เมื่อเกมไทยจะไปเกมโลกในยุค Thailand 4.0 (ก้าวไปให้ถึงฝั่งหรือแค่ฝันกลางวัน) ตอนที่ 2

วิเคราะห์โครงการฝึกอบรมนักพัฒนาเกม

อันดับแรกคือจัดอบรมการใช้ซอฟแวร์สร้างเกมเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในรอบปี มีการวัดการประเมินผลผู้เรียนอยู่ตลอดเวลา เคยมีการใช้นโยบายการนำเงินของผู้เรียนมาเป็นหลักประกัน หากมาเรียนครบ สอบผ่านจะได้เงินประกันคืน ถึงขนาดนี้ก็ยังเคยกันทำมาแล้ว รวมทั้งมีการติดตามผู้เรียนหลังเรียนคอร์สนี้จบไปได้ทำงานอะไรก็มีให้เห็นอยู่เป็นนิจ จ้างคนสอนในระดับโลกมาสอน จ้างทีมงานที่เคยมีผลงานเกมจริงมาสอนก็มีให้เห็นแล้ว แต่ทำไมถึงยังไม่เห็นมีเกมในระดับ AAA ที่เป็นเฟรนไชน์ออกมาแข่งกับสตรีทไฟเตอร์หรือเท็คเค็นเลย สิ่งที่ผู้เขียนอยากตั้งข้อสังเกตุคือ เกมสร้างคนเดียวไม่ได้ ต้องสอนให้คนของเราเล่นเป็นทีม มีคนเคยพูดติดตลกไว้ว่าถ้าเป็นกีฬาแบบเล่นคนเดียวคนไทยเก่ง แต่ถ้าต้องเล่นเป็นทีมเมื่อไหร่ก็วงแตกเมื่อนั้น ตัวอย่างเช่น สมมติว่ามีการจัดการอบรมขึ้นมามีเนื้อหาดังนี้ การสร้างกราฟฟิคเกม การสร้างเขียนโปรแกรมเกม การสร้างเสียงเกม การเขียนบทเกม การออกแบบเกม เป็นต้น ทุกๆคนก็จะลงเรียนในสิ่งที่ตัวเองสนใจ จบออกมาได้ใบประกาศ ก็ออกไปหางานทำตามสายที่ตัวเองถนัดในบริษัทต่างๆ แล้วก็วนกลับมาจัดการอบรมใหม่เป็นวงจรซ้ำซากอยู่หลายปี ผู้เรียนคนไหนที่เข้มแข็งก็อาจเปิดเป็นกิจการของตัวเอง รายไหนอ่อนแอก็เปลี่ยนสายงานไปทำอาชีพอื่น วนกันไปไม่รู้จักจบสิ้นเพราะไม่มีใครสอนให้คิดให้เล่นเป็นทีม สอนแต่ใช้โปรแกรมอะไร กดตรงนี้นะจะได้ผลลัพธ์แบบนี้ ต้องวาดแบบนี้นะถึงจะได้สัดส่วนที่ถูกต้อง สิ่งที่ขาดไปคือต้องสอนคนให้คิดเป็น

ขอยกตัวอย่างเรื่องเล่าของปรมาจารย์ด้านศิลปะสองท่านคือ ท่านอาจารย์ศิลป์เคยกล่าวกับท่านอาจารย์ถวัลย์ตอนเรียนอยู่ที่ศิลปากรในชั้นปีที่ 1 ถวัลย์ ดัชนี ทำคะแนนการวาดรูปได้ถึง 100+ แต่เมื่อขึ้นปี 2 กลับทำได้แค่ 15 คะแนน เพราะเหตุผลที่ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ให้ไว้ว่า ปลาของนายไม่มีกลิ่นคาว นกของนายแหวกว่ายไปในอากาศไม่ได้ ม้าของนายไม่สามารถที่จะควบหรือวิ่งทะยานออกไปได้ นายเป็นเพียงแค่นักลอกรูป มันไม่ใช่งานศิลปะ นี่คือสิ่งที่ล้ำค่ามากที่สุด มันคือความคิด มันคือการถ่ายทอดจิตวิญญาณ หากภาครัฐสามารถหาผู้ที่มาถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ให้แก่ผู้ที่มาอบรมได้ สามารถบ่มเพาะเพื่อให้คนคิดเป็น สร้างสรรค์ความรู้แบบมีตรรกะ ขอรับประกันเลยว่างานเกมในระดับ AAA หรือเกมที่เป็นแฟรนไชน์ไม่ไกลเกินฝันแน่นอน หัวข้อต่อไปผู้เขียนจะเจาะลึกในส่วนของโครงการประกวดเกมที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในบ้านเรา

วิเคราะห์โครงการประกวดเกม

Advertisement

ในแต่ละปีมีการประกวดเกมในระดับนักเรียน นักศึกษา บุคคลทั่วไปจนไปถึงผู้ประกอบการ มีเงินรางวัลหลักแสนถึงหลักล้านรออยู่ จัดกันมาก็เกินทศวรรษกันแล้ว เคยมีคนถามว่าโครงการที่ชนะเลิศไปไหน ทำไมถึงไม่เห็นออกมาโลดแล่นอยู่ในอุตสหกรรมเกมบ้าง มีหลายรายที่ได้รับรางวัลไป ก็นำไปเป็นได้แค่พอร์ทงานของตัวเองว่าเคยได้รับเกียรติยศอันนี้มาแล้ว แต่เกมทำไม่เสร็จสักทีส่วนจะด้วยเหตุผลกลใดนั้นยากที่จะคาดเดา มีน้อยเกมนักที่ได้รับรางวัลไปสามารถทำสำเร็จเสร็จเป็นตัวเกมออกมา จนตอนหลังในการประกวดบางงานทางภาครัฐต้องมีมาตรการว่าต้องเป็นเกมที่วางจำหน่ายแล้วเท่านั้นจึงมีสิทธิ์เข้าประกวด ป้องกันพวกที่ทำแต่เดโมมาเพื่อรับเงิน รับกล่องแล้วเดินจากไป แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงเป็นภาพที่เลือนลางกับเกมที่สามารถพาตัวเองไปยืนบนเวทีโลกเพื่อสร้างตัวในระดับ AAA หรือระดับแฟรนไชน์ได้เลย จากการวิเคราะห์ของผู้เขียน ปัญหาในข้อนี้อาจเกี่ยวพันต่อเนื่องมาจากการขาดความรู้และความเข้าใจของผู้พัฒนาเกมในด้านเทคโนโลยีเกมเอนจิ้น ที่ไม่มีความลึกซึ้งพอเพียงต่อการปิดงานเกม โดยจะขอกล่าวถึงเกมเอนจิ้นในหัวข้อถัดไป

(อ่านต่อตอนหน้า)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อาษา ตั้งจิตสมคิด
ที่ปรึกษาแผนกวิจัยและพัฒนาเกม
อาษาโปรดักชัน
[email protected]
www.sarosworld.com

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image