เทรนด์การกินใหม่ ‘มังสวิรัติแบบยืดหยุ่น’

มังสวิรัติแบบยืดหยุ่น

เทรนด์การกินใหม่ ‘มังสวิรัติแบบยืดหยุ่น’

ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับต้นๆ ของเอเชีย และโลก ซึ่งปัจจุบันการรับประทานอาหารมังสวิรัติ หรืออาหารจากพืชเป็นหลัก (plant-based diet) กำลังกลายเป็นเทรนด์ไลฟ์สไตล์ในปัจจุบัน ผู้คนหันมาใส่ใจในเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งนอกจากจะมีผลดีกับสุขภาพ และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน และโรคมะเร็งแล้ว การกินอาหารจากพืชเป็นหลักยังช่วยลดโลกร้อนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารมังสวิรัติอาจจะทำได้ยากสำหรับหลายคน ปัจจุบันจึงมีการรับประทานอาหารแบบ “มังสวิรัติแบบยืดหยุ่น” หรือ Flexitarian มาจากคำว่า Flexible + Vegetarian กลายเป็นกระแสการบริโภคนิยมแนวใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งยังคงหลักการของการรับประทานอาหารจากพืชเป็นหลัก แต่สามารถรับประทานเนื้อสัตว์ได้บ้างในปริมาณที่ลดลง อีกทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความสะดวกตามความเหมาะสมในแต่ละบุคคล

ผศ.พญ.ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร สาขาวิชาโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ได้แนะหลักในการบริโภค “มังสวิรัติแบบยืดหยุ่น” โดยไม่ทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ หรือการรับประทานอาหารไม่สมดุลจนเกิดความผิดปกติทางโภชนาการว่า ระยะแรกควรเริ่มจำกัดการบริโภคเนื้อสัตว์เพียงบางมื้อ โดยใน 1 วัน อาจมี 1 มื้อที่รับประทานอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ จากนั้นอาจเพิ่มเป็น 1 วัน หรือ 2 วันต่อสัปดาห์ที่ไม่มีเนื้อสัตว์ แล้วค่อยขยับขึ้นเรื่อยๆ สำหรับในมื้อที่มีเนื้อสัตว์ ควรเลือกรับประทานนม ไข่ ปลา หรือไก่ ซึ่งเป็นโปรตีนที่ย่อยง่าย ไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์จำพวกเนื้อแดง หรือเนื้อสัตว์แปรรูป ซึ่งได้แก่ แฮม ไส้กรอก เบคอน ฯลฯ รวมทั้งเน้นอาหารที่มาจากพืชเป็นหลัก

Advertisement
ผศ.พญ.ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร

ข้อควรระวังในการรับประทานอาหารมังสวิรัติอย่างเคร่งครัด คืออาจจะทำให้ได้รับวิตามินบี 12 ไม่เพียงพอ ถ้าไม่รับประทานอาหารกลุ่มนี้เลยเป็นเวลานาน ก็จะทำให้มีความเสี่ยงในการขาดวิตามินบี 12 ที่มีความสำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง และระบบประสาท รวมทั้งแร่ธาตุบางชนิด เช่น แคลเซียม และเหล็ก ซึ่งได้จากพืช จะดูดซึมได้น้อยกว่าที่ได้จากสัตว์

ผศ.พญ.ดรุณีวัลย์ ทิ้งท้ายว่า ปกติอาหารไทยเป็นอาหารที่ไม่เน้นการบริโภคเนื้อสัตว์ปริมาณมากอยู่แล้ว เราควรตั้งอยู่ในทางสายกลาง ของทุกอย่างมากเกินไป หรือน้อยเกินไป ไม่ส่งผลดี ดังนั้นควรปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้รู้จักเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับตัวเอง

ที่สำคัญไม่ควรตีความการรับประทานจากพืชเป็นหลัก ไปในทางที่ผิด

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image