คนไทยไว้พุง ทะลุเท่าตัว ไขข้อสงสัย ทำไมลดน้ำหนักไม่ได้สักที!

คนไทยไว้พุง ทะลุเท่าตัว ไขข้อสงสัย ทำไมลดน้ำหนักไม่ได้สักที!

ไอเอฟ คีโต โยโย่เอฟเฟ็กต์… ล้วนเป็นคำศัพท์ที่เชื่อว่าหลายคนคุ้นหูเป็นอย่างดี และอาจจะเคยเสิร์ชหาข้อมูลความหมายว่าคืออะไร เพราะล้วนแล้วแต่เกี่ยวกับ “การลดน้ำหนัก” ซึ่งเป็นหัวข้อที่ทุกเพศทุกวัยให้ความสนใจ ทว่าการลดน้ำหนักสำหรับใครหลายคน กลับไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแม้ว่าจะตั้งมั่นและตั้งใจมากี่ครั้ง ก็มักจะล้มเหลวอยู่เสมอ

เนื่องใน “วันอ้วนโลก” (World Obesity Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 4 มีนาคมของทุกปี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับเครือข่ายคนไทยไร้พุง จัดงานเสวนา ถอดบทเรียนสถานการณ์โรคอ้วนในประเทศไทย ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ (รางน้ำ) กรุงเทพฯ โดยมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยไขข้อสงสัย ทั้งเรื่องภัยร้ายของโรคอ้วน ความหมายของกิจกรรมทางการ การกินที่ถูกต้อง ไปจนถึงวิธีลดน้ำหนักที่เหมาะสม แบบที่สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง

น้ำหนักเท่าไหร่ ถึงจะเรียกว่า’อ้วน’

หาคำตอบได้ง่ายๆ จากการหา ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) ตามสูตร น้ำหนักตัว[กก.]/(ส่วนสูง[เมตร]ยกกำลังสอง) ซึ่งหากค่า BMI มากกว่า 25 เท่ากับเป็นโรคอ้วนแล้ว

Advertisement

ทว่ายังมีภาวะอ้วนอีกลักษณะ หรือที่เรียกว่า “อ้วนลงพุง” ซึ่งค่าดัชนีมวลกายอาจจะไม่ถึงเกณฑ์โรคอ้วน แต่เมื่อวัดรอบพุงแล้วมีค่าสูงกว่า สูตร (ส่วนสูง [ซม.])/2) แสดงว่าอ้วนลงพุง โดยขณะที่วัดรอบพุงให้ยืนตรง สายวัดขนานกับพื้น อย่ารัดแน่น อ่านค่าระหว่างหายใจออก หากเป็นผู้หญิงไทยต้องมีรอบพุงไม่เกิน 80 ซม. ผู้ชายไทยไม่เกิน 90 ซม.

อันตรายของการ “มีพุง” คือ มีไขมันสะสมบริเวณหน้าท้องเยอะ เสี่ยงต่อการเป็นโรคไขมันพอกตับ อันจะนำไปสู่ภาวะตับอักเสบ ตับอักเสบเรื้อรัง และมะเร็งตับได้

ไลฟ์สไตล์แบบตะวันตก หนุนโรคอ้วนสูงเท่าตัว

ก่อนที่จะลดน้ำหนัก ควรที่จะต้องรู้เสียก่อนว่า “ภาวะน้ำหนักเกิน” หรือ “โรคอ้วน” เป็นภัยร้ายคุกคามสุขภาพอย่างไร

Advertisement

ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ปธ.เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เผยว่า ปัจจุบันพบคนอ้วนมากกว่า 800 ล้านคนทั่วโลก ขณะที่ประเทศไทยพบเด็กและผู้ใหญ่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานจำนวนมากจาก ไลฟ์สไตล์การกินอาหารแบบเวสเทิร์นมากขึ้น  อาทิ เบเกอรี่ ขนมหวาน ซึ่งเป็นอาหารที่มีแคลอรีสูง กินผักน้อย ไม่ถูกหลักโภชนาการ ประกอบกับกินมากเกินความจำเป็น ทำให้แนวโน้มการเป็นโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น

จากการสำรวจพบคนไทย ร้อยละ 34.1 หรือ 19.3 ล้านคน มีภาวะ “อ้วน” และมีคนไทยที่รอบเอวเกิน “อ้วนลงพุง” คิดเป็นร้อยละ 37.5 หรือกว่า 20.8 ล้านคน โดยทั้ง 2 กลุ่ม เสี่ยงป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ส่งผลต่อสมรรถภาพการทำงาน คุณภาพการนอน การใช้ชีวิตในสังคม ความกังวลในรูปลักษณ์ของตนเอง เกิดเป็นปมด้อยที่อาจส่งผลต่อสุขภาพจิต เครียด ซึมเศร้าได้

