“นมแม่” ยิ่งให้นาน “ยิ่งดีจริงๆ”

เป็นที่ทราบกันดีว่า “นมแม่” มีประโยชน์มากมาย เพราะคุณค่าอันมหาศาลนี้ จึงเป็นที่มาของการสร้างความตระหนักให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน และเพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจว่า “นมแม่ยิ่งให้ลูกนานยิ่งดี” องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ ประเทศไทย จัดทริป “นมแม่ ยิ่งให้นานยิ่งดี จริงหรือ?” พาคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูการดำเนินงานโรงพยาบาลที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และพูดคุยกับมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่มามากกว่า 2 ปี ณ อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี

ภาพประกอบ (1)

ผลศึกษานมแม่ทั่วโลก

นางนภัทร พิศาลบุตร จนท.สื่อสารเพื่อการพัฒนา ยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทย โดยเฉพาะการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก อยู่ที่ร้อยละ 12.3 ถือว่าต่ำที่สุดในเอเชีย สาเหตุคือ การที่แม่ต้องไปทำงานหลังครบกำหนดลาคลอด 3 เดือน

Advertisement

“เดอะแลนซิต ซึ่งเป็นวารสารทางการแพทย์ระดับโลก ได้เปิดผลศึกษาเมื่อต้นปีที่ผ่านมาพบว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทำให้ลูกไอคิวสูงขึ้น 3 จุด อีกทั้งยังส่งผลต่อการประสบความสำเร็จในการเรียนและการทำงานมากกว่าเด็กที่กินนมผง” นางนภัทรกล่าว

นภัทร พิศาลบุตร
นภัทร พิศาลบุตร

โรงพยาบาลต้นแบบนมแม่

นพ.ธนกร ศรัณยภิญโญ ผอ.โรงพยาบาลวิหารแดง กล่าวว่า เราดูแลผู้หญิงตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ คลอด หลังคลอด และการเลี้ยงดูบุตร โดยเริ่มต้นจากอาสาสมัครนมแม่ (อสน.) 100 กว่าคนที่ประจำตามหมู่บ้าน จะคอยสอดส่องและชวนผู้หญิงให้มาฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด ระหว่างตั้งครรภ์จะเชิญมาเรียนโรงเรียนพ่อแม่ สอนเตรียมตัวก่อนมีบุตร สอนให้นมบุตรที่ถูกวิธี หลังคลอดยังมีมิสนมแม่คอยให้คำปรึกษาแม่ที่มีปัญหาน้ำนม และมีทีมงานเข้าไปเยี่ยมบ้าน เพื่อให้คำแนะนำปู่ย่าตายายให้ช่วงเลี้ยงเด็กอย่างถูกวิธี

นพ.ธนกรกล่าวอีกว่า จากการดำเนินงานทำให้ รพ.มีสถิติแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก ในปี 2559 ร้อยละ 49.46 สูงกว่าปี 2558 ที่มีสถิติร้อยละ 33.33 และสูงกว่าปี 2539 ที่เริ่มต้นโครงการอยู่ร้อยละ 10 กว่าๆ

“การทำงานตรงนี้ไม่ยาก แต่ที่ยากคือประชาชนจะนำความรู้ไปปฏิบัติหรือไม่ เพราะจะมีชุดความเชื่อต่างๆ มาเบี่ยงเบน อย่างความเชื่อว่าหน้าอกเล็กจะมีน้ำนมไม่พอให้ลูก ตรงนี้ทางการแพทย์ยืนยันว่า ไม่ว่าเต้านมเล็กหรือใหญ่ จะลูกคนเดียวหรือลูกแฝด แม่ก็สามารถให้นมได้อย่างเพียงพอได้ หากได้รับคำแนะนำอย่างถูกวิธี โดยสามารถทำ 3 อย่างดังนี้ 1.ให้ลูกดูดนมสม่ำเสมอ เพราะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการสร้างน้ำนมอยู่เสมอ 2.แม่ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ 3.แม่ต้องไม่เครียด เพื่อไม่ให้สมองสั่งลดการผลิตน้ำนม” นพ.ธนกรกล่าว

นพ.ธนกร ศรัณยภิญโญ
นพ.ธนกร ศรัณยภิญโญ

เปิดใจแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เกิน 2 ปี

น.ส.สายรุ้ง น้อยอินทร์ อายุ 36 ปี แม่น้องเฟรชชี่ อายุ 2 ขวบ 8 เดือน กล่าวว่า หลังจากลาออกจากงานประจำมาประกอบอาชีพอิสระ จึงมีเวลาเลี้ยงน้องเฟรชชี่ด้วยนมแม่มาตลอด ต่างจากลูก 2 คนแรกเลี้ยงด้วยนมแม่เพียง 3 เดือนและต้องกลับไปทำงานประจำ ทั้งนี้ ลูกทั้ง 3 เห็นความแตกต่างชัดเจน น้องเฟรชชี่จะสุขภาพดี เป็นเด็กร่าเริง เรียนรู้เร็ว ต่างจากพี่ทั้ง 2 ที่ป่วยเข้า รพ.บ่อย และมีค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนสูง จากการต้องซื้อนมผง

 

