หนูถูกครูทำอนาจาร! เขย่าปัญหาซุกใต้พรม โรงเรียนไม่ใช่สถานที่ปลอดภัย

โรงเรียนไม่ใช่สถานที่ปลอดภัย

หนูถูกครูทำอนาจาร! เขย่าปัญหาซุกใต้พรม โรงเรียนไม่ใช่สถานที่ปลอดภัย

จากกรณีที่มีนักศึกษาหญิง ผู้ใส่ชุดนักเรียนออกมาชูป้ายว่า “ถูกทำอนาจารในโรงเรียน” ในการชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่านักเรียนเลว บริเวณใต้สถานีไฟฟ้าบีทีเอสสยาม หน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ซึ่งสร้างกระแสบนโลกโซเชียลต่างๆ นานา

ทั้งนี้ นักศึกษาคนนี้ เปิดเผยผ่านรายการเจาะลึก ทั่วไทยว่า เธอแสดงออกด้วยความบริสุทธ์ใจ ส่วนที่กล่าวว่า เรียนจบแล้วไปใส่ชุดนักเรียนนั้น ไม่มีกฎหมายข้อไหน ที่บอกว่านักเรียนที่พ้นสภาพจะไม่มีสิทธิใส่ชุดนักเรียน และสิ่งที่ทำไม่ได้มาดิสเครดิตรัฐบาล

“ยืนยันว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริง และถึงต่อให้ไม่ใช่เรื่องจริง เราก็เป็นตัวแทนสื่อสารเรื่องนี้ ว่ามันเกิดขึ้นจริงๆ โดยเรื่องดังกล่าว เกิดขึ้นตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ผ่านมาแล้วประมาณ 5 ปีได้”

เธอเผยถึงเหตุที่เพิ่งลุกขึ้นมาพูดว่า คิดว่ามันก็คงจะยาก ต้องกลับมายอมรับว่าโรงเรียนไม่ได้ดี 100% ต้องกลับมายอมรับ และเกิดการคุกคามทางเพศ และความรุนแรงในโรงเรียนจริงๆ เมื่อรับความจริงก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องการให้เด็กมีองค์ความรู้เกี่ยวกับสิทธิในร่างกายตัวเอง เขาควรจะรู้ว่าเขามีสิทธิอะไร เมื่อเกิดเหตุ เขาต้องไปแจ้งใคร ปฏิเสธได้ไหม โรงเรียนมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ มีกฎหมาย ศธ. ลงมาดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง

Advertisement

“หลังออกมาเคลื่อนไหว ก็ได้ฟีดแบ๊กว่า ทำไมไปอยู่สถานที่ตรงนั้น แต่งตัวอย่างไร นี่เป็นวัฒนธรรมที่ผู้กระทำผิดไม่ได้รับการลงโทษ เพราะทำให้เหยื่อหวาดกลัว” นักศึกษากล่าว

อย่างไรก็ตาม จากกรณีของนักศึกษาดังกล่าว ได้จุดประเด็น “นักเรียนถูกกระทำอนาจารในโรงเรียน” กลับมาอีกครั้ง หลังจากที่มีข่าวครึกโครมเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา กับกรณี “5 ครูหื่น 2 รุ่นพี่” ร่วมกันกระทำอนาจาร รุมโทรมนักเรียนหญิง ชั้น ม.2 และ ม.4 มานานกว่า 1 ปี

สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวมิได้เพิ่งเกิดขึ้น ซึ่งรากของปัญหา แท้จริงเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง “อำนาจนิยม”

Advertisement

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวไว้ในงานเสวนา “ข่มขืน” ใต้วงจรอำนาจ และทางออกจากวังวนปัญหา ที่แม้จะกล่าวไว้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ทุกคำพูดยังตอกย้ำข้อเท็จจริงในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยว่า จากข้อมูลศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในรอบ 4 ปี (พ.ศ.2556-2560) พบว่า มีเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศสูงถึง 727 ราย ในจำนวนนี้เป็นครูบุคลากรทางการศึกษา 53 ราย นอกจากนี้มูลนิธิยังได้เก็บข้อมูลปี 2560 จากข่าวหนังสือพิมพ์ พบว่ามีข่าวล่วงละเมิดทางเพศเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี กว่า 42 ข่าว อายุ 11-20 ปี 145 ข่าว ในจำนวนนี้มี 17 ข่าว ที่ก่อเหตุในโรงเรียน ส่วนอาชีพครูที่เป็นผู้กระทำมี 13 ข่าว

“เรื่องนี้อยู่ในที่มืด ซึ่งก็มีคำถามตามมาว่า ทำไมไม่มีอะไรดีขึ้น ที่เป็นอย่างนี้เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง 1.เกิดจากระบบอำนาจนิยมในสถานศึกษา เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจเหนือ กำหนด ออกคำสั่ง ใช้อำนาจบังคับหรือหลอกล่อ 2.ระบบอุปถัมภ์ ต่างตอบแทน ครูมักจะช่วยเหลือกัน อีกทั้งครูเป็นผู้ที่เคารพนับถือจากคนในชุมชน มีความสัมพันธ์กับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น นักการเมือง ตำรวจ”

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

ซึ่งอำนาจนิยมนี้ ยังซ้อนด้วยระบบคิด “ชายเป็นใหญ่”

