เลี้ยงลูกอย่างไร ให้เติบโตเป็น ‘คนดี’ ในโลกยุคดิจิทัล

เลี้ยงลูกอย่างไร เครดิตภาพ monkeybusinessimages

เลี้ยงลูกอย่างไร ให้เติบโตเป็น ‘คนดี’ ในโลกยุคดิจิทัล

เลี้ยงลูกอย่างไร – ไม่ว่ายุคไหนๆ พ่อแม่ทุกคนย่อมปรารถนาเลี้ยงลูกให้เติบโตเป็นคนที่มีความสุข ประสบความสำเร็จในชีวิต ได้เจอความรักที่ดี มีครอบครัวที่ดี มีโอกาสเห็นลูกๆ ของพวกเขาเติบโต และได้ทำตามความฝันของตัวเอง แต่ลึกๆ ในใจ เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนต่างแอบคิดหวังให้ลูกเติบโตเป็นคนที่มีคุณธรรม เป็นคนมีเมตตา ซื่อสัตย์ และเคารพ ให้เกียรติผู้อื่น

แล้วพ่อแม่จะทำอย่างไร เพื่อเสริมสร้างคุณสมบัติต่างๆ ที่ว่านั้นให้มีอยู่ในตัวลูกๆ รวมทั้งวิธีการที่จะปลูกฝังการทำงานเป็นทีมเวิร์ก การรู้จักสื่อสารกับผู้อื่น และความเพียรพยายามในตัวลูกๆ จากที่ส่วนใหญ่เด็กๆ จะเรียนรู้คุณสมบัติเหล่านั้นจากการดูตัวอย่างจากพ่อแม่ จากสิ่งที่พ่อแม่ทำ และจากประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากโรงเรียน และสังคมต่างๆ ที่เด็กอยู่

แต่ปัจจุบันสื่อก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อเด็กๆ เยาวชน นับตั้งแต่ภาพยนตร์ ซีรีส์ หนังสือ วิดีโอเกม และสื่อโซเชียล ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตของเด็กๆ ยุคนี้ นั่นจึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้กับการที่เด็กจะเรียนรู้บทเรียนสำคัญในชีวิต เรียนรู้ลักษณะนิสัยผ่านสื่อต่างๆ เหล่านั้น

และต่อไปนี้เป็นแนวทางที่พ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถทำได้เพื่อเสริมสร้าง ลักษณะนิสัยที่ดีให้แก่ลูกๆ ที่ ซีเอ็นเอ็น รวบรวมมาให้อ่านกันเป็นแนวทาง

Advertisement

1.ชวนลูกดูกีฬาด้วยกัน การดูรายการแข่งขันกีฬากับลูกๆ นอกจากจะเป็นโอกาสให้พ่อแม่ได้สร้างความสัมพันธ์กับลูกๆ ในการเชียร์ทีมโปรด หรือนักกีฬาคนโปรดด้วยกัน นี่ยังเป็นโอกาสดีในการชี้ให้ลูกได้เห็นถึง การรวมแรง รวมใจของการทำงานเป็นทีมเวิร์ก ที่นำไปสู่ความสำเร็จ การได้คะแนนของทีม

2.แบ่งปันเรื่องราวต่างๆ ในสื่อโซเชียลแก่กัน ไม่ว่าเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และยูทูบ รวมทั้งสื่อโซเชียลทุกรูปแบบ ล้วนมีบทเรียนเกี่ยวกับลักษณะอุปนิสัยให้เรียนรู้ ดังนั้นหากคุณสังเกตเห็นโพสต์ รูปภาพ วิดีโอ หรืออะไรก็ตามที่ประทับใจ “โดนใจ” หรือสวยงาม ให้แชร์ หรือแบ่งปันแก่ลูกๆ และอย่าลืมพูดคุยให้ลูกๆ รู้ด้วยว่า ผู้โพสต์เหล่านั้นต้องใช้ความกล้าหาญมากขนาดไหน ในการแชร์เรื่องราวของพวกเขา หรือการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ของพวกเขาเหล่านั้นออกสู่สาธารณชน

