“สุขภาวะดี” ไม่ได้มาจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์หรือออกกำลังกายเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นได้จากการใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จึงเดินหน้าร่วมมือกับภาคีที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ สนับสนุนนวัตกรรมการลดฝุ่นควัน PM 2.5 และการเกิดไฟป่า พร้อมหนุนจดสิทธิบัตร ต่อยอดเชิงธุรกิจงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพของเยาวชนอาชีวศึกษา เพื่อสร้างสังคมสุขภาวะดีให้คนไทยอย่างยั่งยืนในทุกมิติ
สิ่งแวดล้อมดี สุขภาวะดี
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ชาวเชียงใหม่ต้องเผชิญกับปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน โดยมีพื้นที่ที่สามารถดูแลได้เพียง 2 ล้านไร่เท่านั้น ในขณะที่อีกเกือบ 3 ล้านไร่ ไม่มีความชัดเจนในการบริหารจัดการ ทำให้เกิดผลเสียต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง สสส. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีทั้งกายและใจ จึงสนับสนุนหน่วยงานทุกภาคส่วนในการดำเนินงานด้านการจัดการทรัพยากรและไฟป่า เพื่อร่วมกันลดปัญหาฝุ่นควันแบบยั่งยืน ซึ่งแรกเริ่มร่วมมือกับคณะทำงานด้านที่ดินป่าไม้ จ.เชียงใหม่ จัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดและจัดทำแผนการจัดการไฟป่าร่วมกับชุมชนตำบลบ้านหลวง เพื่อให้เกิดแนวทางความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่และการจัดการป่าชุมชนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
นายพิทยา จินาวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารแผน สสส. เปิดเผยว่า การดำเนินงานของ สสส. คือนำภาษีมาพัฒนาให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกด้าน ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ และได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ดังนั้น สสส. จึงร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 และฝุ่นควันจากไฟป่า เพื่อให้คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้บนสมดุลที่ดี โดยทำงานร่วมกับภาคีในทุกภาคส่วน อาทิ ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม องค์กรเอกชน รวมถึงประชาชน จัดทำโครงการในระดับต่างๆ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี รวมถึงสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและภาคี โดยมุ่งเน้นการเติมต้นทุนความรู้ของชุมชนและท้องถิ่นให้เป็นพื้นที่ส่วนรวมในการจัดการไฟป่าอย่างเป็นระบบ พยายามดึงองค์กรที่มีศักยภาพเข้ามาทำงานในพื้นที่ และขยายผลไปยังพื้นที่อื่นต่อไป
ด้านนายไพรัช ใหม่ชมภู รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าการจะลดปัญหาฝุ่นควันได้ดีที่สุดคือต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนซึ่งเป็นภาคปฏิบัติจริง จึงได้ร่วมกับ สสส. ทำกระบวนการใหม่ ลงพื้นที่และเปลี่ยนแปลงนโยบายให้ชัดเจน คือ คิดทั้งเชิงพื้นที่และนโยบายไปพร้อมกัน ทั้งนี้พบว่าในแต่ละพื้นที่มีวิธีการของตัวเองที่ต่างต่อสู้กันมายาวนาน อย่างเช่นประชาชนบ้านหัวเสือ ที่ได้มีการจัดการเชื้อเพลิงและทำแนวกันไฟในชุมชน อันเป็นวิธีลดโอกาสเกิดไฟป่ามาตั้งแต่ปี 2553 แต่มีความคิดเห็นและแนวทางการปฏิบัติขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐมาโดยตลอด เนื่องจากที่ดินทำกินและอยู่อาศัยทับซ้อนกับเขตอุทยาน ประชาชนบางส่วนจึงไม่มีสิทธิกระทำการใดๆ บนที่ดิน คณะทำงานเลยเดินหน้าวิจัยและนำนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว คือ ผลักดันเทศบัญญัติว่าด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและนวัตกรรมการจัดการที่ดิน จัดทำเป็นทะเบียนประวัติการใช้ที่ดิน (รายแปลง) ขึ้นในปี 2562 เพื่อแสดงขอบเขตของที่ดินและป่าชุมชน ลดความขัดแย้งในชุมชน เพราะสามารถติดตามผล ประเมินผล แก้ไข และพิสูจน์ได้ ผ่านระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ที่ละเอียดและชัดเจน โดยใช้เงินทุนที่จ่ายสมทบกันเองในชุมชน ทำให้ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ไม่พบปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า และปัญหาไฟป่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นำไปสู่การสะท้อนออกมายังหน่วยงานภายนอกว่า คนในพื้นที่สามารถบริหารจัดการเองได้ หากมีปัจจัยที่เอื้ออำนวย อบจ.จึงทำการสนับสนุนเงินทุน สสส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎระเบียบ เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงระบบให้ชุมชนมีส่วนร่วมในขอบเขตที่ชัดเจนขึ้น
ผลักดันให้ก้าวต่ออย่างยั่งยืน
