พระราชปณิธานยิ่งใหญ่ สมเด็จพระราชินี ‘พัฒนาคน’ เท่ากับ ‘พัฒนาชาติ’

“..การพัฒนาคนเป็นสิ่งสำคัญเท่ากับชาติ ถ้าไม่พยายามพัฒนาคนให้อยู่ในสภาพที่อยู่ดีกินดี มีการศึกษา และอาชีพ คนก็ไม่สามารถพัฒนาชาติให้เจริญได้ การพัฒนาคนจึงเท่ากับการพัฒนาประเทศ..”

พระราชดำรัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2542 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สะท้อนให้เห็นว่าทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งก็คือ “ราษฎร” ให้มีคุณภาพและศักยภาพ จึงทรงมุ่งมั่นสนับสนุนให้คนไทยมีความรู้และมีการศึกษาให้มากที่สุด

2191

2188

Advertisement

พระราชกรณียกิจ “ด้านการศึกษา” จึงเป็นอีกหนึ่งงานของพระองค์ที่นำมาซึ่งคุณค่าและประโยชน์ให้กับประเทศชาติมากมายมหาศาล ทรงส่งเสริมการศึกษาทั้งในและนอกระบบ พระราชทานทุนการศึกษาแก่นักเรียนยากจนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา โดยทรงรับเป็น “นักเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์”

ท่านผู้หญิงนราวดี ชัยเฉนียน นางสนองพระโอษฐ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเห็นว่า การศึกษา การอบรมด้านจริยธรรมและศีลธรรม เป็นพื้นฐานที่จำเป็นและสำคัญมากในชีวิต เวลาเสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วประเทศ ทรงพบว่ามีราษฎรจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ห่างไกลความเจริญมีชีวิตที่ลำบาก และเด็กๆ ไม่ค่อยมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา จึงทรงมีพระราชปณิธานที่จะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้กับประชาชนของพระองค์

“พระองค์รับสั่งว่า คนไหนอยากเรียนและสามารถเรียนได้ จะทรงอุปการะเรื่องการศึกษา นี่จึงเป็นที่มาของนักเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์ การพระราชทานทุนการศึกษาไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ทั้งสิ้น จะพระราชทานให้เขาได้เรียนตามสติปัญญาความสามารถสูงสุดที่เขาจะเรียนได้จนจบปริญญาตรี นักเรียนทุน ถ้ารับตั้งแต่อนุบาลจนจบปริญญาตรี 1 คนจะเรียนประมาณ 19 ปี”

ท่านผู้หญิงนราวดีบอกว่า นักเรียนที่เข้ามามีหลากหลาย มีทั้งจากเสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรแล้วทรงพบก็จะทรงรับเข้ามา มาจากการถวายฎีกา หรือมาจากการที่เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ หรือทรงทราบจากแหล่งต่างๆ ซึ่งทุนการศึกษาทั้งหมดเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์

“แม้แต่คนพิการที่สามารถเรียนได้ก็พระราชทานให้เขาเรียน บางทีทรงพบคนไข้ป่วย เขาเป็นห่วงลูกเพราะกลัวไม่หาย กลัวว่าจะไม่มีใครดูแลลูก ก็รับสั่งกับเขาว่าไม่ต้องห่วง ฉันจะดูแลลูกให้เอง หรือบางทีทรงพบลูกกำพร้า ไม่มีพ่อแม่ อยู่กับปู่ย่าตายาย ก็ทรงรับเป็นนักเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์”

สำหรับเกณฑ์การคัดเลือก เพื่อให้โอกาสทุกคนได้รับการศึกษาจึงตั้งเกณฑ์เฉลี่ยไว้เพียง 2.0 เท่านั้น ด้วยเชื่อว่าคนเราสามารถพัฒนาได้ แต่ถ้าเกรดต่ำกว่านั้น ทางกองราชเลขาฯก็จะแนะนำให้ไปเรียนด้านศิลปาชีพ

“นักเรียนทุกคนจะมีประวัติเป็นแฟ้มประจำตัว และทุกเทอมต้องเขียนรายงานความเป็นอยู่ ผลการเรียน เข้ามาที่กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่เราจะได้ทราบว่าเขายังเรียนอยู่”

ท่านผู้หญิงนราวดี ชัยเฉนียน
ท่านผู้หญิงนราวดี ชัยเฉนียน

นอกจากทุนการศึกษาแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ยังทรงใส่พระราชหฤทัยเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนด้วย

“พระองค์ทรงกำชับพวกเราที่ได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดูแลนักเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์ว่า เราไม่ได้มีหน้าที่แค่มอบเงินพระราชทานเท่านั้น เราต้องเป็นที่พึ่งให้เขา ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ ให้ความอบอุ่น มีปัญหาอะไร เราก็แนะนำหรือช่วยแก้ไข ให้เป็นที่พึ่งทางใจได้”

