สุดช็อก เปิดสถิติข่มขืน ‘คนแปลกหน้า’ กระทำมากสุด ‘ซาเล้งของเก่า-ช่างซ่อม’ ห่วง ชายละเมิดชายมากขึ้น

ภาพประกอบ ภัยข่มขืน

สุดช็อก เปิดสถิติข่มขืน ‘คนแปลกหน้า’ กระทำมากสุด ‘ซาเล้งของเก่า-ช่างซ่อม’ ห่วง ชายละเมิดชายมากขึ้น

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวในการเสวนา “ไขปัญหา : เมื่อเด็กและเยาวชนไทยถูกล่วงละเมิดทางเพศ” จัดโดย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว โดยมี เครือข่ายทำงานด้านเด็ก เยาวชน สตรี เข้าร่วมกว่า 100 คน ว่า มูลนิธิฯ ได้รวบรวมข่าวสถานการณ์ความรุนแรงทางเพศปี 2562 ในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ พบว่า มีข่าวความรุนแรงที่เกิดขึ้น จำนวน 333 ข่าว แบ่งเป็น ข่าวข่มขืน ร้อยละ 43.9 ข่าวบังคับค้าประเวณี ร้อยละ11.7 ข่าวพยายามข่มขืน ร้อยละ10.2 ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลที่จัดเก็บปี 2560 พบสิ่งน่าสนใจคือ ข่าวรุมโทรม ข่าวผู้ชายกระทำความรุนแรงทางเพศต่อชายมีแนวโน้มมากขึ้น ขณะที่ภาพรวมถือว่าความรุนแรงทางเพศมีมากขึ้น เมื่อเทียบสถิติที่จัดเก็บเมื่อปี 2560

นางสาวอังคณา กล่าวอีกว่า ขณะที่ผู้ถูกกระทำ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน พบมากที่สุดในช่วงอายุ 11-15 ปี ถึงร้อยละ 47.3 อีกทั้งพบผู้ถูกกระทำมีอายุน้อยสุด คือ เด็กหญิง วัย 4 ขวบ กรณีข่าวถูกน้าชายเสพยาบ้าข่มขืน และอายุมากสุด คือ อายุ 94 ปี กรณีถูกเพื่อนบ้านวัย 63 ปี ข่มขืน ทั้งนี้ พบว่าความสัมพันธ์ระหว่างเหยื่อและผู้กระทำ ส่วนใหญ่เกิดจากคนแปลกหน้า หรือคนไม่รู้จักกัน ร้อยละ 45.9 อาทิ ซาเล้งรับซื้อของเก่า ช่างที่มาซ่อมที่บ้าน รองลงมาเป็นคนรู้จักคุ้นเคยหรือบุคคลในครอบครัว ร้อยละ 45.6 อาทิ คนในครอบครัว คนข้างบ้าน ครู เพื่อน โดยเหตุมักเกิดขึ้นในที่พักของผู้เสียหายมากที่สุดถึงร้อยละ 21 รองลงมาคือ ที่พักของผู้กระทำร้อยละ 14.9 ขณะที่พื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ รองลงมา ชลบุรี ขอนแก่น กระบี่ อุดรธานี

นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล (คนถือไมค์)

หัวหน้าฝ่ายฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า จากข้อมูลข้างต้นและผลการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายที่เข้ามา เราพบว่าเด็กและเยาวชนหลายคนไม่รู้ว่าสัมผัสอันตรายคืออะไร เช่น มาจับ ลูบคลำตามร่างกาย คือการคุกคามทางเพศอนาจารหรือความเอ็นดูจากผู้ใหญ่ ฉะนั้นอยากให้มีการสอนทักษะนี้ รวมถึงการเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ไม่ละเมิดทางเพศต่อกัน” ขณะที่ผู้เสียหายที่ถูกคุกคามและละเมิดมา แม้ระยะหลังจะตัดสินใจแจ้งความดำเนินคดีเอาผิดกับผู้กระทำมากขึ้น แต่เราก็พบความไม่ชัดเจนของข้อกฎหมาย โดยเฉพาะการคุกคามอนาจารเล็กๆ เช่น มอง สัมผัส ยังไม่ชัดเจนว่าผิดอย่างไรในทางกฎหมาย จะไปแจ้งความก็หาหลักฐานยาก บางคนถูกละเมิดทางเพศมา ไปแจ้งความถูกพนักงานสอบสวนให้เจรจาไกล่เกลี่ยให้จบคดี กระทั่งพนักงานสอบสวนหญิงบางคน แม้จะเป็นผู้หญิงด้วยกัน ก็ยังไม่มีความเข้าใจความละเอียดอ่อนทางเพศ

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image