5 โรคร้ายในสุนัข มากับหน้าฝน เปิดวิธีป้องกันก่อนสัตว์เลี้ยงป่วย

5 โรคร้ายในสุนัข มากับหน้าฝน เปิดวิธีป้องกันก่อนสัตว์เลี้ยงป่วย

ฝนที่ตกหนักในช่วงนี้ ทำให้หลายคนกังวลถึง สุขภาพของเหล่าสัตว์เลี้ยง ที่อาจมีโรคต่างๆ ตามมา ซึ่ง 5 อันดับโรคในสุนัข ที่มักจะมาพร้อมกับหน้าฝน มีดังนี้

1.โรคระบบทางเดินหายใจ ส่วนมากเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่ในลูกสุนัขจะรุนแรงกว่า สุนัขจะมีอาการซึม เบื่ออาหาร มีไข้ มีน้ำมูกใสๆ จนถึงสีเขียวข้น มีขี้ตามากกว่าปกติ มักพบอาการไอ หายใจเร็ว และถี่ ในรายที่เป็นมากอาจจะหายใจลำบาก อ้าปากหายใจ บางตัวนอนไม่ได้ นั่งหอบหายใจทั้งวัน

2.โรคพยาธิเม็ดเลือด ในช่วงหน้าฝนมีอาการร้อนชื้นจะส่งผลให้มีการแพร่ระบาดของเห็บมากขึ้น สุนัขติดเชื้อจากการถูกเห็บกัด หรือกินเห็บที่มีเชื้อเข้าไป มีอาการซึม เบื่ออาหาร มีไข้ สีเหงือกซีดกว่าปกติ หรือมีภาวะตัวเหลือง เลือดกำเดาไหล ปัสสาวะสีแดง มีจุดเลือดออกตามตัว เกล็ดเลือดต่ำ เลือดจาง ในรายที่รุนแรงอาจพบมีปัญหาตัวหรือไตอักเสบ บางรายมีภาวะภูมิคุ้มทำลายตัวเองและอาจเสียชีวิตลงได้หากรับการรักษาไม่ทัน

Advertisement

3. โรคผิวหนังติดเชื้อ ในช่วงหน้าฝนสัตว์มีโอกาสเปียกฝน หรือไปเล่นน้ำสกปรก ความชื้นผิดปกติ ซึ่งเป็นเหตุทำให้เกิดความผิดปกติความสมดุลของแบคทีเรียผิวหนัง ภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีแผลแล้วติดเชื้อตามมา อาจจะพบเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือเชื้อยีสต์ อาการคือ คัน ขนร่วง อาจร่วงเป็นวงเล็กๆ หรือกระจายทั่วตัว บางครั้งพบตุ่มหนอง สะเก็ด รังแค ผื่นแดง ถ้าเป็นนานอาจทำให้ผิวหนังกลายเป็นสีดำ พบรอยโรคสัมพันธ์กับจุดอับชื้น เช่น รักแร้ ขาหนีบ ใต้อก ใต้ท้อง

4.โรคท้องเสีย ในช่วงนี้สุนัขอาจไปเลียกินน้ำสกปรอก หรือ ชามอาหารปนเปื้อนเชื้อ มีเหตุให้ท้องเสียได้ สุนัขจะถ่ายเหลว อาจมีมูก หรือเลือดปนได้ หากเป็นรุนแรง จะถี่มากกว่าปกติ ซึม ไม่ทานอาหาร หรือทานแล้วก็อาเจียนออกมา ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจจะมีภาวะขาดน้ำ อ่อนเพลีย น้ำตาลต่ำ และเป็นเหตุให้ช็อกได้

