เมื่อเกมไทยจะไปเกมโลกในยุค Thailand 4.0 (ก้าวไปให้ถึงฝั่งหรือแค่ฝันกลางวัน) ตอนที่ 1

ดินแดนแห่งเกษตรกรรม

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ยังมีดินแดนที่เงียบสงบ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ห่างไกลจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ผู้คนในดินแดนแห่งนี้รักสงบ ส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก ต่อมาไม่นานได้เกิดพายุที่ชื่อว่า ดิจิทัล ได้โหมกระหน่ำซัดไปพื้นที่ทั่วทุกมุมโลกรวมไปถึงดินแดนอันเงียบสงบแห่งนี้ ผลกระทบของมันทำให้ผู้คนต้องปรับตัวจากที่เคยทำแต่เกษตรกรรมต้องหันหน้าเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่าเทคโนโลยี

เข้าสู่ยุคดิจิทัล Thailand 4.0

นี่คือเรื่องเล่าอุปมาอุปไมย ที่ผู้เขียนขอหยิบยกขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของสถาณการณ์ต่างๆในบ้านเรา ณ ปัจจุบัน จากประเทศที่เน้นอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นหลัก ส่งออกข้าวปีละเป็นล้านตัน ส่งออกยางพาราปีละสิบกว่าล้านตัน แต่กลับต้องมาเจอกับสิ่งที่แปลกใหม่ท้าทายคือเรื่องของเทคโนโลยี เรื่องของกระแสเศรษฐกิจดิจิทัล ที่เข้ามามีบทบาทไปทุกกระทรวง ทบวง กรม อีกทั้งมีกรณีตัวอย่างจากบริษัทประเทศนอก ชื่อผลไม้แต่ไม่ได้ส่งออกผลไม้กำลังทะยานมูลค่าของตัวเองไปสู่ล้านล้านดอลลาร์ นี่คือการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ล้านล้านดอลลาร์นี่มากแค่ไหนลองนึกภาพว่าเท่ากับจีดีพีของประเทศเกาหลีใต้ทั้งประเทศ จึงทำให้ผู้ใหญ่ในบ้านเราเล็งเห็นถึงโอกาสที่จะทำให้ประเทศเจิรญก้าวหน้า โดยไม่ต้องอาศัยสินค้าที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติเป็นอย่างเดียว โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ธรรมชาติมักไม่เข้าข้างเกษตรกรเลยแม้แต่น้อย จึงได้เกิดกระทรวง  เกิดองค์การมหาชนขึ้นมาเพื่อดูแล กำกับนโยบายและบริหารจัดการงบประมาณในด้านเทคโนโลยีของประเทศเป็นหลัก แต่ไฉนเลยผู้คนถึงได้มองว่าผลงานที่ปรากฏขึ้นเป็นที่พอใจในระดับต้นๆ  ยังไม่สามารถไปถึงคำขวัญที่ตั้งเอาไว้ว่า จะนำพาประเทศไทยสู่เวทีซอฟต์แวร์โลก อะไรคือสาเหตุอะไรคือปัญหา แล้ววิธีการแก้ไขคืออะไร ผู้เขียนได้ทำการวิจัยและวิเคราะห์แยกออกเป็นประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

