เจาะเทรนด์งานปี 2564 งานไหน ‘รุ่ง’ งานไหน ‘ร่วง’

ภาพ pixabay

เจาะเทรนด์งานปี 2564 งานไหน ‘รุ่ง’ งานไหน ‘ร่วง’

แม้วิกฤตโควิด-19 ของไทยจะเริ่มคลี่คลายไปในช่วงครึ่งปีหลัง แต่กระทรวงการคลังยังประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ.2563 จะหดตัว -7.7% และหวังว่าในปี พ.ศ.2564 จะกลับมาขยายตัว 4.5% ซึ่งแน่นอนว่ามีแนวโน้มจะส่งผลกระทบให้มีผู้ว่างงานประมาณ 740,000 คน โดยแบ่งเป็น 64.4% เคยมีงานทำมาก่อน และ 50% เป็นนักศึกษาจบใหม่

พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บจก. จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) เผยว่า ในปี 2564 ด้วยยังไม่มีวัคซีนโควิดออกมา 100 เปอร์เซ็นต์ มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 การตรวจวัดอุณหภูมิ พกเจลแอลกอฮอล์ สวมหน้ากากอนามัย ฯลฯ จะกลายเป็น “เรื่องปกติ” (Normal) ที่หลายบริษัทจะยังคงทำต่อ

ขณะที่มาตรการ “เวิร์ก ฟรอม โฮม” หลายบริษัทมีมติให้พนักงานปฏิบัติตาม แม้จะผ่านช่วงล็อกดาวน์ไปแล้ว โดยบรรจุให้เป็น “ทางเลือก” สำหรับพนักงาน ด้วยมีข้อดีหลายด้าน ทั้งลดต้นทุนเรื่องการเดินทาง การใช้เอกสาร ไปเน้นการทำงานที่มุ่งที่ผลลัพธ์มากกว่า อาจจะกล่าวได้ว่ากลายเป็นลักษณะการทำงานแบบ “ไฮบริด เวิร์กกิ้ง” (Hybrid Working)

ที่มีความยืดหยุ่นการทำงานไปตามสถานการณ์ นับว่าเป็นหนึ่งในการทำงานยุคนิวนอร์มอล ซึ่งส่วนมากจะซัพพอร์ตกับลักษณะงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ขณะที่บางธุรกิจอาจจะใช้รูปแบบนี้ไม่ได้

Advertisement


ทั้งนี้ ในยุคโควิดหลายบริษัทก็ได้หันไปลงทุนเรื่อง “เทคโนโลยี” มากขึ้น เพื่อเชื่อมต่อการทำงานในรูปแบบ Work from home หรือ Work from everywhere ให้สะดวกและมีความเสถียรมากขึ้น เช่น การสร้างโครงข่ายวีพีเอ็น ระบบการเก็บข้อมูล แอพพลิเคชั่นที่ใช้ในการสื่อสาร ส่งงาน ประชุมออนไลน์ ไปจนถึงอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ต่างๆ ทั้งนี้บางบริษัทยังใส่ใจความรู้สึกของพนักงานที่ต้องทำงานที่บ้านแล้วเกิดความเครียด กังวล จากการไม่ได้สื่อสารแบบซึ่งหน้า จัดให้มีโปรแกรมปรึกษาปัญหากับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งนี่อาจจะกลายเป็นหนึ่งในการทำงานยุคนิวนอร์มอลต่อไป

แล้วในยุคที่โควิดยังอยู่ จะมีงานไหน “รุ่ง” งานไหน “ร่วง”

ผู้จัดการจ๊อบส์ ดีบี ประเทศไทย ไขข้อข้องใจว่า เทรนด์งานรุ่งในปี 2564 ยังคงเป็นงานในหมวดที่เกี่ยวข้องกับ “เทคโนโลยี” หรือ “ไอที” เพราะแม้แต่ในบริษัทที่งานไม่เกี่ยวข้องกับไอทียังต้องจ้างพนักงานไอทีเพื่อไปดูแลระบบ แม้ว่าจำนวนการประกาศหางานจะลดลงในช่วงโควิด แต่เมื่อดูจากประเภทงานที่ประกาศรับสมัครมากที่สุด สามารถเรียงลำดับได้ตามนี้

Advertisement

อันดับ 1 สายงานที่เกี่ยวข้องกับไอที เช่น โปรแกรมเมอร์ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ผู้ดูแลระบบต่างๆ ดังที่กล่าวไปในข้างต้น

อันดับ 2 สายงานอี-คอมเมิร์ซ (E-commerce) เช่น เจ้าหน้าที่การตลาดออนไลน์ นักวิเคราะห์ธุรกิจ (Business Analyst : BA)

อันดับ 3 งานวิศวกรรม (Enginerring) และอันดับ 4 งานขายและการตลาด (Sales & Marketing) ตามลำดับ

ส่วนงานที่มีโอกาส “ร่วง” ประกอบด้วย

1.ฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือพนักงานออฟฟิศ ด้วยมีหลายบริษัทได้รับผลกระทบจากโควิดทำให้ต้องลดขนาดองค์กร หรือฟรีซพนักงาน ทำให้โอกาสในการจ้างงานเพิ่มค่อนข้างน้อย

2.การจัดการเงินและธนาคาร Banking /Finance เพราะในหลายธนาคารมุ่งสู่ Core การทำธุรกิจออนไลน์ ซึ่งจะใช้พนักงานน้อยลง รวมไปถึงหลายธนาคารก็ได้ลดจำนวนสาขาลงด้วย สอดคล้องกับเทรนด์สังคมไร้เงินสด (Cashless Society)

และ 3.กลุ่มงานให้บริการที่พัก อาหารและเครื่องดื่ม (Hospitality /Food and beverage) ได้รับผลกระทบจากโควิดโดยตรง จะเห็นได้ว่ามีคนว่างงานจากงานกลุ่มนี้จำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนว่างงาน หรือนักศึกษาจบใหม่ก็ดี อย่าเพิ่งหมดหวัง ด้วยเชื่อว่าสถานการณ์ในปี 2564 จะดีกว่าปี 2563 แน่นอน เพราะคนไทยต่างได้เรียนรู้ประสบการณ์ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาในการอยู่ร่วมกับโควิด ในตลาดแรงงานก็ยังมีประกาศรับสมัครงานอยู่ ด้วยมีหลายบริษัทไหวตัวทัน เลือกทำธุรกิจถูกทาง จึงต้องการกำลังแรงงานเพิ่มขึ้นด้วย เช่น บริษัททำถุงพลาสติกที่หลังมีโควิดบริการดิลิเวอรีได้รับความนิยม ความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกก็เพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจทำโซฟา เก้าอี้สุขภาพ ก็ได้รับความนิยมจากกลุ่มคนทำงานที่บ้าน เป็นต้น

“รีสกิล อัพสกิล เพราะในอีก 5 ปีข้างหน้าหลายงานจะถูกแทนที่ด้วยแมชชีน นี่คือข้อเท็จจริงของโลกธุรกิจในปัจจุบัน แนะนำให้เสริมความรู้เรื่องดิจิทัลให้มากขึ้น ประกอบกับการฝึกฝนด้านภาษาเพราะจะเป็นใบเบิกทางสู่โอกาสดีๆ ที่มากขึ้น” พรลัดดาทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image