ที่สำคัญคือจำนวนของ “เด็กอ้วน” ก็เพิ่มขึ้นด้วย จากการคาดการณ์พบว่ามีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นด้วย

ดร.สง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการอิสระ กล่าวเสริมว่า โรคอ้วน ยังเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้าย เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคปอดเรื้อรัง โรคเบาหวาน และโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น ไตวาย เกาต์ ตับแข็ง สำหรับคนที่คิดว่าโรคอ้วนมาจากพันธุกรรม ในทางการแพทย์พบว่าอยู่ในกลุ่มคนส่วนน้อย

เทรนด์การกินแบบใหม่ คีโต-ไอเอฟ-สองหนึ่งหนึ่ง

พญ.สิรกานต์ เตชะวณิช กรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เผยว่า ในปัจจุบันได้มีแนวทางการกินอาหารเพื่อลดน้ำหนักซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่คนทั่วไป แต่ยังไม่มีคำแนะนำที่ชัดเจนและตรงกันจากสถาบันการแพทย์ต่างๆ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ อย่างไรก็ตาม มักจะมีการเชิญชวนจากกลุ่มผู้นิยมการกินอาหารรูปแบบดังกล่าวว่าเป็นการกินอาหารโดยไม่ต้องจำกัดปริมาณ ตัวอย่างแนวทางการกินอาหารที่ได้รับความนิยม ได้แก่ การกินอาหารแบบคีโต (Keto diet) และการกินอาหารแบบจำกัดเวลา (Intermittent Fasting : IF)

โดย การกินอาหารคีโต คือการกินอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำมาก และไม่จำกัดปริมาณไขมัน โดยปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่อนุญาตให้กินอาจน้อยกว่าวันละ 30 กรัม กล่าวคือ ถ้าเป็นข้าวก็ไม่เกินวันละ 2 ทัพพี หรือขนมปังไม่เกินวันละ 2 แผ่น โดยไม่สามารถกินคาร์โบไฮเดรตจากแหล่งอื่นได้อีก เช่น ผลไม้หรือผักประเภทหัว เป็นต้น

เมื่อคาร์โบไฮเดรตน้อยมากจนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จะส่งผลให้ระดับฮอร์โมนอินซูลินในร่างกายต่ำมาก เกิดการสลายไขมันที่ตับได้สารคีโตนให้ร่างกายใช้เป็นพลังงานแทน ดังนั้น การกินอาหารรูปแบบนี้จึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดสารคีโตนคั่งในเลือด หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคตับ และผู้ที่มีโรคทางพันธุกรรมที่มีการเผาผลาญไขมันที่ผิดปกติ เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ที่กินอาหารแบบคีโตต้องกินวิตามินและแร่ธาตุเสริม เนื่องจากได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน

รศ.พญ.พิมพ์ใจ อันทานนท์ กรรมการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย เสริมว่า ในการกินคีโต ไขมันที่เลือกกินต้องเป็นไขมันดีเท่านั้น หากเป็นไขมันไม่ดีก็อาจจะทำให้ได้ผลลัพธ์ไปอีกทาง และเป็นวิธีที่ไม่สามารถทำได้ตลอดชีวิต จึงไม่เหมาะสำหรับทุกคนเพราะอาจทำให้ขาดสารอาหารได้

ต่อด้วยวิธี การกินอาหารแบบจำกัดเวลา (Intermittent Fasting : IF) คือรูปแบบอาหารที่เอาระยะเวลามากำหนดการกิน มาจากคำว่า Intermittent แปลว่า ไม่ต่อเนื่อง และ Fasting แปลว่า อดอาหาร

ดังนั้น การกินแบบไอเอฟ (IF) คือการอดอาหารเป็นช่วงๆ เพื่อหวังให้ร่างกายได้เผาผลาญไขมันส่วนเกินออกไปใช้เป็นพลังงาน ซึ่งช่วงระยะเวลาที่อดอาหารมีหลากหลายตั้งแต่ 16 ชั่วโมงไปจนถึง 48 ชั่วโมง ซึ่งสูตรที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ สูตร 16:8 กล่าวคือไม่กินอาหารหรือเครื่องดื่มที่ให้พลังงานต่อเนื่อง 16 ชั่วโมง และกินอาหารได้ภายใน 8 ชั่วโมง เช่น หากเริ่มกินอาหารเวลา 11.00 น. จะกินได้จนถึง 19.00 น. หลังจาก 19.00 น. จะดื่มแต่น้ำเปล่า แล้วกินอาหารได้อีกครั้งในเวลา 11.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ข้อควรระวังคือ ด้วยมีการอดอาหารเป็นระยะเวลานานอาจจะไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร

