ทีเค พาร์ค 3 จังหวัดชายแดนใต้ หยั่งราก ‘การเรียนรู้’ สู่ ‘สันติสุข’

ทีเค พาร์ค 3 จังหวัดชายแดนใต้ หยั่งราก ‘การเรียนรู้’ สู่ ‘สันติสุข’

เพราะเชื่อว่าการศึกษาและการเรียนรู้ ไม่เพียงสามารถยกระดับคนยากจน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ แต่ยังทำให้ผู้คนในสังคมรู้จักคิดอย่างมีเหตุผล อันจะเปลี่ยนสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรง ให้เป็นสงบสุขได้

ที่ผ่านมาจึงมีความพยายามยกระดับคุณภาพการศึกษา สร้างพื้นที่เรียนรู้ที่มีคุณภาพให้ทั่วถึง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 เป็นต้นมา หนึ่งในนั้นคือ การก่อตั้งอุทยานการเรียนรู้ หรือแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบห้องสมุดมีชีวิต โดยสถาบันอุทยานการเรียนรู้ หรือทีเค พาร์ค (TK Park) เริ่มที่ อุทยานการเรียนรู้ยะลา ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2550 อุทยานการเรียนรู้ปัตตานี เมื่อปี พ.ศ.2560 และอุทยานการเรียนรู้นราธิวาส เมื่อปี พ.ศ.2561

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ประธานกรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หน่วยงานต้นสังกัดทีเค พาร์ค เล่าว่า การเกิดขึ้นของอุทยานการเรียนรู้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารในเทศบาล ที่ให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาศักยภาพคนในพื้นที่ ด้วยการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ อย่างจังหวัดยะลา ได้ลงทุนก่อสร้างอุทยานการเรียนรู้เป็นจังหวัดแรก ต่อจากทีเค พาร์คในกรุงเทพฯ โดยมีทีเค พาร์คคอยให้คำชี้แนะเรื่องการทำระบบ บัดนี้ดำเนินงานมา 13 ปี ซึ่งต้องชื่นชม นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ที่ลงทุนนี้ เพราะถือเป็นการสร้างรากฐานอย่างแท้จริง

“เวลาที่เราพูดถึงโครงการลงทุนก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรามักพูดถึงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แต่ที่นี่มีเรื่องการสร้างแหล่งเรียนรู้ ทำสวนสาธารณะ และยังพัฒนาต่อจนเป็นอุทยานการเรียนรู้ต้นแบบของประเทศ ถือเป็นอุทยานการเรียนรู้ที่เราภูมิใจ และอยากให้เทศบาลอื่นๆ ได้มาดูงานและกลับไปพัฒนา เพราะการสร้างขีดความสามารถ เพิ่มศักยภาพคนในประเทศ นี่ต่างหากที่จะทำให้ประเทศเราอยู่รอดได้” นายวีระกล่าว

Advertisement

อุทยานการเรียนรู้ยะลา เป็น 1 ใน 28 แห่ง อุทยานการเรียนรู้ระดับจังหวัด ที่เทศบาลลงทุนสร้าง ทีเค พาร์คเข้าไปช่วยทำระบบ นอกจากนี้ ยังร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ทำห้องสมุดมีชีวิตในเรือนจำ และร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ทำห้องสมุดมีชีวิตประจำโรงเรียน 76 จังหวัด อนาคตยังมีเป้าหมายขยายห้องสมุดมีชีวิตให้ครอบคลุมระดับอำเภอ ตำบล และเพิ่มบทบาทเป็นศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่คนทุกช่วงวัยสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้

วีระ โรจน์พจนรัตน์

ยะลาเมืองแห่งการเรียนรู้

โฟกัสที่ อุทยานการเรียนรู้ยะลา เป็นสวนอักษรที่มีหนังสือหมุนเวียนมากกว่า 1 แสนเล่ม และยังมีหนังสือใหม่เข้าไปเติมทุกเดือน ผ่านการตั้งงบประมาณรองรับ และรับความคิดเห็นของผู้อ่านที่เข้าไปใช้บริการ ว่าอยากอ่านหนังสืออะไร ก่อนจะประมวลและจัดซื้อเข้ามา นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมการเรียนรู้ตามฐานต่างๆ ให้เด็กและเยาวชนไทยพุทธและไทยมุสลิมได้เปิดโลกแห่งการเรียนรู้ และลงมือทำร่วมกัน ในวันธรรมดาจะมีคณะนักเรียนแวะเวียนเข้ามา คิวจองยาวหลายสัปดาห์ ส่วนวันเสาร์อาทิตย์ มีเด็กเยาวชนและครอบครัวเข้ามาเรียนรู้ ทำกิจกรรม และออกกำลังกาย

Advertisement

นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ซึ่งเป็นคนตัดสินใจลงทุนสร้างอุทยานการเรียนรู้ยะลา เมื่อปี พ.ศ.2550 เล่าถึงที่มาว่า เกิดจากการที่ผมได้ไปเรียนต่างประเทศ ได้เห็นห้องสมุดดีๆ เลยมีความคิดอยากกลับมาทำบ้าง จึงบรรจุในนโยบายหาเสียง ก่อนลงมือทำจริงร่วมกับทีเค พาร์ค ในการเปลี่ยนห้องสมุดเดิมๆ ห้องสมุดเงียบๆ ที่อาจไม่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ให้เป็นห้องสมุดมีชีวิต มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อ่าน เข้ามาแล้วเกิดแรงบันดาลใจ เกิดความคิดสร้างสรรค์ ได้รับความรู้ใหม่ๆ และให้บรรยากาศผ่อนคลายเหมือนเป็นบ้านหลังที่ 2

