สูงอายุและเด็ก โดยจัดกิจกรรมสอนผู้สูงอายุปลูกผักในตะกร้า ทำได้ในพื้นที่ไม่เยอะและไม่เสี่ยงอันตราย สอนเด็กๆ หัดสานตะกร้า สร้างงานหัตถกรรมและเสริมสร้างสมาธิ เป็นกิจกรรมที่เบี่ยงเบนเด็กให้ห่างจากอันตรายจากการใช้สมาร์ทโฟน เป็นต้น

“ทุกวันนี้ผมมีความสุขจากความพอเพียงแล้ว หากเรามีความรู้มีประสบการณ์แล้วไม่แบ่งปันคงจะดูเป็นการเห็นแก่ตัว ฉะนั้นผมจึงมองอนาคตไว้ว่าจะปลดเกษียณตัวเอง แล้วออกเดินทางเผยแพร่ศาสตร์พระราชาในพื้นที่ต่างๆ” อภิวรรษกล่าวด้วยรอยยิ้ม

นี่คือปณิธานและความตั้งใจของเจ้าของไร่สุขพ่วง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image