ไขข้อข้องใจ เมื่อไหร่ควรพา ‘เบบี๋’ ไปพบหมอ ต่อจิ๊กซอว์ ‘เลี้ยงลูก’

ไขข้อข้องใจ เมื่อไหร่ควรพา ‘เบบี๋’ ไปพบหมอ ต่อจิ๊กซอว์ ‘เลี้ยงลูก’

เชื่อว่าผู้ปกครองหลายคนก็มีความรู้สึกเหนื่อยบ้างกับการเลี้ยงลูกน้อย เพราะต้องการให้เด็กๆ โตมาอย่างมีคุณภาพ แต่บางครั้งก็ไม่รู้ว่าจะต้องรับมือกับเด็กๆ อย่างไร ซึ่งการพาลูกไปพบแพทย์ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด

พญ.มัณฑนา ชลานันต์ กุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรม ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยว่า คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรละเลย “ปัญหาสำคัญ” ของลูกน้อยในแต่ละช่วงวัย และเข้าพบแพทย์พัฒนาการเด็กเพื่อเพิ่มความมั่นใจการเลี้ยงลูกตามช่วงอายุ ดังนี้

วัย 2 เดือน คุณพ่อคุณแม่อาจประสบปัญหาเด็กร้องไห้ปลอบเท่าไรก็ไม่หยุด หรือไม่ทราบว่าร้องไห้ทำไม

วัย 4 เดือน เด็กมักจะตื่นบ่อยตอนกลางคืน ยังไม่พลิกคว่ำหรือยังไม่ส่งเสียงอ้อแอ้มากนัก อาจจะมีปัญหาไม่ติดพี่เลี้ยง บางครอบครัวเปลี่ยนพี่เลี้ยงมาหลายคน แต่เด็กก็ไม่ยอมให้พี่เลี้ยงดูแล ทำให้คุณพ่อคุณแม่ไม่มีเวลาส่วนตัวและเป็นกังวลเมื่อต้องออกไปทำงาน

Advertisement

วัย 6 เดือน ควรฝึกเด็กทานอาหารแบบ Baby Led Weaning (BLW) หยิบอาหารทานเองดีหรือไม่ แล้ววัยนี้ควรให้ทานอะไรดี ทานมากแค่ไหน เด็กยังนั่งไม่ได้ หรือเรียกแล้วไม่ค่อยหันมาสนใจ การเล่นที่เหมาะสมกับเด็ก เด็กร้องไห้งอแงเยอะและคาดเดาอารมณ์ได้ยาก พ่อแม่ไม่สามารถจัดการกับเสียงร้องของเด็กได้ อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่ไม่มั่นใจในการดูแลหรือทำให้ความสัมพันธ์กับเด็กเริ่มมีปัญหา

 

Advertisement

วัย 9 เดือน อาจประสบปัญหาเด็กน้ำหนักขึ้นน้อย และยังไม่หลับยาวตลอดคืน เด็กยังไม่คลาน กลัวคนแปลกหน้ามาก ร้องไห้เสียใจเมื่อมีคนในบ้านออกไปข้างนอก คุณพ่อคุณแม่เริ่มเหนื่อยกับการอุ้มกล่อม แพทย์จะช่วยชี้แนะวิธีการฝึกเด็กให้หลับได้ด้วยตนเอง หลับได้ยาวมากขึ้น พร้อมทั้งแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลเรื่องอาหารและโภชนาการ เช่น เลิกนมมื้อดึกก่อนอายุ 1 ขวบ หรือตอบคำถามในเรื่องพัฒนาการและชี้แนะแนวทางการดูแลเด็กที่มีภาวะความกังวลต่อการพลัดพราก (Separation Anxiety) และภาวะกลัวคนแปลกหน้า (Stranger Anxiety) ซึ่งจะส่งเสริมให้เด็กควบคุมอารมณ์ตนเองได้อย่างมั่นคงในอนาคต

วัย 12 เดือน หลายครอบครัวอาจจะเจอปัญหาเด็กยังไม่เรียกพ่อหรือแม่ เดินไม่ได้ ไม่บ๊ายบายตามที่บอก ทำให้คุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าเป็นเด็กพัฒนาการช้าหรือไม่ เด็กร้องกรี๊ดเวลาไม่พอใจหรือต้องการสิ่งใด เด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น โยนของ กัดคนอื่น เด็กไม่ยอมนั่งเก้าอี้สูง คาร์ซีท และไม่ยอมนอน ทำให้เข้านอนดึก การพบแพทย์จะช่วยตอบได้ว่าเด็กมีพัฒนาการที่สมวัยหรือไม่

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบการสร้างลูกเป็นการต่อจิ๊กซอว์แผ่นใหญ่นับพันชิ้น การหาชิ้นหัวมุมเจอและเริ่มต่ออย่างถูกต้องจะเป็นจุดเริ่มต้นสู่การต่อชิ้นต่อไปที่ง่ายขึ้น เช่นเดียวกับการที่คุณพ่อคุณแม่เข้าใจความต้องการของลูกน้อยวัยแรกเกิดได้เร็ว ก็จะสามารถตอบสนองได้ตรงกับความต้องการ สิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งความรู้สึกผูกพันและเคารพเชื่อมั่นระหว่างกันในอนาคต

เพราะฉะนั้นการพาลูกน้อยไปพบแพทย์พัฒนาการเด็กจึงไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่เข้าใจ

พญ.มัณฑนา ชลานันต์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image