ผลวิจัยชี้เชื้อรา2ชนิด อาจอยู่รอดบน’ดาวอังคาร’

นางโรซา เดอ ลา ตอร์เร นักชีวดาราศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยีการบินอวกาศแห่งชาติ ของสเปน เผยแพร่รายงานผลการศึกษาวิจัยการยังชีพของเชื้อราภายใต้สภาวะแวดล้อมคล้ายคลึงกับสภาพบนพื้นผิวดาวอังคาร ผ่านทางวารสารวิชาการชีวดาราศาสตร์ เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า มีเชื้อราอย่างน้อย 2 ชนิดจากพื้นโลกที่อาจสามารถมีชีวิตรอดอยู่ในสภาพแวดล้อมบนพื้นผิวดาวอังคารได้ หลังจากการวิจัยด้วยการทดลองพบว่าเชื้อราทั้งสองชนิดนั้นสามารถรอดชีวิตจากการทดลองปล่อยไว้ในสภาพแวดล้อมที่คล้ายดาวอังคารบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) นานถึง 18 เดือนได้

เชื้อราทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวเป็นเชื้อราขนาดเล็กจิ๋วที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “ครายโอมายซิส แอนตาร์กติคัส” กับ “ครายโอมายซิส มินเทรี” ซึ่งเก็บรวบรวมมาจาก หุบเขา แม็คเมอร์โด ดราย บนทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งในไม่กี่แห่งบนโลกที่มีสภาพแวดล้อมคล้ายคลึงกับสภาพพื้นผิวของดาวอังคารมากที่สุด เชื้อราดังกล่าวจัดอยู่ในประเภท “คริปโตเอนโดลิธิค” ซึ่งหมายความว่ามันเป็นเชื้อราที่เติบโตแทรกอยู่ตามรอยแตกของก้อนหิน ในการทดลองเชื้อราดังกล่าวถูกนำไปติดตั้งไว้กับแพลทฟอร์มเพื่อการทดลอง ที่พัฒนาขึ้นโดย องค์การอวกาศแห่งยุโรป (อีเอสเอ) ซึ่งเรียกชุดทดลองดังกล่าวว่า “เอ็กซ์โพส-อี”

“เอ็กซ์โพส-อี” ถูกนำขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ จากนั้นนักวิทยาศาสตร์ประจำสถานีไอเอสเอสก็นำมันออกเดินอวกาศไปติดตั้งอยู่บริเวณภายนอกของห้องปฏิบัติการกลางอวกาศ ทิ้งไว้เช่นนั้นนาน 18 เดือน ในสภาพที่คล้ายคลึงกับสภาพแวดล้อมบนพื้นผิวดาวอังคาร คือ มีบรรยากาศที่ประกอบด้วย คาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์ มีแรงกดดันที่ 1,000 ปาสกาล (หรือเทียบเท่าราว 1 เปอร์เซ็นต์ของแรงกดดันบนพื้นโลกที่ระดับน้ำทะเล) รวมทั้งตกอยู่ในสภาวะได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตในระดับสูงตลอดเวลา ทั้งนี้ มีการเก็บเชื้อราตัวอย่างไว้ครึ่งหนึ่ง เพื่อใช้เป็นกลุ่มตัวอย่างในความควบคุมสำหรับการเปรียบเทียบหลังการทดลอง

เดอ ลา ตอร์เร ระบุว่า ผลจากการทดลองพบว่า กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของเซลล์ในกลุ่มเชื้อราที่รับการทดลองสามารถดำรงสภาพอยู่ได้ หรือพูดอีกอย่างก็คือเซลล์ดีเอ็นเอของเชื้อรายังคงมีความเสถียรอยู่สูงมาก อย่างไรก็ตาม มีเพียงไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของเชื้อราในกลุ่มที่รับการทดลองนี้เท่านั้นที่สามารถขยายตัวแพร่ออกไปได้และสร้างอาณานิคมของกลุ่มขึ้นมาได้แม้ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงกับดาวอังคารแล้วก็ตาม

Advertisement

งานวิจัยดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาวิจัยบนสถานีอวกาศนานาชาติ ของอีเอสเอ ที่เรียกว่า “ไลเคนส์ แอนด์ ฟังไจ เอ็กซ์เพอริเมนท์” เรียกย่อสั้นๆ ว่า “ไลฟ์” ซึ่งจะเป็นการศึกษาชะตากรรมของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เกาะอยู่กับก้อนหินหลายชนิดระหว่างการเดินทางระยะยาวในอวกาศบนชุดทดลองแบบเดียวกับ “เอ็กซ์โพส-อี”

ผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวจะช่วยในการประเมินความสามารถในการรอดชีวิต และการดำรงชีวิตอยู่ในระยะยาวของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก รวมถึงจะเป็นดัชนีชี้ชีวภาพบนพื้นผิวดาวอังคารได้ ข้อมูลดังกล่าวเหล่านี้จะกลายเป็นพื้นฐานและข้อมูลอ้างอิงสำหรับการทดลองในอนาคต ซึ่งรวมศูนย์อยู่ที่การค้นหาสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารนั่นเอง

การค้นหาสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารเป็นภารกิจที่มีความสำคัญระดับสูงทั้งของอีเอสเอและขององค์การบริการการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา ที่มีแผนส่งยานโรเวอร์เพื่อการสำรวจพื้นผิวไปยังดาวอังคารเพื่อภารกิจนี้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย นาซาเตรียมส่งยาน มาร์ส โรเวอร์ ไปยังดาวอังคารอีกครั้งในปี 2020

Advertisement

ส่วนอีเอสเอกำหนดส่ง “เอ็กโซมาร์ส” ขึ้นไปสำรวจพื้นผิวดาวอังคารในปี 2018 ที่จะถึงนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image