‘ชีวิตวิถีใหม่’ คนไทย เมื่อต้องอยู่กับโควิดแบบมาราธอน

แฟ้มภาพ

‘ชีวิตวิถีใหม่’ คนไทย เมื่อต้องอยู่กับโควิดแบบมาราธอน

พุทธศักราช 2563 เป็นหนึ่งปีที่ต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ด้วยมีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้น นั่นก็คือ“โควิด-19” หรือ “เชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ 2019” ที่สร้างผลกระทบไปทั่วโลก ไม่เพียงแค่มียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นในแต่ละประเทศ ทว่าในกลุ่มผู้ที่ติดเชื้อและได้รับการรักษาจนหาย สุขภาพร่างกายก็ไม่สามารถกลับมาเป็นปกติ รวมไปถึงระบบเศรษฐกิจที่ “หยุดชะงัก” ทำให้หลายธุรกิจต้องปิดตัวลงไป

“โควิด-19” จึงกลายเป็นฝันร้ายเรียกน้ำตาแก่ชาวโลกทุกหย่อม กระนั้น “มนุษย์” ก็นับเป็นสิ่งมีชีวิตที่สุดสตรอง มีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์เพื่อ “ความอยู่รอด” หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า “นิว นอร์มอล” (New Normal) หรือ “วิถีชีวิตปกติรูปแบบใหม่”

ซึ่งนอกจากการสวมหน้ากากอนามัย พกเจลล้างมือ ฯลฯ แล้ว ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจภายในงาน “ไทย เฮลธ์ วอชท์ 2021” ว่า ขณะนี้บางประเทศเริ่มที่จะฉีดวัคซีนโควิด-19 บ้างแล้ว ประเทศไทยมีคิวอยู่ประมาณเดือนมิถุนายนปี 2564 โดยจะฉีดให้คนไทย 13 ล้านคนแรก ซึ่งไม่ได้หมายความว่าผลกระทบจากโควิดจะหายไปในเร็ววัน ในเร็วปี แต่โควิดยังอยู่ให้สะสางอีกหลายปี และแน่นอนว่า ปี 2564 ก็ยังจะต้องอยู่กับโควิด กระนั้นตลอดระยะเวลา 1 ปีที่อยู่ร่วมกับโควิด-19 ก็มีผลการศึกษาถึงพฤติกรรมของคนไทยที่น่าสนใจมากมาย

อาทิ ในช่วงล็อกดาวน์ เมื่อถูกบังคับให้หยุดนิ่ง อยู่กับบ้าน ทำงานที่บ้าน พบว่า 10 กิจกรรมที่คนไทยนิยมทำมากที่สุด คือ ประชุมออนไลน์ ช้อปปิ้งออนไลน์ ออกกำลังกาย แต่งหน้า ดูซีรีส์ พัฒนาตนเอง สั่งอาหารออนไลน์ ทำอาหารเอง ปลูกต้นไม้ และแต่งบ้าน

Advertisement
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์

นอกจากนี้ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายและพฤติกรรมสุขภาพในช่วงโควิด-19 พบว่า เกิด “ชีวิตวิถีใหม่ ใน 6 รูปแบบ” คือ

1.มนุษย์เฉื่อย คนไทยนิ่งและเนือยมากขึ้น โดยมีระยะเวลาของ “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” เฉลี่ยสูงถึง 14 ชั่วโมง 32 นาทีต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 9 ปี

2.น้องใหม่สายสุขภาพ มีคนไทย 13% ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน หันมาออกกำลังกายในช่วงระหว่างที่ต้องเก็บตัวอยู่บ้าน

Advertisement

3.หน้ากากนักวิ่ง ประชาชนอย่างน้อย 16.8% ตัดสินใจออกไปใช้บริการสวนสาธารณะและสถานที่ออกกำลังกายโดยมีอุปกรณ์ติดตัวเพิ่มคือหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ

4.มนุษย์เวอร์ชวลหรือออนไลน์ คนไทยประมาณ 7% หรือประมาณ 4 ล้านคน กำลังออกกำลังกายแบบเวอร์ชวล และออกกำลังกายออนไลน์ เช่น เกมออนไลน์ การวิ่งสะสมผ่านแอพพ์ (วิ่งมาราธอนรอบบ้าน) ขึ้นบันไดให้เท่ากับไต่เขาระดับโลก

5.เด็กติดจอ สูงขึ้นชัดเจน

6.เด็กสายเพลย์ เด็กและเยาวชน 12.6% ระบุว่าได้มีการทำกิจกรรมการเล่นเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตามคลิปเผยแพร่ออนไลน์

 

ขณะเดียวกัน เรื่องกินก็สำคัญ โดยแบ่งพฤติกรรมการกินของคนไทย เป็น 3 รูปแบบหลักๆ คือ นั่งที่ร้าน ร้านสะดวกซื้อ และดิลิเวอรี พบว่าในช่วงเดือนที่โควิดมาแรงพฤติกรรมนั่งกินที่ร้าน และร้านสะดวกซื้อ ลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ดิลิเวอรีได้รับความนิยมสูงสุดใน 3 พฤติกรรม แต่ภายหลังคลายล็อกดาวน์ การนั่งกินที่ร้านรวมถึงร้านสะดวกซื้อก็เพิ่มขึ้น ทว่าดิลิเวอรีก็ไม่ได้หายไปเลย แต่เป็น “วิถีใหม่” ที่เพิ่มขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลาร่วม 1 ปี ที่โควิดอุบัติได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของคนไทยเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ในทุกเพศ และทุกวัย อาทิ การกินต้องปรุงสุก กินร้อน ช้อนเรา เพื่อเลี่ยงการแพร่ระบาด, โรงเรียน ร้านค้า หรือสถานที่สาธารณะต่างๆ ต้องควบคุมและจำกัดจำนวนคนไม่ให้แออัด, ร้านอาหารมีการวางฉากกระจกใสกั้น ติดสติ๊กเกอร์เว้นระยะห่าง และจำหน่ายแบบซื้อกลับเท่านั้น, ครูและนักเรียน สื่อสารการเรียนการสอนผ่านช่องทางออนไลน์, ธุรกิจดิลิเวอรี และช้อปปิ้งออนไลน์เป็นที่นิยมมากขึ้น และหน้ากากผ้า สายคล้องแมสก์ กลายเป็นหนึ่งในแฟชั่นการแต่งกาย เป็นต้น

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ชีวิตวิถีใหม่” ได้กลายเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญ แม้กระทั่งในคำขวัญวันเด็ก ปี 2564 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังมีคำว่า “วิถีใหม่” ดังว่า “เด็กไทยวิถีใหม่ รวมไทยสร้างชาติ ด้วยภักดีมีคุณธรรม”

การปฏิบัติอย่างนิวนอร์มอล จึงไม่เพียงป้องกันโควิดเท่านั้น ยังเป็นการรับมือกับโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

หลังโควิด บาง “นิว นอร์มอล” เป็นสิ่งที่ควรจะคงไว้และนำไปใช้เป็นชีวิตวิถีใหม่ในเฟสต่อไป หรือในปีต่อไป ขณะเดียวกันนิวนอร์มอล ก็ยังเป็นการพัฒนาคน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมเกิดความสมดุลกันได้อย่างยั่งยืน ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในอีกทางหนึ่งได้ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image