ส่วน น.ส.วิจิตรา มีสวัสดิ์ อายุ 33 ปี แม่น้องเต้ย อายุ 2 ขวบ 2 เดือน กล่าวว่า ตนเลี้ยงน้องเต้ยและพี่ด้วยนมแม่อย่างเดียว เพราะรู้ความสำคัญของนมแม่ สิ่งที่เห็นคือ เขาเป็นเด็กอารมณ์ดี สมองไวจนครูชมว่าฉลาดเกินวัย ทั้งนี้ แม้จะทำงานประจำ แต่ก็พยายามให้ลูกได้กินนมแม่ จึงบีบเต้าเก็บน้ำนมใส่ขวดแล้วแช่เย็นให้ลูกกินตอนกลางวัน ส่วนกลางคืนก็กินจากเต้าเหมือนเดิม

“การให้ลูกกินนมแม่ยังเป็นการสานสัมพันธ์ที่ดี ลูกติดเรา ชอบบอกรักเรา เวลานอนหลับปากก็ดูดนมจากเต้า อีกมือก็มากอดแม่ไว้ (ยิ้ม) ส่วนเคล็ดลับจะกินพวกแกงเลียง หัวปลี กุยช่าย ตามความเชื่อว่าจะกระตุ้นน้ำนม ก็ไม่รู้ว่ากระตุ้นจริงไหม แต่รู้สึกว่ามีน้ำนมเพียงพอมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และการบีบนมใส่ขวดเก็บให้ลูก ไม่น่ากลัวอย่างที่เชื่อว่าจะทำให้หน้าอกเละ ตรงนั้นอาจเพราะบีบไม่ถูกวิธีต่างหาก” นางสาววิจิตรากล่าว

วิจิตรา มีสวัสดิ์ และน้องเต้ย
วิจิตรา มีสวัสดิ์ และน้องเต้ย

ชี้ลูกกินนมแม่ได้ถึงอายุ 7 ขวบ

พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช กล่าวว่า จากงานวิจัยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและพงศาวดาร ระบุคล้ายกันว่าไม่ได้มีเส้นบอกว่าต้องหยุดนมแม่ช่วงไหน แต่จะเลิกดูดนมแม่ก็ต่อเมื่อฟันแท้ขึ้น หรือน้ำหนัก 4 เท่าของน้ำหนักแรกเกิด ซึ่งประมาณ 6-7 ขวบ ตรงนี้ก็สอดคล้องกับข้อมูลทางการแพทย์ว่า เด็กก่อนอายุ 6-7 ปีจะป่วยมาก เพราะอยู่ในช่วงสร้างภูมิคุ้มกัน ฉะนั้นหากได้กินนมแม่ซึ่งคอยดักจับเชื้อโรคเหมือนเป็นภูมิคุ้มกันในตลอดช่วงอายุนี้ เด็กก็จะไม่ป่วยบ่อย

“นมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เพียงพอต่อการสร้างร่างกายและภูมิคุ้มกันให้เด็ก ส่วนนมผงมีสารอาหาร 60 ชนิด มีส่วนประกอบแป้ง น้ำตาล และไขมัน กินแล้วได้พลังงาน แต่ไม่สร้างภูมิคุ้มกัน ที่สำคัญนมแม่แม้จะแช่เย็นนาน 6 เดือนหรือ 1 ปี ก็ยังมีสารอาหารมากกว่านมผงชงใหม่”

กับความเชื่อว่านมแม่จะหมดคุณค่าลง จะเป็นเพียงน้ำเหลืองธรรมดา เมื่อลูกอายุเกิน 6 เดือนหรือ 1 ปีนั้น พญ.สุธีรากล่าวว่า นมแม่ไม่ว่าลูกจะอายุ 6 เดือนถึง 6 ปีแล้ว ก็ยังมีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ฉะนั้นบุคลากรทางการแพทย์ที่พูดอย่างนี้ แสดงว่าเขาไม่มีข้อมูลเรื่องนมแม่เลย ทั้งนี้ หลัง 6 เดือนแรกที่ลูกกินนมแม่ล้วน แม่สามารถเริ่มให้อาหารเสริมควบคู่กับนมแม่ 1 มื้อ, 9 เดือน กินอาหารเสริม 2 มื้อ และ 1 ปีกิน 3 มื้อ หลังจาก 1 ปี ควรให้ข้าวเป็นอาหารหลัก หากยังมีน้ำนมแม่ให้กิน ก็กินได้เรื่อยๆ จนน้ำนมแม่หมด หรือลูกเลิกกินไปเอง

ส่วนแม่ที่อยากให้นมลูกจนถึง 7 ปี พญ.สุธีรากล่าวว่า สามารถกระตุ้นน้ำนมให้มีต่อเนื่อง โดยให้ลูกดูดสม่ำเสมอหรือบีบใส่ขวดแช่แข็งไว้ทุกๆ 3 ชั่วโมง โดยแช่ไว้ที่ -20 องศาเซลเซียส สามารถเก็บได้ 1 ปี ตรงนี้ยังสามารถนำกลับไปให้พี่คนโตที่อายุไม่เกิน 7 ปี ที่ป่วยออดๆ แอดๆ กลับมาดื่มอีกครั้ง เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นได้ ซึ่งตนได้พิสูจน์มาแล้ว

วัคซีนสำคัญของลูก

พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ

พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ

สายรุ้ง น้อยอินทร์ และน้องเฟรชชี่  (5)
สายรุ้ง น้อยอินทร์ และน้องเฟรชชี่
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image