แฉ! ธุรกิจน้ำเมาแอบล่ารายชื่อแก้ กม.ควบคุมเหล้า ให้อ่อนแอลง ‘โฆษณา-แจกชิมได้’

แฉ! ธุรกิจน้ำเมาแอบล่ารายชื่อแก้ กม.ควบคุมเหล้า ให้อ่อนแอลง ‘โฆษณา-แจกชิมได้’

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ พร้อมด้วยเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดเสวนา “เยาวชนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทย” เนื่องในโอกาสครบรอบ 13 ปี ประกาศใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551

นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) กล่าวว่า 13 ปีที่มีการใช้กฎหมายฉบับนี้ ถือเป็นเครื่องมือที่ใช้จัดการปัญหาสุรา สามารถลดจำนวนนักดื่มหน้าใหม่ได้ แม้ยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ค่านิยมคนรุ่นใหม่มองการดื่มเหล้าเรื่องเสรีภาพ แบบว่าฉันใช้เงินของฉัน ใช้สิทธิของตัวเอง แต่อาจไม่ได้มองครอบคลุมทุกมิติว่าการดื่มจนสูญเสียสติและการควบคุมตัว อาจนำมาซึ่งผลกระทบที่คาดไม่ถึงกับตัวเองและคนอื่นได้ เช่น ผลกระทบสุขภาพระยะยาว ถูกกระทำ ไปกระทำ ทะเลาะวิวาท ประสบอุบัติเหตุต่างๆ ฯลฯ อ้างอิงจากรายงานวิเคราะห์การดื่มแอลกอฮอล์และความเสี่ยงของโรคภัยต่างๆ ในปี 2016 ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์รายสัปดาห์ The Lancet เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2018 พบว่าไม่มีปริมาณที่ปลอดภัยในการดื่มแอลกอฮอล์ ฉะนั้นไม่ว่าจะดื่มแก้วเดียวก็สามารถสร้างผลกระทบได้

อย่างไรก็ตาม ที่น่ากังวลคือ กลุ่มธุรกิจน้ำเมายังคงมองเด็กและเยาวชนเป็นเป้าหมายทางการตลาด เพราะหากเริ่มดื่มตั้งแต่วัยนี้ก็มีโอกาสเป็นผู้ใหญ่ที่ติดเหล้า สามารถสร้างรายได้มหาศาล จึงพยายามทำทุกทางให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย จึงพยายามหลีกเลี่ยงกฎหมาย เช่น ใช้ตราเสมือนที่เปลี่ยนไปโฆษณาน้ำโซดา และยังมีรูปแบบโฆษณาเชิญชวนไปดื่มเหมือนเดิม เป็นสิ่งที่รัฐต้องเท่าทัน อ่านให้ขาด เราต้องอย่าอยู่กันแบบศรีธนญชัย

Advertisement

นอกจากนี้ ล่าสุดพบว่าได้ล่ารายชื่อ 1 หมื่นกว่ารายชื่อ เพื่อยื่นสภาฯ ขอแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ประชาชนร่วมเสนอกว่า 13 ล้านคนให้อ่อนแอลง เช่น ยกเลิกการควบคุมการโฆษณา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการควบคุมสินค้าประเภทนี้, การเปิดช่องให้มีการแจกให้ชิม, การให้มีตัวแทนธุรกิจน้ำเมาเข้ามามีบทบาทในคณะกรรมการฯ เป็นต้น จะยิ่งทำให้กฎหมายถอยหลัง ประชาชนจะเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายขึ้น เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจน้ำเมา

“จริงๆ การแก้กฎหมายนี้สามารถทำได้ หากอันไหนไม่ทันยุคสมัย ถือเป็นการแก้แล้วทำให้ปัญหาดีขึ้น เช่น กำหนดพื้นที่ควบคุมไม่ขายไม่ดื่มในที่สาธารณะ จำกัดการออกใบอนุญาตร้านขาย เป็นต้น แต่จากที่ดูในสาระร่างกฎหมายแก้ไขดังกล่าวแล้ว พบว่ามันแย่ลงมาก แก้มาตราสำคัญๆ หายไปหมดเลย เราจึงต้องออกมาปกป้องกฎหมายฉบับนี้ อย่างไรก็ดี เป้าหมายของเราไม่ใช่การกำจัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้หมดไปจากสังคม แต่เราต้องการให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่คู่กับสังคมได้ ด้วยการควบคุมให้อยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง” นายธีรภัทร์กล่าว

Advertisement
นายธีรภัทร์ คหะวงศ์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image