Advertisement

การส่งเสริมจากภาครัฐ

ผู้เขียนขอหยิบยกการวิจัยในเชิงประจักษ์ ในบริบทของการส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านการสร้างเกม ภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจในอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลคอนเทนต์เลยแม้แต่น้อย มากไปเสียด้วยซ้ำกับกิจกรรมที่จัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจัดอบรมการใช้ซอฟต์แวร์ต่างๆในทุกภูมิภาคของบ้านเรา  งานประกวดเกี่ยวกับดิจิทัลคอนเทนต์ที่มีขึ้นทุกปีไม่ต่ำกว่า 2 งาน งานอีเวนท์ระดับสากลเข้ามาจัดการแสดงในบ้านเราอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน มีการระดมความคิดพบปะพูดคุยระหว่างนักพัฒนาเกมทั้งกลุ่มมืออาชีพและกลุ่มอิสระด้วยกันเองอย่างต่อเนื่อง ที่อ่านมาไม่ได้เขียนผิด ทั้งหมดคือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจริง ผลงานจริงของภาครัฐที่ไม่มีใครมาขอแย่งไปได้ ทีนี้ก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า ทำไมมีการส่งเสริมจากภาครัฐมากขนาดนี้แล้วถึงยังไปไม่ถึงคำว่าประสบความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรมเลย อันนี้ต้องถามกลับก่อนว่าเจ้าความสำเร็จแบบเป็นรูปธรรมคืออะไร ถ้าอยากได้เกมแบบที่ต่างประเทศมีกันอันนี้ตอบได้เลยว่า ภาครัฐประสบความความสำเร็จแล้วเพราะทุกวันนี้มีเกมใหม่ที่สร้างในประเทศออกมาแทบจะทุกเดือน แต่ถ้าจะเอาเกมที่ออกมาใหม่นั้นไปแข่งขันในตลาดโลกได้นั้นอันนี้คงต้องบอกว่าแทบจะนับเกมได้เลย เพราะสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้เปรียบเกมเสมือนเม็ดทรายสีขาวที่ถูกปล่อยลงบนชายหาดสีขาว แล้วบอกว่าให้หาเม็ดทรายนั้นให้เจอ ซึ่งกว่าจะเจอยากฉันใด เกมที่ปล่อยออกมาในตลาดโลกทุกวันนี้มีเป็นร้อยเกมต่อวัน แล้วลองคิดดูว่ากว่าผู้เล่นจะหาเกมของเราเจอได้ก็ยากฉันนั้น ส่วนคำขวัญที่ว่าจะนำพาประเทศไทยสู่เวทีซอฟต์แวร์โลก ก็ต้องถามกลับว่าสู่เวทีซอฟต์แวร์โลกคืออะไร ถ้าเป็นเพียงแค่นำซอฟต์แวร์ที่ทำในประเทศเข้าไปประกวดตามงานอีเวนท์ที่นอกประเทศคือไประดับโลกแล้วได้รางวัลมา ก็คงจะตรงตามเป้าหมายของภาครัฐแล้ว เพราะปัจจุบันซอฟต์แวร์คนไทยมีมากที่ได้นำไปประกวด นำไปโชว์ในงานต่างประเทศมาแล้ว แต่ถ้าความหมายคำว่าระดับโลกของภาครัฐไม่ใช่แบบแรกแต่ต้องการให้คนทั้งโลกยอมรับซอฟต์แวร์ของบ้านเรา สามารถรับมือการผลิตได้ทั้งกระบวนการโปรดักชัน เหมือนกับที่โลกมองซิลิคอนวัลเลย์คือเมืองหลวงของอุตสาหกรรมไอที มองอินเดียหรือสิงคโปร์เป็นแหล่งเอาท์ซอร์สซิ่งชั้นดี ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการที่ทั่วโลกยอมรับคือวินโดว์ ยูนิกส์ ลีนุกซ์ แอนดรอยด์ ไอโอเอส หรือแม้แต่ซอฟต์แวร์เกมที่เป็นแฟรนไชน์ทั่วโลกให้การยอมรับคือสตรีทไฟเตอร์ เท็คเค็น  ไฟนอลแฟนตาซี เมทัลเกียร์โซลิด เป็นต้น อันนี้อาจต้องขอกล่าวเลยว่าภาครัฐยังคงต้องเหนื่อยเดินทางกันอีกหลายสิบปี เหตุผลเพราะอะไรต้องมาวิเคราะห์ลงลึกไปในแต่ละโครงการที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

(อ่านต่อตอนหน้า)

Advertisement

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อาษา ตั้งจิตสมคิด

ที่ปรึกษาแผนกวิจัยและพัฒนาเกม

อาษาโปรดักชัน

[email protected]

www.sarosworld.com

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image