ซึ่งจากการศึกษาที่มีการควบคุมคุณภาพอย่างดีพบว่า พลังงานอาหารที่บริโภคและผลลัพธ์ในการลดน้ำหนักไม่แตกต่างจากการควบคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนักด้วยวิธีปกติ

ขณะเดียวกันชีวิตไม่ได้มีอาหารอย่างเดียว ยังต้องเข้าสังคม ซึ่งการอดอาหารนานๆ แล้วเพื่อนชวนไปทานข้าวเห็นบุฟเฟต์ก็จะเบรกแตก หรือหากเริ่มไอเอฟหลังเที่ยงก็จะพลาดมื้อสำคัญอย่างมื้อเช้าไป ส่งผลให้อายุมากขึ้นจะทำให้กล้ามเนื้อสลายไวขึ้น เนื่องจากได้รับปริมาณโปรตีนไม่เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม ยังมีแนวทางการกินอาหารอย่างง่าย ตามคำแนะนำของกรมอนามัย คือ “กินอาหาร 2:1:1” วิธีนี้จะทำให้ได้สารอาหารครบถ้วนและมีปริมาณที่เหมาะสม โดยในแต่ละมื้ออาหารปริมาณที่ควรกิน มีดังนี้ ให้แบ่งจานแบนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 9 นิ้ว แบ่งเป็น 4 ส่วนเท่าๆ กัน โดย 2 ส่วนเป็นผัก อีก 1 ส่วนเป็นข้าว แป้ง และอีก 1 ส่วนเป็นโปรตีน เน้นเนื้อสัตว์ไม่ติดมันและเนื้อปลา สามารถกินผลไม้สดร่วมด้วยในปริมาณขนาดเท่าจานรองถ้วยกาแฟ 1 จาน หรือประมาณผลไม้หั่นชิ้น 6-8 ชิ้นคำ หรือผลไม้ขนาดกลาง 1 ผล หรือผลไม้ขนาดเล็ก 4-6 ผล ควรกินผักและผลไม้รวมกันให้ได้อย่างน้อย 5 ส่วนต่อวัน เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินและแร่ธาตุครบถ้วน ไม่ต้องกินเสริม

“เพราะหลายคนไม่ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินที่ถูกต้อง จึงไม่รู้ว่าต้องทำตัวอย่างไรในระยะยาว สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดความอยากคือความหิว จึงอยากแนะนำให้ทานอาหารให้ครบถ้วน ครบ 3 มื้อ เพื่อไม่ให้ระยะเวลาในการอดอาหารนานเกินไป จะช่วยกดความหิวเอาไว้ได้ และอยากให้มองว่าพฤติกรรมการกินอาหารแบบสุขภาพ ในแต่ละคนหรือในโลกนี้มีหลากหลาย

จุดสำคัญคือ 1.รับประทานอาหารที่ครบถ้วน โดยไม่จำเป็นต้องได้วิตามินหรือแร่ธาตุเสริม 2.เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ในระยะยาว วิธีอะไรก็ตามที่ทำให้ลดน้ำหนักได้เร็ว เช่น ลด 15 กิโลกรัม ใน 3 เดือน แต่ในอีก 1 ปีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 15-20 กิโลกรัม แบบนี้ไม่นับว่าลดน้ำหนักสำเร็จ เน้นทางสายกลางหรือสุดโต่งเกินไป

หลายคนอยากทำไอเอฟ ก็อยากให้เริ่มจากการไม่รับประทานอาหารหลัง 18.00-06.00 น. เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ก่อนดีไหม เพราะเป็นวิธีที่ทำให้เราไม่พลาดอาหารเช้าที่จะเป็นพลังงานให้ใช้ในตลอดทั้งวันด้วย” พญ.สิรกานต์กล่าวแนะ

 

พญ.สิรกานต์ เตชะวณิช กรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย

ทุกขยับนับหมด กินเข้าไปอย่าลืมนำออก

ด้าน อรณา จันทรศิริ นักวิจัยจาก สนง.พัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำกิจกรรมทางกายว่า เมื่อมีการรับพลังงานเข้าไปจากการกินอาหารก็ต้องมีการใช้พลังงานเพื่อเผาผลาญออกไป แต่หลายคนมักจะเริ่มต้นที่ “จำนวนน้ำหนักที่ต้องลด” โดยคิดว่าต้องออกกำลังกายหนักๆ เป็นเรื่องที่น่าท้อแท้ จนทำให้ล้มเลิกความตั้งใจไป