นอกจากนี้ยังทรงตั้ง “ทุนสิริกิติ์บรมราชินีนาถ” ขึ้น ภายหลังจากที่ธนาคารออมสินทูลเกล้าฯถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลด้านการศึกษา ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา

“เมื่อมีทุนสิริกิติ์ฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะทรงเลือกนักเรียนที่มีคะแนนสูงสุดให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ขณะนี้มีทั้งหมด 10 รุ่น 21 คน จบปริญญาเอกกลับมา 5 คน ปริญญาโท 1 คน ในเดือนสิงหาคมนี้กำลังจะจบกลับมาอีก 1 คน และจะเดินทางไปเรียน 1 คน โดยมี 4 คนเป็นอาจารย์สอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”

ปัจจุบันมีนักเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์ประมาณ 5,000 คน และยังมีเข้ามาอีกเรื่อยๆ จากการที่นักเรียนติดต่อเข้ามาเอง การถวายฎีกา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรและทรงพบก็จะทรงรับเข้ามา

“พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา นับได้ว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงสมพระราชหฤทัยแล้ว ด้วยมีพระราชประสงค์เพื่อให้เขาเหล่านี้พึ่งตนเองได้ ยืนบนขาตนเองได้ เป็นประชาชนที่มีคุณภาพของประเทศชาติต่อไป” ท่านผู้หญิงนราวดีกล่าว

นักเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ

มีลอย อุ่นเฟย ข้าราชการระดับชำนาญการ สังกัดกองศิลปาชีพ สำนักราชเลขาธิการ อายุ 41 ปี อดีตนักเรียนทุนในพระบรมราชานุเคราะห์ ชนเผ่ากะเหรี่ยง (ปกากะญอ) เล่าเรื่องจุดเริ่มต้นที่มีวันนี้ได้ของเธอว่า

มีลอยเป็นเด็กสาวชาวกะเหรี่ยงที่สามารถพูดและใช้ภาษาไทยได้ดี จากการที่มีโอกาสได้ศึกษาในระบบการศึกษานอกโรงเรียน จนจบ ม.6 จึงได้รับโอกาสสำคัญที่สุดในชีวิตคือการได้เข้าทำงานถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จฯทรงเยี่ยมราษฎรที่บ้านห้วยปูลิง หมู่ 3 ต.ม่อนจอง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ทำหน้าที่เป็นล่ามภาษากะเหรี่ยง

“จากการที่ได้ถวายงานในครั้งนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานทุนการศึกษาให้ศึกษาต่อจนจบปริญญาตรี วิชาเอกภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มีลอยไม่เคยคิดว่าตนเองจะได้มีโอกาสเช่นนี้ เพราะการมีชีวิตอยู่บนดอยเรื่องการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก เมื่อเรียนจบมีลอยยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณอีกครั้ง โดยได้รับพระราชทานโอกาสครั้งสำคัญยิ่งให้เข้าทำงานถวายในกองศิลปาชีพ สำนักราชเลขาธิการ ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้”

มีลอย อุ่นเฟย
มีลอย อุ่นเฟย

หลังจากได้รับประสบการณ์ในการงานที่ทำถวาย มีลอยยังได้ใช้โอกาสพัฒนาตนเองศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ.2557

“ชีวิตมีลอยได้มีวิวัฒนาการขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้ และสิ่งที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ตามมา พี่น้องในชนเผ่าได้มองเห็นตัวเราเป็นเสมือนต้นแบบในการใฝ่ใจพากเพียรทางการศึกษา แม้ขาดแคลนทุนทรัพย์ก็ต่อสู้ดิ้นรน เนื่องจากเห็นความสำคัญของการศึกษา จนทำให้เราพึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งยังเผื่อแผ่เกื้อกูลผู้คนโดยรอบ นี่คือผลผลิตทางการศึกษาที่ทั้งสองพระองค์พระราชทานให้แก่ผู้ด้อยโอกาส” มีลอยกล่าวด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

พ.ต.อ.ประพันธ์ กองมงคล
พ.ต.อ.ประพันธ์ กองมงคล

อีกหนึ่งอดีตนักเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์ พ.ต.อ.ประพันธ์ กองมงคล อายุ 57 ปี นักกายภาพบำบัด กลุ่มงานเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลตำรวจ ย้อนเล่าถึงเรื่องราวชีวิตว่า เป็นเด็กบ้านนอกอยู่ จ.พะเยา เป็นคนไทยลื้อ ฐานะทางบ้านยากจน พ่อแม่รับจ้างทำนา แต่ชีวิตเป็นคนที่อยากเรียน จึงดิ้นรนมาเรียนที่กรุงเทพฯ โดยมาอาศัยอยู่กับญาติ ขอทุนเรียนมาเรื่อยๆ จนจบ ม.6 พอจะเข้ามหาวิทยาลัย ครูประจำชั้นแนะนำให้ถวายฎีกาขอทุนพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงตัดสินใจเขียนฎีกาเข้ามา

