‘ซิป้า’ รุกระบบสาธารณสุข มาตรฐานเดียวทั่วไทย

การปฏิรูปสาธารณสุขเป็นหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลในการปฏิรูปประเทศทุกภาคส่วน การปฏิรูประบบสาธารณสุขเพื่อทำให้ระบบสุขภาพประเทศเป็นระบบเดียวและมาตรฐานเดียว คนไทยทุกคนได้รับบริการที่ดี เหมาะสม และได้รับสิทธิประโยชน์สำคัญอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นการพัฒนาระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (พีเอชอาร์) จึงถือเป็นก้าวสำคัญในการร่วมปฏิรูปดังกล่าว และทำให้ผู้รักษาพยาบาลสามารถติดตามผู้เข้ารับการรักษาได้ตลอดเวลา

นายศุภชัย จงศิริ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) กล่าวว่า ซิป้า ได้ตอบรับนโยบายของรัฐบาลที่จะลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีของประชาชน จึงได้ศึกษาและพัฒนาระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล หรือพีเอชอาร์ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศของประชาชนในพื้นที่ได้ตรงจุด ทำให้การดูแลสุขภาพ และการติดตามการรักษาพยาบาลได้ตลอดเวลา ซึ่งได้ดำเนินโครงการมาแล้ว 2 ระยะ คือ

ระยะแรก เกิดจากความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ ซิป้า เนคเทค และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครนายก นำระบบ พีเอชอาร์ มาใช้นำร่องกับประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์ ในจังหวัดนครนายก โดยเริ่มจากการฝึกอบรม ประชาชนจาก 4 อำเภอ ใน 4 หมู่บ้าน จำนวน กว่า 600 ราย เพื่อเข้าใช้งานผ่านรหัสเลขบัตรประจำตัวประชาชน บนเว็บบราวเซอร์ ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพส่วนตัวได้ อาทิ ข้อมูลการรับการรักษา ข้อมูลการรับยา วันนัดแพทย์ อย่างไรก็ดีในการเข้าดูข้อมูลเหล่านั้นก็จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและโรคประจำตัวต่างๆ ที่ผู้ป่วยกำลังรับการรักษาจากบุคลากรทางการแพทย์

ระยะที่ 2 หลังประสบความสำเร็จจากระยะแรก คณะทำงานร่วมโครงการระหว่างซิป้า และเนคเทคจึงได้พัฒนาเอพีไอเพื่อพัฒนาให้เป็นแอพพลิเคชั่น บนอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ ซึ่ง โดยเปิดให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย นำไปใช้ในการพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่น ให้ครอบคลุมบริการที่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้มีบริการซอฟต์แวร์สุขภาพ เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังพัฒนาเชื่อมต่อให้สมาชิกในครอบครัวเข้าถึงข้อมูลเบื้องต้นของคนในครอบครัวได้ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้เปิดใช้งานระบบพีเอชอาร์จำนวน 2,483 ราย และมีเอกชนด้านสุขภาพนำเอพีไอไปพัฒนาต่อกว่า 30 บริษัท

Advertisement

สำหรับการดำเนินงานระยะที่ 3 นั้น เป็นการขยายผลการใช้งานระบบ เพื่อประยุกต์ใช้กับจังหวัดอื่นๆ ให้ครอบคลุมการใช้งานของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ให้มากที่สุด ซึ่งในขณะนี้กำลังดำเนินการใน 4 จังหวัดของ 4 ภูมิภาค คือ จังหวัดภูเก็ต ร้อยเอ็ด เพชรบูรณ์ และกาญจนบุรี และได้พัฒนาส่วนเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพประชาชนให้สัมพันธ์กับระบบข้อมูลสถานพยาบาล (เอชไอเอส) ของแต่ละจังหวัดและยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพระหว่างจังหวัดได้อีกด้วย

นอกจากนั้น เพื่อให้การดำเนินโครงการในอนาคตครอบคลุมทั่วประเทศ และปลอดภัย ซิป้าตั้งเป้าหมายให้ประชาชนใน 4 จังหวัดลงทะเบียนเข้าใช้งานระบบจำนวนไม่น้อยกว่า 3,000 ราย และมีโรงพยาบาลเปิดใช้งานระบบไม่น้อยกว่า 250 แห่ง

รวมถึงเปิดโอกาสให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยมีส่วนร่วมพัฒนาซอฟต์แวร์ และบริการซอฟต์แวร์ต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันให้กับตลาดซอฟต์แวร์ด้านสุขภาพและบริการสุขภาพต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image