จะเด็จขยายความว่า 3.ระบบคิดชายเป็นใหญ่ ถูกปลูกฝังจนขาดความยับยั้งชั่งใจ อีกทั้งมาพร้อมกับค่านิยม “กินเหล้า เคล้านารี” 4.มายาคติ กล่าวโทษผู้ถูกกระทำ ตีตรา เช่น เป็นเด็กเกเร แต่งตัวโป๊ ทำตัวไม่เหมาะสม ต้องการเงิน และ 5.กระบวนการยุติธรรม เมื่อเกิดเหตุ มักจะถูกไกล่เกลี่ยยอมความ อีกทั้งทัศนคติผู้ปฏิบัติงาน ยังขาดความเข้าใจประเด็นทางเพศ และขาดความละเอียดอ่อน ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกว่าถูกกระทำซ้ำผ่านกระบวนการทางกฎหมาย” จะเด็จอธิบาย

ด้าน ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท แผนงานสุขภาวะเพื่อผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า กรณีของความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นในโรงเรียน เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และยังเชื่อมโยงไปถึงวัฒนธรรมเรื่องเพศในสังคมไทย ที่ผู้ชายจะมีอิสระทางเพศมากกว่าผู้หญิง

“มีชุดความคิดที่ว่าผู้ชายต้องมีประสบการณ์ทางเพศที่จะได้มาด้วยวิธีใดก็ได้ ทั้งเป็นคู่รักกัน ใช้ความรุนแรงก็ได้ หรือซื้อเอาก็ได้ รวมไปถึงการไปมีความสัมพันธ์ทางเพศนอกการสมรส มีกิ๊กมีน้อยก็ได้ กับเรื่องนี้สังคมก็ค่อนข้างที่จะอะลุ้มอล่วยให้ แต่ในขณะเดียวสังคมไทยกลับควบคุมเสรีภาพทางเพศของผู้หญิง โดยเฉพาะเด็กหญิง ที่ได้รับการสอนให้รักนวลสงวนตัว หากมีพฤติกรรมที่มองว่าออกนอกลู่นอกทางก็จะมีคำเรียกว่าเด็กแรด เด็กใจแตก ซึ่งคำเหล่านี้ใช้สำหรับเด็กผู้หญิง ไม่เคยถูกใช้กับเด็กผู้ชาย”

ดร.วราภรณ์เผยอีกว่า ที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน คือด้วยสภาพสังคม เศรษฐกิจในปัจจุบัน ยังมี “กลุ่มเด็กเปราะบาง” ที่ไม่มีพ่อแม่ดูแลคุ้มครองใกล้ชิด ต้องอาศัยอยู่กับญาติ หรือผู้สูงอายุ

“ฉะนั้นคำว่า เด็กเสียไปแล้ว ใจแตก แรด ควรถูกยกเลิกออกไปเลยจากคำอธิบาย หรือคำพูดของบุคลากรทางการศึกษา และสังคม รวมไปถึงสื่อมวลชน เพราะสิ่งที่พวกเขาประสบอยู่ในชีวิตประจำวันไม่ใช่สิ่งที่เขาเลือกเอง แต่เป็นเพราะสภาพแวดล้อมทางสังคม และผู้มีอำนาจไปกระทำกับเขา”

“พวกเขาจึงเป็นกลุ่มเด็กที่ควรได้รับการคุ้มครอง ไม่ใช่ถูกประณาม”

สุดท้าย ดร.วราภรณ์ย้ำว่า เด็กยังไงก็คือเด็ก ยิ่งเด็กที่มีความเปราะบางทางสังคม กระทรวงศึกษาฯ และโรงเรียนยิ่งต้องปกป้องดูแลเป็นพิเศษเพื่อให้เด็กเหล่านี้เติบโตได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ

“ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่ปัญหาระดับบุคคลของครูที่กระทำผิดบางคน แต่เป็นปัญหาของระบบการศึกษาไทยทั้งระบบ ถ้าจะแก้ปัญหาที่รากเหง้า กระทรวงศึกษาฯต้องมีนโยบายและมาตรการเชิงรุก โดยเริ่มตั้งแต่สถาบันที่ผลิตและรับรองวิทยฐานะของครูต้องเข้มงวด ปลูกฝังจิตสำนึกการเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักเรียน และสำนึกในหน้าที่ด้านการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก”

“ขณะเดียวกัน กระทรวงต้องมีนโยบายและแนวทางที่จะประกัน ว่าโรงเรียนทุกแห่งในประเทศไทย จะเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยจากความรุนแรงทางเพศ นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาฯต้องร่วมเป็นเจ้าทุกข์ในการดำเนินคดีทางอาญากับผู้กระทำผิด รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและจัดการให้เด็ก ได้รับการเยียวยาทางจิตใจและครูที่ถูกตัดสินว่ากระทำผิดจริง ต้องถูกลงโทษทางวินัยขั้นสูงสุด รวมถึงการถอนใบประกอบวิชาชีพครู ต้องไม่อนุญาตให้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนโดยตรงอย่างเด็ดขาด เพื่อลดโอกาสการกระทำผิดซ้ำ” ดร.วราภรณ์กล่าว

ขอจบด้วยคำถามที่กลุ่มนักเรียนเลว ถามว่า รู้แบบนี้…คุณจะเลือกเมินเฉยหรือปกป้อง?

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท แผนงานสุขภาวะเพื่อผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image