ทว่าจริงๆ แล้วการมีกิจกรรมทางกายเป็นเรื่องง่าย และสามารถปรับให้เหมาะสมกับรูปแบบวิถีชีวิตของแต่ละคนได้ในทุกบริบท ทุกคนสามารถทำกิจกรรมอะไรก็ได้ตลอดทั้งวันทุกเวลา เช่น ทำงานบ้าน รดน้ำต้นไม้ ให้ตัวเองได้เคลื่อนไหวตลอดเวลา เพื่อเป็นการลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของการมีน้ำหนักเกินด้วย

โดยองค์การอนามัยโลก ให้นิยาม “ทุกขยับนับหมด” (Every move counts) แนะนำให้ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุมีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 150-300 นาทีต่อสัปดาห์ โดยสามารถเพิ่มจำนวนชั่วโมง หรือสะสมทำวันละนิดละหน่อยก็ได้ ส่วนผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักเริ่มต้นด้วยวิธีง่ายๆ เช่น อาจเริ่มเดินให้ครบ 8,000-10,000 ก้าวต่อวัน ทำได้ง่ายทุกที่ ติดตามได้ง่าย และไม่ต้องอาศัยทักษะกีฬา

ที่สำคัญทำได้เลย อย่า “เดี๋ยว” หรือ “พรุ่งนี้แล้วกัน”

อรณา จันทรศิริ นักวิจัยจาก สนง.พัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP)

ส่วนคนที่มีพื้นที่จำกัดก็สามารถกระโดดเชือก โยคะ ไทชิ หรือยังมีโปรแกรมออนไลน์ต่างๆ ที่ช่วยให้ได้ลองกิจกรรมใหม่ๆ

จากนั้นให้คิดถึงโอกาสที่จะพิชิตเป้าหมายแต่ละวันให้สำเร็จ เช่น การชวนเพื่อนที่ออกกำลังอยู่แล้วไปออกกำลังกายด้วยกัน หาสถานที่และปรับวิถีชีวิตให้สามารถมีกิจกรรมทางกายได้จนเป็นนิสัย ขึ้นบันไดแทนการขึ้นลิฟต์ หรือชวนเพื่อนเดินไปช้อปปิ้งแทนการนั่งมอเตอร์ไซค์ เดินไปเมาธ์ไปไม่เบื่อ เพราะมีผลสำรวจพบว่าการลดน้ำหนักเป็นคู่ ครอบครัว หรือองค์กร ประสบความสำเร็จดีกว่าลดคนเดียว

กิจกรรมทางกาย งานบ้านก็นับนะ


ลดไม่จริง ‘โยโย่ เอฟเฟ็กต์’

เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผู้ลดน้ำหนักเจอบ่อยนั่นก็คือ “โยโย่ เอฟเฟ็กต์” น้ำหนักลดลงไปแล้ว แต่เมื่อกลับมาทานปกติก็เด้งกลับมาที่จุดเดิม

รศ.พญ.พิมพ์ใจ อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า เมื่อเราลดน้ำหนักด้วยการรับพลังงานเข้าไปผ่านการกินที่น้อยลง พลังงานที่ร่างกายต้องการใช้ในแต่ละวันก็จะลดลงด้วย หากเรายังกินในปริมาณเท่าเดิมน้ำหนักก็จะไม่ลดลงไปอีกแล้ว ทว่าหากอยากจะให้น้ำหนักลดลงไปอีก ก็ต้องออกกำลังกายเพื่อเบิร์นพลังงานส่วนเกินและส่วนที่เรามีออกไป ทั้งนี้ มีการศึกษาระบุไว้ว่า ระหว่างที่เราลดน้ำหนัก ร่างกายจะมีความโหยมากขึ้น อยากกลับมากินอาหารเยอะขึ้น จึงเป็นเหตุให้หลายคนกลับมากินเหมือนเดิม

 

เครียด-นอนน้อย ทำให้อ้วนจริงไหม

เป็นอีกหนึ่งข้อสงสัยของหลายๆ คน ที่ รศ.พญ.พิมพ์ใจให้คำตอบว่า มีการศึกษาระบุว่าการนอนหลับไม่เพียงพอจะไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายอยากทานอาหารมากขึ้น ทั้งทำให้ฮอร์โมนที่ทำให้อิ่มหลั่งน้อยลง จึงมีแนวโน้มที่จะทำให้หิวมากขึ้น กินมากขึ้น