พร้อมกันนี้ สสส. ยังมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้การแก้ปัญหาฝุ่นควันเป็นไปอย่างยั่งยืน โดยร่วมมือกับมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย จ.เชียงใหม่ และภาคีเครือข่าย เปิดตัวโครงการ “เคาต์ดาวน์ฝุ่น PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่” แลกเปลี่ยนวิธีการทำงานแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน พร้อมจัดทำแผนการปฏิบัติงานลดฝุ่น PM 2.5 เพื่อแก้ปัญหาติดอันดับค่าฝุ่นสูงสุดในโลก โดยนำร่องที่แรก ณ อำเภอจอมทอง
นายไพสิฐ พาณิชย์กุล ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายกฎหมาย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. ของทุกปี ชาวเชียงใหม่ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตมลพิษทางอากาศจาก ฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 และทุกครั้งที่เกิดไฟป่า ค่าฝุ่นจะทะยานสูงขึ้น จนติดดับ 1 คุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก สาเหตุเกิดมาจากการเผาในที่โล่ง การเผาป่า ฝุ่นในเมือง ฝุ่นจากต่างพื้นที่ ฯลฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ดังนั้นเพื่อให้มีการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศอย่างเป็นระบบ และสามารถแก้ไขได้จริง หน่วยงานต่างๆ จำเป็นต้องเน้นการป้องกันมากกว่าแก้ไข ด้วยการร่วมกันจัดทำร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนขึ้น เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 คล่องตัว และมีประสิทธิภาพ หากกฎหมายนี้ผ่าน จะเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีกฎหมายด้านการบริหารจัดการอากาศ ซึ่งครั้งนี้ต้องขอบคุณ สสส. ที่เข้ามาร่วมสนับสนุนกองทุนในการแก้ไขปัญหาด้วยการจัดเวทีแลกเปลี่ยนการทำงานของหลายฝ่าย รวมถึงกิจกรรมต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับฤดูกาลต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และร่วมพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้แข็งแรง
สร้างสุขภาวะดีในทุกมิติ
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของชาวเชียงใหม่ในทุกมิติ สสส. ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าของนวัตกรรมสุขภาพ พร้อมสนับสนุนการจดสิทธิบัตร ต่อยอดเชิงธุรกิจ ให้กับสถาบันอาชีวศึกษาที่ได้รับรางวัลจากงาน THAIHEALTH INNO AWARDS 2019 ณ วัดล่ามช้าง ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ “เครื่องสลัดน้ำมันจากการทอด” นวัตกรรมลดปริมาณน้ำมันในอาหาร โดยไม่ทำให้เสียรสชาติเดิม ช่วยลดโอกาสเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือด และโรคอ้วน ของชาวบ้านในชุมชน
และรางวัลรองชนะอันดับ 1 “นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ชุด Care Share Team” จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ ที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพให้ผู้สูงอายุในชุมชน โดยเน้นการทำงานเป็นทีมระหว่างสถาบันการศึกษาและชุมชน ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น สร้างนวัตกรรมสุขภาพจากวัสดุเหลือใช้ในชุมชน สร้างเทียนหอมไล่ยุงจากเปลือกส้ม เพื่อวางจำหน่ายเป็นสินค้าชุมชนและนำไปใช้ในกิจกรรมของวัด รวมถึงพัฒนาวัฒนธรรมอันน่าสนใจ เช่น กิจกรรมฟ้อนบาเจิง ที่ดัดแปลงการเต้นบาสโลบและการฟ้อนเจิง ให้กลายเป็นการออกกำลังกายรูปแบบหนึ่ง
ทั้งนี้ ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. เชิญชวนเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช. หรือเทียบเท่า) ร่วมส่งแนวคิดหรือผลงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพเข้าประกวด ในโครงการ THAIHEALTH INNO AWARDS 2020 ภายใต้แนวคิด ‘ชีวิตดีเริ่มที่เรา’ ตั้งแต่วันนี้ – 6 ต.ค. 63 โดยครั้งนี้เน้นโจทย์การแก้ไขปัญหาสุขภาพในชุมชนที่ใช้ได้จริง และมีโจทย์แยกย่อยอีกมากมาย เพื่อให้สามารถเลือกได้ตามความสนใจ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครได้ที่ https://www.thaihealth.or.th/inno
“การประกวดไม่ได้มุ่งเน้นนวัตกรรมที่เป็นเลิศเพียงอย่างเดียว แต่ยังมุ่งหวังการปรับทัศนคติของเยาวชน เน้นการบ่มเพาะนวัตกรรุ่นใหม่ ด้วยการใช้ความคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ที่ทำให้มองโจทย์ในการแก้ไขปัญหาได้ชัดเจนมากขึ้น นำไปสู่การออกแบบนวัตกรรมต่างๆ ที่ใช้ได้จริง”
สสส. พร้อมเดินหน้าร่วมมือกับภาคีต่างๆ เพื่อส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุน ให้คนไทยมีสุขภาวะดีในทุกมิติ ทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ และการได้อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อันเป็นพันธกิจหลักมากว่า 19 ปี