พระปณิธาน ‘กรมพระศรีสวางควัฒน’ 11 ปี รพ.เฉพาะทางโรคมะเร็ง สู่สถาบันการแพทย์ครบวงจร

พระปณิธาน ‘กรมพระศรีสวางควัฒน’ 11 ปี รพ.เฉพาะทางโรคมะเร็ง สู่สถาบันการแพทย์ครบวงจร

ด้วยพระวิสัยทัศน์ นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ มาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและดูแลสุขอนามัยประชาชน จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2552 ให้บริการเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง บัดนี้ ได้พัฒนาและยกระดับสู่การเป็นสถาบันการแพทย์ครบวงจร

ภายในงานเฉลิมฉลองครบรอบ 11 ปี “ภัทรมหาราชานุสรณ์” สานต่อพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ณ ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผยว่า ปีนี้โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้ชูการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศ 5 ด้าน เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์เฉพาะทางแบบครบวงจร ได้แก่

Advertisement

1.ด้านมะเร็ง ได้นำเทคโนโลยีการรักษาใหม่ๆ เข้ามาใช้อย่างต่อเนื่อง อย่างล่าสุดคือ ได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการวางแผนรักษาแก่ผู้ป่วยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และเปิดให้โรงพยาบาลในเครือข่ายทั่วประเทศ ได้เข้าถึงบริการในระบบดังกล่าว เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยมะเร็งทุกสิทธิการรักษา ได้เข้าถึงการวางแผนการรักษามะเร็งที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานสากล

2.ด้านหัวใจและหลอดเลือด เพราะกลุ่มโรคนี้พบบ่อยในประเทศไทย ผู้ป่วยหลายรายมีอายุมากและเป็นโรคดังกล่าว จึงได้นำเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อการผ่าตัดรักษาโรคหัวใจอย่างครบวงจร

3.ด้านกระดูกและข้อ มีศัลยแพทย์เฉพาะทางกระดูกและข้อที่ครอบคลุมทุกด้าน

Advertisement

4.ด้านอายุรกรรมเฉพาะทาง มีอายุรแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง อาทิ เบาหวาน โรคไต ทางเดินอาหาร

และ 5.ด้านภาพวินิจฉัย ปัจจุบันให้บริการอยู่ 2 ส่วน ได้แก่ ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ เป็นเครื่องมือการสร้างภาพวินิจฉัยขั้นสูงในระดับโมเลกุล เพื่อการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็ง โรคระบบประสาท และโรคหัวใจอย่างครบวงจร และศูนย์ภาพวินิจฉัยและร่วมรักษาเพื่อปวงชน มีนักรังสีเทคนิคและรังสีแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางให้บริการ

แม้จะยกระดับเป็นสถาบันการแพทย์ครบวงจร มีเครื่องมือทางการแพทย์ทันสมัยแห่งแรกๆ ในประเทศ แต่โรงพยาบาลก็ยังดำเนินตามพระปณิธาน ในการเป็นที่พึ่งรักษาพยาบาลให้กับประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงได้ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย และผู้มีรายได้ปานกลาง ให้ได้รับการรักษาเท่าคนฐานะดี ผู้ป่วยยากไร้หลายคนทรงรับไว้ในพระอนุเคราะห์ ขณะที่ความคืบหน้าการสร้างศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 400 เตียง ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ เผยว่า ก้าวหน้าไปกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการเดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นเดือนมหามงคล

“แม้ศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ จะได้รับงบประมาณจากรัฐ ในการก่อสร้างอาคารและจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ แต่พระองค์ทรงมีพระประสงค์ให้ศูนย์มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ เพื่อนำมารักษาประชาชนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เราจึงต้องหาทุนเพิ่มเพื่อจัดซื้อเอง ขณะนี้ยังขาดอยู่อีก 2-3 พันล้านบาท ฉะนั้นก็อยากเชิญชวนมาบริจาคเงิน” ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิกล่าว

ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์

ภายในงานมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่ระลึกการกุศลคอลเล็กชั่นใหม่ หลากลาย หลายชีวิต ชุด “เสือ” ที่ได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ จำนวน 6 ภาพ เพื่อนำมาต่อยอดจัดทำผลิตภัณฑ์ที่ระลึกการกุศล รวมถึงชุดหน้ากากผ้าการกุศล 4 สี 4 ลายโรคไลฟ์สไตล์ ถ่ายทอดภาพพิมพ์ลายที่แสดงถึงการรณรงค์ป้องกันรักษาสุขภาพ สามารถหาซื้อได้ร้านผลิตภัณฑ์ที่ระลึกในพระดำริ 906 ชั้น 1 อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ หรือช่องทางออนไลน์ทาง เช่น Shopee ค้นหาคำว่า มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์

สามารถร่วมบริจาคสมทบทุนผ่านการโอนเงินได้ที่ชื่อบัญชี มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ ธนาคารทหารไทย เลขที่ 236-1-00491-0 และธนาคารกรุงเทพ เลขที่ 942-3-00099-2 โดยยอดบริจาค 1 ล้านบาทขึ้นไป จะได้รับการจารึกชื่อในอาคารศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ และการบริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image