“13 ปีของการมีอุทยานการเรียนรู้ยะลา อาจตอบได้ไม่ชัดเจน ว่าสามารถหยุดความรุนแรงได้หรือไม่ แต่ที่เห็นชัดเลยคือ การมีพื้นที่กลางให้เด็กและเยาวชนไทยพุทธและมุสลิม ได้มาทำกิจกรรมและเรียนรู้ปรับความเข้าใจกัน เมื่อเด็กรู้จักกัน ก็นำมาสู่พ่อแม่รู้จักกัน เข้าใจกัน เป็นสิ่งที่ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ยืนยันว่า ยะลาเป็นพื้นที่ที่ชาวไทยพุทธและมุสลิมอยู่ด้วยกันอย่างดีที่สุด อย่างในตัวเมืองแทบไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเลย” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ

อุทยานฯยะลา ตั้งอยู่ทำเลทอง ในศูนย์เยาวชนของเทศบาล และมีสนามกีฬาพร้อมสรรพ คนทุกช่วงวัยได้ประโยชน์ อย่างเด็กและเยาวชนสามารถเข้าไปอ่านหนังสือได้ ผู้ปกครองก็ออกมาเล่นกีฬาหรือตามเข้าไปอ่านหนังสือได้เช่นกัน ทำให้ยอดผู้ใช้บริการ 13 ปี มีถึง 2.6 ล้านคน หรือเฉลี่ยกว่า 1.9 แสนคนต่อปี นายกยืนยันว่า วันเสาร์อาทิตย์คนเข้ามาที่นี่ 5-6 พันคนต่อวัน

ด้วยความสำเร็จของการดำเนินงาน กับเป้าหมายพัฒนาเมืองยะละให้เป็นสมาร์ทซิตี้ สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ นายกเดินหน้าขยายเฟส 2 สร้างอาคารอุทยานการเรียนรู้แห่งใหม่ในพื้นที่ติดกัน ภายในแบ่ง 6 ชั้น ประกอบด้วย อาทิ ห้องสมุดมีชีวิต เพิ่มความตื่นตาตื่นใจในรูปแบบวีอาร์ เออาร์ มีห้องคอมพิวเตอร์ที่ใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง มีลานกิจกรรม มีโคเวิร์กกิ้งสเปซ บริการ 24 ชั่วโมง คาดว่าจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการได้ภายในปี 2566

วิทยาศาสตร์หล่อหลอมเด็กปัตตานี

มาที่ อุทยานการเรียนรู้ปัตตานี ก่อตั้งเป็นแห่งที่ 2 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลังเหตุการณ์ความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปะทุ ทำให้ประชากรย้ายถิ่นออก หนึ่งในเหตุผลสำคัญคือ อยากให้บุตรหลานได้รับการศึกษาจากโรงเรียนดีๆ ผู้บริหารเทศบาลจึงลงทุนก่อสร้างอาคาร 3 ชั้น ขนาด 6,476 ตร.ม. เป็นที่ตั้งอุทยานการเรียนรู้ปัตตานีซึ่งมีขนาดใหญ่สุดของประเทศ ภายในมีหนังสือให้บริการกว่า 2 หมื่นเล่ม มีห้องสมุดเด็ก ห้องสมุดไอที ติวเตอร์ ฐานกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ตลอดจนห้องฉายภาพยนตร์เป็นห้องแรกและห้องเดียวในจังหวัด สร้างความตื่นตา ตื่นใจให้เด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่อย่างมาก

นายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี เล่าว่า นอกเหนือจากการเรียนรู้ทั่วไปที่อุทยานจัด ผมมีแผนสร้างเครื่องมือให้เด็กและเยาวชน ได้เกิดแรงบันดาลใจและความฝัน ว่าโตไปอยากทำอาชีพอะไร ซึ่งเด็กและเยาวชนจะได้ทดลองเรียนรู้ โดยมีวิทยาศาสตร์ต่อยอดทุกสาขาอาชีพ เพราะวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดกระบวนการคิดอย่างมีเหตุและผล เด็กจะได้ไม่เรียนศาสนาอย่างเดียว

“16 ปีเหตุการณ์ความไม่สงบ เรามีเด็กที่เติบโตมากับความรุนแรงและความเชื่อ หากเราปล่อยไปไม่ทำอะไรเลย ปัญหาจะยิ่งซับซ้อน การจะแก้ความรุนแรงด้วยความรุนแรง หรือฆ่าให้ตาย เขาก็มีตัวตายตัวแทน ยังไงก็ไม่จบ แต่หากทำให้เขาเข้าถึงการศึกษาที่ดี เข้าถึงอาชีพและมีรายได้ ก็คงไม่มีใครไปชักจูงได้ง่าย และแก้ปัญหาความไม่สงบได้” นายพิทักษ์กล่าว

พิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์
บรรยากาศอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี

3 ปี ของการมีอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี พิสูจน์ชัดผ่านครูๆ ในพื้นที่แล้วว่า สามารถสร้างพฤติกรรมรักการอ่าน รักการเรียนรู้ได้จริง เป็นจุดเริ่มต้นให้นักเรียนปัตตานี มีผลการสอบโอเน็ตเฉลี่ยทุกรายวิชาดีขึ้นจากเดิม ถือเป็นความหวังที่ครูๆ ในพื้นที่ อยากให้อุทยานการเรียนรู้ปัตตานีเดินหน้าต่อ และคอยหนุนเสริมบทบาทโรงเรียน สร้างการเรียนรู้มีคุณภาพ

ภารกิจสร้างการเรียนรู้ สร้างสันติสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image