เปิดชีวิต ‘อแมนด้า’ แง่มุมที่ไม่เคยรู้ เล่าทั้งน้ำตา เคยถูกบูลลี่รูปร่าง จนเป็นโรคคลั่งผอม

เปิดชีวิต ‘อแมนด้า’ แง่มุมที่ไม่เคยรู้ เล่าทั้งน้ำตา เคยถูกบูลลี่รูปร่าง จนเป็นโรคคลั่งผอม

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม แฟนเพจอย่างเป็นทางการของมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอซึ่งจั่วหัวว่า เสียงร้องขอยังไม่ดัง หรือไม่มีใครตั้งใจ “ฟัง” แต่เพียงแค่ “ได้ยิน”?

คลิกชมคลิป

ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตของ อแมนด้า ออบดัม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ในแง่มุมที่ไม่เคยเล่าที่ไหนมาก่อน บอกเล่าด้วยตัวของเธอเอง

โดย อแมนด้า เล่าว่า เธอเติบโตมากับคุณแม่ที่เป็นคนสุพรรณบุรี กับคุณพ่อที่เป็นคนแคนาดา ย้ายมาอยู่ภูเก็ตเมื่อ 30 ปีที่แล้ว โดยทั้งคู่เจอกันบนชายหาด เธอก็เลยเป็นเด็กเกาะคนหนึ่ง เป็นเด็กธรรมดาที่ใช้ชีวิตอยู่บนชายหาด บนทะเล

Advertisement

การเติบโตในเมืองไทยและเป็นลูกครึ่ง ทำให้เธอรู้สึกไม่ Fit in กับคนที่นี่ มีความรู้สึกว่า เธอแตกต่างจากคนอื่น เข้ากับเพื่อนไม่ค่อยได้ ทุกคนจะมองว่าเธอเป็นชาวต่างชาติ ยูไม่ไทยพอ

“เวลาคนบอกเราว่าเราไม่ไทยพอ ก็จะบอกว่าก็ฉันรู้สึกไทย” อะแมนด้ากล่าวและว่า

ชีวิตที่ดูสวยงาม อาจจะมาจากโซเชียลมีเดียหรือไม่ ตอนนี้ทุกคนใช้ชีวิตกับแพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดีย และทุกคนจะต้องอัพเดทรูป โพสต์รูปช่วงเวลาที่ดีที่สุดของชีวิตลงไป แต่ในความจริงแล้วเธอเชื่อว่าตัวตนของทุกคนมีความทุกข์ มีความเศร้า แล้วแต่ว่าคนจะเล่าหรือเปล่า

หลายคนมองเธอว่ามีความเป็นสุข มีครอบครัวอบอุ่น แต่จะบอกว่าไม่ใช่อย่างนั้น เธอก็ผ่านทุกข์มาเหมือนกัน
โดยเฉพาะ “จุดเปลี่ยนของชีวิต” ซึ่งก็คือช่วงที่เธอต้องไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่แคนาดาคนเดียว เพราะเธอใช้ชีวิตที่ประเทศไทยมาโดยตลอด พออายุ 18 ปี ต้องออกจากครอบครัวไปอยู่แคนาดาคนเดียว ก็ถูกมองว่ายูเป็นคนเอเชีย ยูไม่ Fit in ยูไม่ใช่คนที่่นี่

“เป็นความรู้สึกที่ เราไม่ Fit in ที่ไหนเลย เป็นคนที่อยู่กึ่งกลางตลอด เลยเป็นเหมือนช่วงเวลาที่ยากที่สุด บวกกับการที่เราเป็นโรคกลัวอาหาร กลัวความอ้วน”

การเป็นโรคคลั่งผอม (Anorexia Nervosa) และโรคล้วงคอ (Bulimia) มีจุดเริ่มต้นมาจากคำพูดของคนคนหนึ่งที่ทำร้ายเธอ เขาพูดว่า “อ้วนนะ” ซึ่งมีผลกับเธอมาก เธอจึงเดเวลอปต์การควบคุมตัวเองขึ้นมา มองว่าอาหารคือ “ศัตรู”