“พอได้รับให้เป็นนักเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์ ก็ยึดมั่นว่าจะตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด ซึ่งผมสอบติดมหาวิทยาลัยมหิดลได้ อีกทั้งยังได้รับความเมตตาจากท่านผู้หญิง ที่เปรียบเสมือนแม่คนหนึ่งช่วยสั่งสอนในเรื่องการเรียนและการดำเนินชีวิต ทำให้เด็กบ้านนอกอย่างเรารู้สึกอุ่นใจมาก”

แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ พ.ต.อ.ประพันธ์จำขึ้นใจและนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตถึงปัจจุบัน

“พระองค์รับสั่งว่า คนเราต้องเรียนรู้เพื่อพัฒนาชีวิตของเรา ไม่ใช่เก่งอย่างเดียว ต้องเป็นคนดี ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด มีคุณธรรม จริยธรรม”

ซึ่ง พ.ต.อ.ประพันธ์ได้ปฏิบัติตนดั่งพระราชดำรัสเสมอมา ตั้งแต่เรียนปริญญาตรี จนกระทั่งทำงาน และขณะทำงานก็สละเวลาส่วนหนึ่งศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้วยทุนทรัพย์ของตัวเอง หรือแม้กระทั่งมีลูก เขาก็สอนลูกสาวคนเดียวซึ่งกำลังศึกษาในระดับปริญญาโท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ปฏิบัติเฉกเช่นเดียวกัน

“ทุกวันนี้ผมรับราชการ มีครอบครัวและลูกที่ดี ก็เพราะพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ รู้สึกว่าไม่ต้องรวยก็มีความสุขได้ และอีกไม่กี่ปีจะเกษียณ ตั้งใจว่าจะยังทำงานต่อไป อาจเป็นอาสาสมัครไปช่วยเหลือโรงพยาบาล องค์กรต่างๆ จะทำจนกว่าไม่มีแรงทำ เพื่อตอบแทนแผ่นดิน” พ.ต.อ.ประพันธ์กล่าว

กิตติ เพ็ชรสันทัด
กิตติ เพ็ชรสันทัด

ปิดท้าย กิตติ เพ็ชรสันทัด อายุ 53 ปี ผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษาระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นนักเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนจบปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เล่าว่า คุณพ่อเคยเป็นข้าราชการใน อ.หัวหิน และรับใช้ถวายงาน เมื่อคุณพ่อเสียชีวิต เขาและพี่น้องทั้ง 6 คน จึงได้เป็นนักเรียนทุนในพระบรมราชานุเคราะห์ ซึ่งทุกวันนี้พี่น้องมีหน้าที่การงานทำดีๆ ทุกคน

“ในอดีตผมเป็นเด็กกำพร้าอายุ 5 ขวบ เป็นเด็กไม่มีอนาคตอะไร การได้รับโอกาสทางการศึกษาจากพระองค์ เป็นแรงบันดาลใจให้ผมตั้งใจเรียนเพื่ออนาคตที่ดีๆ”

เมื่อเรียนจบปริญญาตรี กิตติเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และทำงานที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

“ครอบครัวของเราสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์มาก โดยเฉพาะคุณแม่ที่มักเตือนเสมอว่า การเป็นนักเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์ต้องใฝ่รู้ ใฝ่เรียน และช่วยพัฒนาประเทศชาติ เนื่องจากเราเป็นนักเรียนทุน แม้ทุนจะไม่มีเงื่อนไข เมื่อเรามีอนาคตที่ดีแล้ว เราต้องทดแทนคุณแผ่นดิน คุณแม่จึงขอให้ลูกๆ ทำงานในองค์กรรัฐหรือรัฐวิสาหกิจเท่านั้น เพื่อทดแทนคุณแผ่นดิน”

กิตติบอกว่า พระราชกรณียกิจด้านการศึกษาเป็นพระวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล เพราะเป็นช่องทางในการพัฒนาชีวิตคนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี สามารถสร้างตัวเองได้อย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง

ทุกวันนี้ ไม่เพียงจะตอบแทนคุณแผ่นดินด้วยการพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศ กิตติยังหยิบยื่นโอกาสที่เขาเคยได้รับให้แก่ผู้ที่ขาดโอกาสทางการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ โดยนำองค์ความรู้เรื่องการวางระบบไฟฟ้าไปเผยแพร่ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ภูฏาน ลาว และมาเลเซีย

“การศึกษาที่พระองค์พระราชทานให้ นอกจากสร้างชีวิตของผมให้ดีแล้ว ยังสร้างครอบครัวที่ดีให้กับผม ผมมีชีวิตและอนาคตมาได้ ก็เพราะทุนพระราชทานนักเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์” กิตติกล่าว

นับเป็นพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่สัมฤทธิผลยิ่ง ทรงสร้างคนคุณภาพให้ประเทศชาติ ให้สามารถพึ่งตนเองได้ สร้างครอบครัวที่ดี และยังมีทัศนคติที่ดีในการทำประโยชน์ให้สังคม นับเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและสร้างประโยชน์มหาศาลให้กับประเทศไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image