สสส.-สสดย. เปิดเวทีเสวนารับมือ “ไซเบอร์บูลลี่” ชงรัฐมีมาตรการทางกฎหมาย สร้างระบบป้องกันเด็กไทย

“สสส.” ร่วมกับ “สสดย.” ระดมภาคีเครือข่ายถอดบทเรียนหาทางออก หวังลด-ป้องกันพฤติกรรมการรังแกในกลุ่มเด็ก และเยาวชน หลังพบพฤติกรรม “บูลลี่” เด็กไทยเคยติดอันดับ 2 ของโลก ผ่านเวทีเสวนาออนไลน์ “เตรียมทัพรับมือกับสถานการณ์การระรานทางออนไลน์ของเด็กไทย (Cyberbullying)” ชงเข้มให้ภาครัฐมีมาตรการทางกฎหมาย เพิ่มวาระชาติด้านสื่อเพื่อเด็ก เพื่อสร้างระบบป้องกันเด็กและกำกับดูแลสื่อออนไลน์ที่ไม่เหมาะสมระยะยาว

เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งภารกิจเร่งด่วนที่จะต้องขับเคลื่อนร่วมกันกับทุกภาคส่วนสำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องของเด็กและวัยรุ่นถูกกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์ เพราะปัจจุบันยังไม่มีบทลงโทษทางกฎหมายและคุ้มครองสิทธิเด็กเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

ภายใต้การจัดงานเสวนาครั้งนี้ จึงได้มุ่งไปที่การนำเสนอรูปแบบการเฝ้าระวังและเตรียมการรับมือกับ Cyberbullying พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดข้อเสนอเชิงนโยบายต่อวุฒิสภา ท้ายที่สุดเพื่อให้นำไปสู่การสานพลังแนวร่วมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หารือร่วมสร้างนวัตกรรมหรือแนวทางปฏิบัติที่เห็นผล เกิดประโยชน์สูงสุดในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กไทย และนำไปสู่การเป็นพลเมืองตื่นรู้ มีสุขภาวะทางปัญญา

ก่อนที่เวทีเสวนาจะเริ่มต้นขึ้น “ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก” รองประธานคณะทำงานเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน วุฒิสภา และนายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) ได้เผยตัวเลขที่น่าสนใจจากการศึกษาการรับมือกับ Cyberbullying ปี 2563 ในเด็กระดับชั้นมัธยมศึกษาทุกภูมิภาค จำนวน 3,240 คน พบว่า เด็กมัธยมไทยกว่า 21.6% โดนบูลลี่ และมากถึง 35% ไประรานผู้อื่นต่อ โดย 1 ใน 3 นั้น รู้สึกสะใจ ดูเท่ ขณะที่ผู้ตกเป็นเหยื่อจิตตก เศร้า อยากแก้แค้น ร้ายแรงถึงขั้นคิดสั้นฆ่าตัวตาย

Advertisement

ส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.2 เด็กจะถูกระรานทางออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 18 ถูกระรานหลายครั้งต่อสัปดาห์ และร้อยละ 8.6 ถูกระรานทุกวัน โดยช่องทางเฟซบุ๊กมากที่สุดถึง ร้อยละ 53.35 เกมออนไลน์ ร้อยละ 13.12 อินสตาแกรม ร้อยละ 10.13 ทวิตเตอร์ ร้อยละ 9.99 แอปพลิเคชันไลน์ ร้อยละ 8.27 แอปพลิเคชันติ๊กต๊อก ร้อยละ 2.57 ยูทูบ ร้อยละ 1.43 และทางสื่อออนไลน์อื่น ๆ ร้อยละ 1.14 ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการถูกระราน ร้อยละ 44.79 รู้สึกวิตกกังวล ร้อยละ 37.38 รู้สึกเจ็บปวดและเศร้า ร้อยละ 23.11 อยากแก้แค้น ร้ายแรงสุด คือ ร้อยละ 17.26 อยากฆ่าตัวตาย เมื่อถามว่ารับรู้ถึงการที่ผู้อื่นระรานทางออนไลน์หรือไม่ มีถึงร้อยละ 53.7 ตอบว่ารับรู้ และร้อยละ 67.3 หรือ 2 ใน 3 เคยเข้าไปช่วยเหลือผู้ถูกระราน 

การล้อกันของเด็กไทยจัดว่าสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และหนึ่งในประเด็นที่เด็กเอามาล้อกันอย่างมากก็คือเรื่องของ “รูปร่างหน้าตา” ซึ่งจากผลการศึกษาพฤติกรรมยังพบอีกว่า เพศชาย มีแนวโน้มสูงที่จะเอาคืนมากกว่าเพศอื่นๆ ถูกระรานแล้วต้องเอาคืน ต้องแก้แค้น และพบว่าเด็ก ม.2 นั้นมีแนวโน้มที่จะไประรานผู้อื่นต่อสูงที่สุด 