ด้วยตอนอยู่เมืองไทยทุกอย่างเป็นไปตามสภาพแวดล้อม มีพ่อแม่จัดหาอาหารให้ แต่พอไปเรียนแคนาดาทุกอย่างอิสระไปหมด เธอไม่รู้ว่าต้องควบคุมอย่างไร จนทำให้ปีแรกที่ไปเรียนต่อ น้ำหนักเพิ่มขึ้น 15-20 กิโลกรัม ทำให้คำพูดของคนที่พูดกับเธอว่า “ไปแคนาดา ไปกินหรือไปเรียน” ทำให้เธอจุกที่คอ รู้สึกว่าไม่โอเค บั่นทอนจิตใจของเธอมาก พอกลับไปเรียนต่อจึงเริ่มควบคุมอาหารที่จะนำเข้าปาก

“จิตใจเรารู้ว่าอาหารที่จะทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้ แต่พอเป็นโรคนี้เหมือนเราไม่ใช่แค่ศัตรูของอาหาร แต่เป็นศัตรูของตัวเองด้วย เหมือนว่าเรารักตัวเองน้อยลง ไม่มีความเคารพในร่างกายของตัวเอง”

“มีมากกว่า 10 ครั้งที่มีคนเข้ามาหาด้า และบอกว่า น้องอแมนด้า เป็นยังไง พี่อยากเป็นบ้าง พี่อยากผอม เราก็เลยรู้สึกว่า โอ้โห เขาไม่รู้เลยใช่ไหมว่ามันทรมานแค่ไหน แล้วพอได้ยินคำนี้ เราตกใจ เราบอกว่า พี่ไม่อยากเป็นหรอกค่ะ มันทรมานมาก” อแมนด้ากล่าวเสียงสั่น

ร้องขอความช่วยเหลือแต่กลับไม่มีใครได้ยิน

มีอยู่จุดหนึ่งที่เธอรู้สึกว่าเธอเหนื่อย ไม่ไหวแล้ว อยากกลับไปกินได้อย่างปกติ เคยเหมือนลองขอความช่วยเหลือจากคนที่บ้าน แต่พอเขาไม่รู้ว่าโรคนี้คืออะไร เขาไม่เข้าใจ

“เราบอกว่าอยากกิน แต่เขาก็บอกว่าหิวก็กินสิ”

ทำให้เธอรู้สึกว่าขอความช่วยเหลือแล้ว ทำไมไม่มีใครฟังเธอเลย ทำให้อาการของโรคแย่ลงเรื่อยๆ กระทั่งได้กลับมาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความรักของครอบครัว และเพื่อนสนิท เหมือนพวกเขาไม่ได้ใช้คำที่รุนแรง แต่เริ่มที่จะถามเล็กๆ ว่า “อแมนด้าเป็นไรไหม”

“โห คนรักเราเยอะขนาดนี้ ทำไมเราไม่รักตัวเองเลย เหมือนตื่นขึ้นมาแล้วเริ่มทานอาหาร แต่เป็นกระบวนการที่ไปอย่างช้าๆ ต้องกล่อมตัวเองว่า กินได้นะ กลืนเลย มันโอเค”

ทว่าโรคนี้ก็ไม่ใช่ว่ารักษาหาย 100 เปอร์เซ็น ก็ยังมีบ้างที่ทำงานในแวดวงนางงาม เธอต้องรักษาหุ่นตัวเอง ก็จะมีคำพูดมาบ้างที่มากระทบ ก็มีความคิดแวบเข้ามาบ้างว่าต้องกินน้อยลงแล้วนะ แต่ก็ต้องตั้งสติแล้วบอกตัวเองว่าจะไม่กลับไปอยู่จุดนั้นอีก

“เลยอยากจะบอกทุกคนที่มาคอมเมนต์เรื่องหุ่นของเราว่า กินเยอะไปแล้วนะ ต้องไดเอทไหม อยากจะบอกว่าร่างกายของทุกคน เป็นของเขา ไม่ใช่ของใครทั้งนั้น นี่คือร่างกายของด้า ด้าจัดการตัวเองได้ ไม่ต้องมาบอกแล้ว”

เพราะฉะนั้น อแมนด้า จึงตั้งใจที่จะบอกทุกคนว่า อยากให้ทุกคนหยุดแล้วฟัง ฟังด้วยความเห็นอกเห็นใจ ไม่ใช่แค่ฟังเพื่อพูดต่อ ฟังโดยไม่ตัดสิน นั่งเฉยๆ แล้วฟัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image