โควิด ‘เล่นกล’ สมรส-หย่าในไทย สวนกระแส! สถิติทั่วโลก

โควิด ‘เล่นกล’ สมรส-หย่าในไทย สวนกระแส! สถิติทั่วโลก

คงทราบกันมาเบื้องต้นว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ระบาด ที่ทำให้ผู้คนต่างต้องกักตัวอยู่บ้าน ทำงานที่บ้าน เรียนที่บ้าน เป็นครั้งแรกที่สมาชิกในครอบครัวได้เจอหน้ากันเกือบ 24 ชั่วโมง เป็นเวลาแรมเดือน นอกจากเป็นโอกาสทองให้สมาชิกในครอบครัวได้ปรับความเข้าใจ และเพิ่มความกลมเกลียวกันมากขึ้น

ยังเป็นโอกาสให้สมาชิกในครอบครัวเกิดการกระทบกระทั่งกัน จากภาวะความเครียด อันเนื่องจากรายได้ลดลง อยู่ภาวะตกงาน หรือมีปัจจัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติดเข้ามาส่งเสริม ส่งผลให้ภาพรวมสถิติความรุนแรงในครอบครัวพุ่งสูงขึ้น เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดยังคงลุกลาม ความเครียดได้สะสมต่อเนื่อง หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าอาจเกิดปรากฏการณ์ภูเขาไฟระเบิดอีกมากมาย เช่น เคสที่ครอบครัวกระทำความรุนแรงต่อกัน ถึงขั้นเลือดตกยางออก หรือทอดทิ้งกันไป จนอาจทำให้สถิติการหย่าร้างพุ่งเป็นประวัติการณ์ ทว่าความจริงอาจไม่เป็นอย่างนั้น

‘แบงคอก แมทชิ่ง’ (Bangkok Matching) ธุรกิจจัดหาคู่ ได้เปิดสถิติการสมรสและการหย่าร้างของประเทศไทย ประจำปีพ.ศ.2563 จากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย น่าสนใจไม่น้อย!

Advertisement

เพราะภาพรวมพบสถิติการหย่าของทั้งประเทศไทย ปี 2563 ลดลงราวร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนสถิติการสมรสก็ลดลงถึงร้อยละ 17 เช่นกัน

โฟกัสที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีประชากรประมาณ 5.6 ล้านคน ซึ่งเคยเป็นเมืองที่มีคนแต่งงาน และหย่ามากที่สุดในประเทศ พบว่า สถิติการหย่าร้างปี 2563 ลดลงราวร้อยละ 10 ส่วนสถิติการสมรส ก็ลดลงถึงร้อยละ 22
ซึ่งแบงคอก แมทชิ่ง วิเคราะห์ปรากฏการณ์นี้ว่า ที่ตัวเลขสถิติการหย่าร้างลดลงนั้น จริงๆ แล้ว อาจไม่ได้หมายความว่า คู่ชีวิตไม่ได้มีปัญหา แต่มันอาจเป็นไปได้ว่า ด้วยสภาวะโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบในด้านต่างๆ รวมถึงการเงิน และการต้องหาที่พักอาศัยใหม่ ทำให้คู่รักอาจเลือกที่จะอดทนในชีวิตสมรสต่อไปก่อน ยังไม่พร้อมจะแยกบ้าน เช่นเดียวกับความไม่พร้อมที่จะทำเรื่องหย่าร้างในตอนนี้

“บางส่วนอาจมาจากวัฒนธรรมการอดทน อดกลั้นในชีวิตคู่ ส่วนยอดแต่งงานที่ลดลง ก็อาจเป็นไปได้ว่าเป็นเพราะคู่รักจำนวนมาก ได้เลื่อนงานแต่งงานออกไป หรือยกเลิกไปก่อนนั่นเอง คนโสดบางส่วน อาจจะถูกชะลอการศึกษา ทำความรู้จักกันไปบ้าง จากโควิด ทำให้จำนวนที่จะพัฒนาไปถึงขั้นแต่งงานในปี 2563 ลดลง ก็เป็นไปได้เช่นกัน”

Advertisement

สถานการณ์สอดคล้องกับสหรัฐอเมริกา โดย สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ในปี 2563 ครึ่งปีแรกที่โควิด 19 ระบาดใหม่ ดูเหมือนยอดการหย่าในอเมริกามีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น แต่พอปลายปีกลับพบว่ายอดรวมการหย่ากลับลดลง รวมถึงยอดคู่แต่งงานก็ลดลงด้วยเช่นกัน

ซึ่ง สถาบันวิจัยด้านประชากรและครอบครัว (Bowling Green State University’s Center) สำรวจพบว่า ยอดการหย่าที่ลดลงในปี 2563 ไม่ได้แปลว่าคู่ชีวิตในสหรัฐฯไม่ได้มีปัญหา มันอาจเป็นไปได้ว่า ด้วยสภาวะโควิด-19 ส่งผลกระทบในด้านต่างๆ รวมถึงการเงิน และการหาที่พักอาศัยใหม่ ทำให้คู่รัก เลือกที่จะอดทนในชีวิตสมรสต่อไปก่อน และยอดคู่แต่งงานที่ลดลง น่าจะเป็นเพราะคู่รักจำนวนมากได้เลื่อนงานแต่งงานออกไป หรือยกเลิกไปก่อนนั่นเอง

แต่ไม่ใช่กับ สถานการณ์ในประเทศจีน อังกฤษ และสวีเดน โดย สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า สภาวะกดดันจากโควิด-19 และการล็อกดาวน์ ทำให้ต้องคู่ชีวิตต้องใช้เวลาด้วยกันแทบจะตลอดเวลา สภาพการเงินที่ถูกผลกระทบ ส่งผลให้สถานการณ์การหย่าพุ่งสูง โดยสำนักงานทนายด้านการหย่าร้างในอังกฤษ ยอมรับว่ามีผู้สนใจติดต่อเข้ามาสอบถามเรื่องขั้นตอนการหย่าร้างเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 122 ในเดือนกรกฏาคมและตุลาคมปี 2563 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับที่ ออสเตรเลีย พบอัตราการสมรสลดลงถึงร้อยละ 30 ในครึ่งปีแรกของปี 2563 และพบสัญญาณการหย่าร้างสูงขึ้น จากคำค้นหาในกูเกิ้ลประเทศออสเตรเลีย พบคำค้นหา ‘divorce’ หรือหย่าร้าง พุ่งสูงอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นน่าสนใจคือ ประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง และเกาหลีใต้ ที่ยังมีแนวคิดเชิงวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ แม้จะพบยอดร้องเรียนสามีใช้กำลังต่อภรรยาช่วงล็อกดาวน์สูงมาก แต่สถิติการหย่าร้างกับลดลง ซึ่ง

แบงคอก แมทชิ่งวิเคราะห์ว่า ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์โควิด ที่ทำให้การเลิกกัน หย่าขาดจากกัน เป็นไปได้โดยลำบาก และอีกส่วนมาจากวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของหญิงในประเทศนั้นเอง ที่ถือหลักอดทน อดกลั้นที่ปลูกฝังกันมา

ปรับตัวกับโรคระบาด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image