5.ภาวะเครียดหรือวิตกกังวล อาจเกิดจากความเครียด หรือความฝังใจตั้งแต่เป็นลูกสุนัข หรือการเปลี่ยนที่อยู่ เปลี่ยนเจ้าของบ่อยๆ ในช่วงหน้าฝน ยิ่งมีเสียงฟ้าผ่า ฝนตก หรืออยู่ตัวเดียวนานขึ้น ก็ทำให้เกิดความกลัว พัฒนาเป็นความเครียดสะสมได้ อาการของโรคมีหลายกลุ่มอาการ แสดงออกเมื่ออายุ 12-36 เดือนขึ้นไป เป็นไม่มากอาจจะตัวสั่น หางตก หนีไปซ่อนตัวเมื่อมีสิ่งกระตุ้นให้กลัว เห่าแบบไม่มีสาเหตุ เห่าเวลากลางคืน เล่นลดลง บางตัวเป็นมากๆ อาจมีปัสสาวะ อุจจาระหรือถ่ายเหลว โดยนอกจากวินิจฉัยรักษาโรคแล้ว ต้องปรับพฤติกรรมของสุนัข สอนให้ผ่อนคลาย นวดผ่อนคลาย ฝังเข็ม หากมีปัญหามากๆต้องใช้ยาคลายเครียด

Advertisement

โดยเจ้าของสุนัข ควรจะป้องกันโรคต่างๆ ดังนี้

1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรค
ในช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่มีภาวะเหมาะสมในการเพาะตัวของเชื้อโรค โรคที่เกิดกับสุนัขในหน้าฝนนั้นก็เช่นเดียวกันกับคน ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงโรคที่มักมากับหน้าฝนนั้น ต้องไม่ลืมที่จะพาสุนัขไปฉีดวัคฉีนป้องกันโรคประจำปี

2. อาหารและน้ำดื่มของสุนัขต้องสะอาดและสดใหม่อยู่เสมอ
เพราะฤดูฝนเช่นนี้จะทำให้อาหารเกิดบูดเสียและเกิดเชื้อราได้ง่าย ถ้าเป็นอาหารเม็ดควรสดใหม่ ไม่ขึ้นรา แต่ถ้าหากเป็นอาหารที่ปรุงแต่งเองก็ควรสุก ไม่ค้างคืน เพราะถ้าอาหารไม่สะอาดก็อาจจะทำให้เกิดอาการท้องเสียและอาเจียนได้

3. กรงหรือที่อยู่ของสุนัขต้องไม่เปียกชื้นและไม่อับ
มีอากาศถ่ายเทสะดวก หากบริเวณที่อยู่ของสุนัขเปียกชื้นควรเช็ดให้แห้ง และพยายามหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนสาด

4. ไม่ควรให้สุนัขตากฝนหรือเล่นน้ำเป็นเวลานาน ๆ
เพราะโรคส่วนใหญ่ที่มักพบกับสุนัขในหน้าฝนคือ ไข้หวัด หลอดลมอักเสบ หรือหากรุนแรงก็อาจจะทำให้เป็น ไข้หัดสุนัขได้ หากสุนัขมีอาการเป็นไข้หวัด ควรรีบนำไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที

5. ป้องกันโรคที่มากับความชื้น
ความชื้นเป็นตัวการสำคัญที่จะทำให้เกิดเชื้อราหรือแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของ โรคผิวหนังได้ มักจะพบตุ่ม ผื่นคัน ผิวหนังอักเสบ หากเป็นหนักอาจเกิดเป็น“ขี้เรื้อน”ได้ โรคที่พบกันมากในสุนัขอีกโรคหนึ่ง คือ โรคเห็บหมัด เพราะเห็บหมัดมักเจริญพันธุ์อย่างดีในช่วงหน้าฝน ดังนั้นควรกำจัดเห็บหมัดอย่างรอบด้าน ทั้งจำกัดที่ตัวสุนัขและที่กรงที่อยู่ของสัตว์เลี้ยง รวมทั้งสวนและบริเวณบ้านที่เห็บหมัดสามารถวางไข่ได้

ที่มา โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ , โรงพยาบาลสัตว์เมืองเอก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image