ดร.สง่าเสริมว่า มีหลายการศึกษาระบุว่าคนที่ทำงานเป็นกะ นอนไม่พอ จะมีค่าดัชนีมวลกายสูงกว่าคนทั่วไป เพราะนอกจากเรื่องของฮอร์โมนแล้ว ยังมีปัจจัยที่พอเลิกงานดึกก็ไปทานอาหาร เมื่อกินแป้งตอนดึกก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อ้วน

ส่วนความเครียด ก็มีส่วนทำให้อ้วน รศ.พญ.พิมพ์ใจเผยว่า มีการศึกษาระบุว่า คนที่เครียดจะมีการกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งคอร์ติซอล ซึ่งมีผลทำให้ร่างกายแอคทีฟมากขึ้น แก้ไขปัญหาได้ แต่หากสะสมในระยะยาวจะทำให้เกิดอาการโหยมากขึ้น หิวมากขึ้น ร่างกายจะเรียกร้องอยากกินอาหารที่มีแคลอรีสูง เช่น ไขมัน คาร์โบไฮเดรต ส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น หรือที่พูดกันติดปากว่า “กินแก้เครียด”

 

รศ.พญ.พิมพ์ใจ อันทานนท์

เคล็ดลับควบคุมน้ำหนักให้สำเร็จ
‘ตั้งเป้าหมายที่สามารถทำได้’

ดังที่เกริ่นไปในข้างต้นว่า การลดน้ำหนัก คืออุปสรรคและเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยสำหรับหลายคน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญในวงเสวนาครั้งนี้ก็พร้อมใจกันพยักหน้าเห็นด้วยกับคำที่ว่า “อย่าหักดิบ”

โดย พญ.สิรกานต์ แนะนำว่า ให้เริ่มจากการตั้งเป้าหมายที่สามารถทำได้ในกิจวัตรประจำวันของตน เช่น หากมีพฤติกรรมดื่มกาแฟทุกวัน ไม่สามารถเลิกได้โดยเด็ดขาด ก็ให้เริ่มจากการลดความหวานลงก่อน กินเป็นแบบหวานน้อย จากนั้นค่อยๆ ปรับความถี่ในการดื่มให้ลดลง ลดหรือเลิกทานของทอดในมื้อเย็น หากสามารถปฏิบัติต่อเนื่องกันเป็นเวลา 14-21 วัน ก็จะกลายเป็นนิสัยที่เราคุ้นชิน

ขณะที่ ดร.สง่า กล่าวเสริมว่า หลายคนเลือกที่จะทานผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลน้อย หรือใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล แน่นอนว่ากินแล้วไม่ทำให้อ้วน แต่เป็นการลดหวานที่ไม่ยั่งยืน เพราะลิ้นยังคุ้นชินกับการกินรสหวาน ฉะนั้นร่างกายก็จะยังมีความอยากหวาน เมื่อเห็นขนมเค้ก ขนมหวานก็จะยังมีความอยากกิน เป็นต้น

ด้าน ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี กล่าวเสริมว่า หลายคนบอกไม่มีเวลาในการออกกำลังกาย ในความเป็นจริงแล้วสามารถเดินให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น การเดินเร็ว จนติดเป็นนิสัย คือเดินให้ได้ 100 ก้าว/1 นาที เป็นการเดินด้วยออกกำลังกายไปด้วย ส่วนคนที่หันไปเพิ่งผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่มีการปรุงแต่งมากเกินไปก็ไม่เป็นผลดี อย่างไรการลดน้ำหนักด้วยวิธีธรรมชาติก็ดีที่สุด

ทั้งนี้ ดร.สง่า กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการลดน้ำหนักให้สำเร็จอยู่ที่ อ.อารมณ์ หรือแรงจูงใจในการลดน้ำหนัก ที่ต้องหาให้เจอว่า คุณจะควบคุมอาหาร จะลดน้ำหนักเพื่ออะไร เพราะเมื่อใดที่ท้อหรือหลุดความตั้งใจ ก็จะได้ย้อนกลับไปที่แรงจูงใจเดิม แล้วจะเกิดการบังคับตัวเองให้ทำต่อเนื่องไปจนกลายเป็นนิสัย

การลดน้ำหนักที่ดีและยั่งยืนไม่ได้อยู่ที่ “น้ำหนัก” แต่สิ่งสำคัญคือ พฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไป ถึงจะยั่งยืนและประสบผลสำเร็จแท้จริง

ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ปธ.เครือข่ายคนไทยไร้พุง
ดร.สง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการอิสระ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image