Advertisement

คำถามคือ “เราจะหยุดวงจรนี้ได้อย่างไร?” บนเวทีเสวนาก็ได้เปิดข้อเสนอเชิงนโยบายที่ครอบคลุมมิติ 4 เรื่องหลักๆ คือ 1.ต้องสร้างระบบการป้องกันปัญหา สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กก่อนอายุ 13 ปี 2.สร้างระบบการช่วยเหลือและเยียวยาเด็กที่ได้รับผลกระทบ มีมาตรการทางกฎหมาย และแนวทางการทำงานที่จะสามารถช่วยเหลือเหยื่อได้ 3.พัฒนาองค์ความรู้และการสื่อสารในสังคม และ 4.หน่วยงานกลางที่มีความยืดหยุ่น ต้องเป็นศูนย์กลางในการดูแลเด็กและเยาวชนอย่างเป็นองค์รวม ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญา พัฒนาทักษะการเป็นผู้ใช้และสร้างสรรค์สื่อที่มีความรอบรู้ เท่าทัน ควบคู่ไปกับการร่วมสร้างระบบนิเวศสื่อสุขภาวะด้วย

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ระบุว่า การพัฒนาและขยายสื่อดี สำคัญต่อการพัฒนาการเรียนรู้ และสุขภาวะทางปัญญาของเด็ก คณะกรรมาธิการได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาพส่วนเกี่ยวกับการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และการรู้เท่าทันสื่อมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งได้นำเสนอต่อวุฒิสภา และกำลังจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในไม่ช้านี้ ดังนั้น ข้อเสนอเรื่องการรับมือกับการระรานทางออนไลน์ของเด็กไทยในวันนี้ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่คณะกรรมาธิการจะให้ความสำคัญกับปัญหานี้เป็นการเฉพาะ ดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย เพื่อเด็กและเยาวชนโลกต่อไป

ขณะที่ด้าน รศ.จุมพล รอดคำดี ที่ปรึกษา สสดย. และผู้ทรงคุณวุฒิแผนระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้แนะ ให้นำเอาผลวิจัยมาทำเป็นคู่มือ หรือแนวปฏิบัติสำหรับการรับมือการระรานที่ถูกต้อง ในการที่จะให้ข้อแนะนำ หรือดูแลให้เด็กมีความเข้มแข็ง เพื่อเอาแรงถูกกระทำ ผลักดันไปในทิศทางบวก เป็นพลังบวกให้ตัวเองลุกขึ้นมาสร้างความสำเร็จและสร้างการยอมรับและอยู่ในสังคมได้อย่างภาคภูมิใจ 

“ควรมีแนวทางปฏิบัติของผู้ปกครอง คุณครู ว่าจะต้องทำอย่างไร รวมทั้งสื่อจะเผยแพร่อย่างไร เพื่อที่จะทำให้เกิดความเข้าใจพร้อมๆ กัน เข้าถึงคนกลุ่มนี้ให้เร็วที่สุด เด็กที่ถูกบูลลี่เจอเรื่องนี้มากๆ จะทำอย่างไรให้เด็กรู้วิธีการแก้ปัญหา เกิดความเข้มแข็ง แนะนำหรือหาทางออก ก็จะช่วยได้มากขึ้น”

เช่นเดียวกับ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. ที่มองว่างานวิจัยนี้ ชี้ให้เห็นว่าผู้ที่ถูกกระทำคือใคร ผ่านช่องทางไหน และคนที่กระทำ ทำเพราะเหตุใด ซึ่งวิธีเหล่านี้จะช่วยชี้ช่องวิธีแก้ไขได้ ว่าเราจะต้องทำงานกับใครที่ไหนบ้าง วันนี้เรามีคำแนะนำให้กับผู้ปกครอง ที่จะต้องช่วยกันเป็นผู้ที่ หล่อหลอมเด็ก คุณครูจะทำอะไรได้บ้าง ส่วนที่สำคัญมากๆ เราต้องการระบบกลไก นโยบายจากภาครัฐมาช่วยเป็นเครื่องมือในการทำงาน 

“ที่สำคัญคือกลไกของกฎหมายเอง จะต้องช่วยกันขับเคลื่อน ให้มีการเร่งรัด มีการจัดการปัญหาเฉพาะจุด ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ที่เกิดจากการทำงานวิจัยของทาง สสส. สสดย. และอีกหลายภาคส่วน การทำงานวิชาการถือเป็นตัวรากฐาน ซึ่งจะช่วยให้เห็นปัญหา ทั้งนี้ การมองปัญหาอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องลงลึกไปอีกว่า จะแก้ปัญหาได้อย่างไร ใครมีส่วนเกี่ยวข้องตรงนี้ ส.ว. จะเป็นส่วนสำคัญในการที่จะช่วยผลักดัน ให้เกิดทั้งการให้ความสำคัญในประเด็นนี้ เกิดการแชร์ข้อมูลแลกเปลี่ยนแนวคิด เพื่อจะร่วมกันแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ”

ต้องยอมรับว่าการห้ามคนไม่ให้บูลลี่ คงทำได้ยาก แต่รหัสคำตอบของเวทีนี้คือ จะทำอย่างไรให้เด็กโดนบูลลี่แล้วอยู่ได้ และมีความฉลาดทางอารมณ์ กลายเป็นโจทย์ร่วมสำคัญ ที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันออกแบบกลไก และพิจารณาหาทางออกร่วมกันต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image