คำแนะนำ ‘ป้องกันโควิด-19’ ที่ไม่ชัดเจน อาจทำให้คนยิ่งเห็นแก่ตัว

(รอยเตอร์)

คำแนะนำ ‘ป้องกันโควิด-19’ ที่ไม่ชัดเจน อาจทำให้คนยิ่งเห็นแก่ตัว

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่นิ่ง ความคืบหน้าของวัคซีนต่างๆ ก็ยังไม่นิ่ง รวมทั้งข้อแนะนำในการป้องกันตัวจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีนักการศึกษาจากเดนมาร์กและสเปนพบว่า คำแนะนำ หรือข้อปฏิบัติที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ ไม่มีความชัดเจน อาจทำให้ผู้คนมีพฤติกรรมเห็นแก่ตัวมากขึ้น

ในบทความของเอเอฟพีเล่าว่า จากผลการศึกษาที่ทีมนักการศึกษาจากเดนมาร์กและสเปน ร่วมกันสำรวจพบว่า ผลจากคำแนะนำที่ไม่ชัดเจน ทำให้เกิดความคาดหวังที่ไม่ชัดเจน ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่มักจะเลือกทำวิธีที่ “ง่ายที่สุด” เข้าว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้ทิปที่ร้านอาหาร หรือแม้แต่เรื่องให้ความสำคัญกับข้อปฏิบัติในการป้องกันตัวภายใต้สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

“เมื่อมีความคาดหวังที่ไม่ชัดเจนเกิดขึ้น เรามักจะเลือกทำอะไรเพื่อตัวเองมากเท่าที่จะเป็นไปได้ เรามักจะเห็นแก่ตัวมากกว่าจะใจกว้างทำเพื่อคนอื่น” โชเก ฟัสกอด ศาตราจารย์มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมทำการศึกษานี้กล่าวในแถลงการณ์

ในผลการศึกษาที่สำรวจเก็บข้อมูลในกลุ่มตัวอย่าง 286 ราย ใช้วิธีให้เงินแก่กลุ่มตัวอย่างคนละ 100 โครน ราว 496 บาท บอกให้แบ่งกับสามีภรรยา หรือคู่รักของตน ปรากฏว่าส่วนใหญ่เลือกที่จะแบ่งเงินเท่ากัน คนละครึ่ง เมื่อได้รับการบอกกล่าวว่า การแบ่งเงินเท่ากัน คือบรรทัดฐานที่สังคมยอมรับ

Advertisement

แต่ในทางตรงข้าม คนส่วนใหญ่เลือกเก็บเงินส่วนแบ่งให้ตัวเองมากกว่า แล้วแบ่งให้คู่ของตนน้อยกว่า เมื่อได้รับการบอกว่า สามารถตัดสินได้เองเลยว่า อยากจะแบ่งเงินให้สามีภรรยา หรือคู่ของตนเท่าไร โดยที่คู่ของตนไม่สามารถรู้ถึงจำนวนเงินที่แท้จริง

“เมื่อรู้ชัดเจนว่าต้องทำอะไร ในสถานการณ์ที่ชัดเจน ผู้คนจะเลือกทำตามบรรทัดฐานทางสังคม แต่ถ้าผู้คนรู้สึกลังเล ไม่แน่ใจว่าควรทำอย่างไรกับคำแนะนำต่างๆ คนส่วนใหญ่มักจะเลือกทำวิธีที่พวกเขาแฮปปี้”

ในรายงานระบุว่า พฤติกรรมเห็นแก่ตัวของคนเราจะยิ่งขยายใหญ่ขึ้น “เมื่อเราอยู่คนเดียว หรืออยู่นอกเหนือสายตาการตัดสินของคนอื่น”

Advertisement
(เอเอฟพี)

ทีมสำรวจศึกษาชุดนี้มีคำแนะนำว่า ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาของพวกเขา อาจสามารถนำมาใช้ทำนายได้ว่า ผู้คนจะให้ความสำคัญและยึดปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานสาธารณสุขต่อเรื่องโควิด-19 อย่างเคร่งครัดขนาดไหน?

“ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะไม่ล้างมือเมื่ออยู่ที่บ้าน หรือผ่อนปรนให้ตัวเองเรื่องทำความสะอาด หรือเป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงสังสรรค์กับเพื่อนมากมายหลายกลุ่ม เป็นต้น หรือในกรณีของหน้ากากอนามัย เนื่องจากภายใต้ข้อปฏิบัติที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าเราต้องใส่หน้ากากกันอีกนานแค่ไหน นี่ก็อาจทำให้หลายคนใช้หน้ากากซ้ำ และยังชะลอเวลา ไม่ซื้อหน้ากากใหม่” โชเก ฟัสกอด กล่าว

ทั้งนี้ ในเดนมาร์กบังคับให้ผู้คนต้องสวมหน้ากากเมื่อโดยสารรถสาธารณะและรถแท็กซี่ เช่นเดียวกับหลายประเทศในยุโรป ขณะที่สเปนกำหนดให้เป็นความรับผิดชอบของประชาชน ที่ต้องเคารพต่อการรักษาระยะห่างทางสังคม เคร่งครัดเรื่องการรักษาสุขอนามัย และต้องกักตัว เมื่อมีอาการต่างๆ ว่าอาจติดเชื้อไวรัสโควิด-19

(เอเอฟพี)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image