Advertisement

รวมทั้งพูดคุยให้ลูกๆ รู้ถึงความเสี่ยงต่างๆ ต่อการพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสื่อโซเชียลต่างๆ และความหมาย ความสำคัญต่อการเสี่ยงอย่างมีเหตุผลที่จะซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ถึงแม้จะต้องเจอกับเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ก็ตาม

3.ขยายขอบเขตความสนใจ อย่างเช่นการหาโอกาสดูภาพยนตร์สารคดี หรือ ภาพยนตร์ที่นำเสนอเรื่องราวของผู้คนที่มีชีวิตแตกต่างจากเรา ซึ่งสามารถจะทำให้เกิดความรู้สึกเห็นอก เห็นใจผู้อื่น ความเมตตา ความอ่อนน้อม ถ่อมตน ดังนั้นระหว่างชวนครอบครัวนั่งดูหนังด้วยกันตอนค่ำ หรือยามว่าง ควรเลือกดูภาพยนตร์เกี่ยวกับคนที่มีเชื้อชาติ หรือนับถือศาสนาต่างจากเรา หรือเรื่องราวของชุมชนที่มีชีวิตลำบากกว่าเรา หรือมีวัฒนธรรม ความเชื่อทางสังคมแตกต่างจากเรา และชวนกันพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นหลังจากดูหนังจบ

การเล่นเกมด้วยกันภายในครอบครัว ก็เป็นโอกาสในการฝึกการทำงานเป็นทีมเวิร์ก ในการช่วยกันแก้ปัญหา รวมถึงฝึกการสื่อสาร และความเพียรพยายาม ขณะเดียวกันก็ได้ความสนุกสนานด้วย โดยให้เลือกเล่นเกมที่มีผู้เล่นหลายคน ที่ต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจกันจึงจะชนะ

นอกจากนั้นระหว่างเล่นเกม ควรเลือกใช้ถ้อยคำในการสื่อสาร อย่างเช่น ฉันต้องการความช่วยเหลือ แทนที่จะใช้คำว่า เธอมันโง่ แล้วถ้าหากเห็นลูกๆ พยายามจะเอาชนะในเกมให้ได้ พ่อแม่ก็สามารถชื่นชมความพยายามของลูกๆ ไปพร้อมกับชื่นชมความสำเร็จของพวกเขา

4.ให้เวลาตัวเองได้หยุดพัก ห่างจากสื่อโซเชียลบ้าง แล้วหาเวลามาพูดคุยกันแบบซึ่งหน้า เนื่องจากปัจจุบันมีอุปกรณ์ช่วยทำงานบ้าน หรืออุปกรณ์พกพาต่างๆ ที่จะส่งข้อความเตือน หรือโพสต์ต่างๆ ในไอจี ที่แจ้งเตือน ซึ่งพ่อแม่สามารถฝึกให้ลูกๆ รู้จักควบคุมตัวเองต่อสิ่งเร้าต่างๆ เหล่านั้น ไม่ต้องรีบตอบโต้ หรือตอบสนองโดยทันที อย่างเช่นครั้งต่อไป หากได้ยินเสียงแจ้งเตือนและเรารู้ว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ก็ให้พูดกับตัวเองออกมาดังๆ ว่า “ฉันไม่จำเป็นต้องเปิดดูข้อความตอนนี้”

โดยบทเรียนนี้สามารถนำไปปรับใช้กับสื่อโซเชียลอย่าง เฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ ได้เช่นกัน หากเราเห็นสิ่งใดที่ทำให้เรารู้สึกอารมณ์เสีย ให้พ่อแม่บอกกับลูกๆ ว่า ลูกไม่ต้องโพสต์หรือตอบโต้อะไรไปทันที เพราะอาจทำให้รู้สึกแย่ หรือเสียใจภายหลังได้ ดังนั้น แทนที่จะโพสต์ สู้หาโอกาสพูดคุยความรู้สึกกับเพื่อนๆ แบบซึ่งหน้าดีกว่า

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image