คู่รัก LGBTQ ชีวิตบนขวากหนาม รอวัน “สมรสเท่าเทียม”
เฝ้ารอคอยมานานกับข้อเรียกร้อง “สมรสเท่าเทียม” ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ หรือแอลจีบีทีคิว แม้จะถูกตอบสนองผ่าน ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. … นำเสนอโดย กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) จ่อเข้าสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ยังไม่ถูกใจแอลจีบีทีคิวหลายคน อีกความหวังกับ “ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ มาตรา 1448” ที่ว่าด้วยการสมรส ปัจจุบันกำหนดให้เพียงชายหญิงสมรสกันได้ แก้ไขให้เป็นบุคคลต่อบุคคลสมรสกันได้ นำเสนอโดยพรรคก้าวไกล ฝ่ายค้าน แม้จ่อตามเข้าสภาฯ เหมือนกัน แต่ในทางการเมือง ความเป็นไปได้ค่อนข้างริบหรี่
จึงต้องพึ่งตัวเอง เริ่มแรกลองไปยื่นขอจดทะเบียนสมรส แบบหญิงรักหญิงกับสำนักงานเขตแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพมหานคร แน่นอนถูกปฏิเสธโดยอ้าง ป.แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ต่อมาได้นำเอกสารปฏิเสธนั้นไปยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง สาระหลักคือให้วินิจฉัยว่า ป.แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 27 ที่กำหนดบุคคลย่อมเสมอกัน และได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายเท่าเทียมกัน หรือไม่
ศาลเยาวชนฯ รับคำร้องและส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กระทั่งถึงวันนัดผู้ร้องมาฟังคำวินิจฉัย แม้สุดท้ายศาลแถลงขอเลื่อนคดีไปนัดหน้า เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้ส่งคำวินิจฉัยคดีนี้มา แต่ก็เป็นบรรยากาศแห่งความยินดี และเปี่ยมด้วยความหวัง
นัยนา สุภาพึ่ง ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ เล่าด้วยรอยยิ้มว่า นี่ถือเป็นครั้งแรกที่สถาบันตุลาการ ยืนเคียงข้างประชาชนหลากหลายทางเพศ มองว่ากฎหมายสมรสมีการเลือกปฏิบัติ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แม้จะยังไม่มีคำวินิจฉัยมา แต่ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 ท่าน ได้รับเรื่องนี้ไปศึกษา จากที่ผ่านมาเคยยื่นคำร้องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินถึง 2 ครั้ง เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แต่คำร้องถูกตีตกตั้งแต่ขั้นต้น จากมุมมองที่ว่าไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ และกำลังมีกฎหมายคู่ชีวิตอยู่แล้ว ทั้งที่จริงๆ เป็นกฎหมายที่ให้สิทธิคนไม่เท่ากัน
ด้าน พวงเพชร เหงคำ และ เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ๊ง คู่รักหญิงรักหญิง ซึ่งใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเรียบง่ายที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน มากว่า 13 ปี แต่ขณะเดียวกันก็เผชิญความทุกข์ร่วมกันจากกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ตั้งแต่การเซ็นรับรองเพื่อเข้ารับบริการรักษาพยาบาลแทนไม่ได้ รวมถึงไม่สามารถกู้เงินร่วมกันเพื่อซื้อบ้านได้ ทำประกันชีวิต จะระบุให้คนรักเป็นผู้รับประโยชน์ ก็ไม่สามารถระบุได้ มักถูกเรียกหาทะเบียนสมรส ทั้งที่คู่รักต่างเพศแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน สามารถทำได้ทุกอย่างด้วยซ้ำ
พวงเพชรและเพิ่มทรัพย์ เล่าเปิดใจว่า เพราะชีวิตคู่ที่เข้าไม่ถึงสิทธิ ทำให้ต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย เราเพียงต้องการสมรสเท่าเทียม จึงมาร้องศาล เพื่อหวังสร้างบรรทัดฐานให้คู่รักเพศเดียวกัน สามารถมีสิทธิสมรสเท่าเทียมอย่างแท้จริง
ลุ้นฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 26 เมษายน 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ศาลรัฐธรรมนูญ มติเอกฉันท์ ตีตก 2 คำร้องล้มเลือกส.ว. ไม่เข้าหลักเกณฑ์กม.กำหนด
- Google ร่วมยินดีกม.สมรสเท่าเทียม ผ่านหน้า Search พร้อมเผยเทรนด์ค้นหา ‘สมรสเท่าเทียม’
- คู่รักพิธีกรดัง โพสต์ขอบคุณ ‘เศรษฐา-ผู้เกี่ยวข้อง’ ผลักดันสมรสเท่าเทียมจนสำเร็จ
- กทม.พร้อมจดทะเบียนสมรสเท่าทียม รอแนวทางปฏิบัติจากกระทรวงมหาดไทย