จีนตัดต่อพันธุกรรม “คน” หวังรักษา “มะเร็งปอด”

(ภาพ-Wikipedia)

ทีมวิจัยของโรงพยาบาลเวสต์ไชน่า ในสังกัดมหาวิทยาลัยเสฉวน มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน แถลงเตรียมใช้เทคโนโลยีในการตัดต่อพันธุกรรมซึ่งเรียกว่า “คริสเพอร์” (CRISPR ย่อมาจาก Clustered Regulatory Interspaced Short Palindromic Repeats) ในผู้ป่วยทดลองเป็นครั้งแรกของโลก เป้าหมายเพื่อดูว่าสามารถใช้กรรมวิธีใหม่นี้ในการรักษามะเร็งปอดในผู้ป่วยทดลองได้หรือไม่

การดำเนินการทดลองดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้นำในวิทยาการด้านการปรับแต่งพันธุกรรมในมนุษย์ของจีน ซึ่งไม่มีกฎหมายควบคุมเข้มงวดเหมือนในประเทศตะวันตกหลายประเทศ โดยก่อนหน้านี้เมื่อราวกลางปีที่ผ่านมา มีรายงานผลความสำเร็จในการตัดต่อหน่วยพันธุกรรมของตัวอ่อนมนุษย์มาแล้ว โดยที่การศึกษาวิจัยดังกล่าวนี้ถือว่าผิดกฎหมายในหลายประเทศด้วยเหตุผลในเชิงจริยธรรม

ความพยายามครั้งใหม่นี้ไม่นับเป็นเรื่องอื้อฉาวเทียบเท่ากับครั้งที่แล้ว ทั้งนี้ ทีมวิจัยด้านการแพทย์ในสหรัฐอเมริกาเองก็เตรียมการทดลองทำนองเดียวกันนี้ในทันทีที่ได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นทางการจากองค์กรควบคุมให้ดำเนินการศึกษาวิจัยได้

ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเสฉวนเปิดเผยว่า การวิจัยใหม่ซึ่งคาดว่าสามารถเริ่มต้นได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ มีผู้ป่วยอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการทดลองแล้ว 30 คน อย่างไรก็ตามมีเพียงรายเดียวเท่านั้นที่ทางทีมกำหนดจะใช้ในการทดลองครั้งนี้ ซึ่งทางทีมอธิบายกระบวนการไว้ว่า เริ่มด้วยการนำเอา “ทีเซลล์” หรือเซลล์มะเร็งออกมาจากตัวผู้ป่วยที่ป่วยเป็นมะเร็งและไม่มีหนทางรักษาแบบอื่นแล้ว จากนั้นก็จะใช้วิธี “คริสเพอร์” จัดการกับยีนของเซลล์เหล่านั้น

Advertisement

เทคโนโลยีคริสเพอร์ที่ใช้นั้น ทำไปเพื่อยับยั้งการทำงานของโปรตีน “พีดี-1” ซึ่งเป็นโปรตีนที่ผลิตออกมาจากหน่วยพันธุกรรมของคนเราสำหรับยับยั้งไม่ให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไปทำลายเซลล์ที่มีสุขภาพสมบูรณ์ แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่ทำลายเซลล์มะเร็งไปด้วย

เซลล์มะเร็งที่ถูกนำออกมาตัดต่อพันธุกรรมไม่ให้โปรตีนพีดี-1 ทำงานแล้วนั้นจะถูกตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ เกิดขึ้น จากนั้นจึงปล่อยให้เซลล์เหล่านี้แบ่งตัวและเมื่อได้เซลล์ในปริมาณที่ต้องการแล้วก็ฉีดกลับเข้าไปในภายในกระแสเลือดของผู้ป่วยรายเดียวกับที่นำเซลล์มะเร็งออกมา

ทีมวิจัยตั้งความหวังว่า เซลล์ที่ผ่านกระบวนการคริสเพอร์แล้วนั้นจะส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโจมตีกลุ่มเซลล์มะเร็งขนานใหญ่เกิดขึ้น ฆ่าหรือทำลายเซลล์เหล่านั้น ซึ่งเท่ากับเป็นการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปอดรายนั้นนั่นเอง

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยของจีนยอมรับว่า ยังไม่มีใครรู้ว่าร่างกายของผู้ป่วยรายนั้นจะตอบสนองต่อกระบวนการทั้งหมดอย่างไร และไม่แน่ใจว่าภูมิคุ้มกันของร่างกายจะไปทำลายเพียงแค่เซลล์มะเร็งหรือไม่

เป็นไปได้ว่ากระบวนการนี้อาจสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา อาทิ ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันโหมทำงานและไปทำลายเซลล์ปกติตามไปด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image