อีกมุม “เกาหลีใต้” ไม่สนุกเหมือนดู “ซีรีส์”

เป็นความฝันของคนชอบดูซีรีส์เกาหลีที่สักครั้งอยากไปเที่ยว ไปทำงาน กระทั่งใช้ชีวิตที่ประเทศเกาหลีใต้ จะด้วยเหตุผลชอบเห็นคนหน้าตาดี ชอบอากาศและสถานที่ หรือกระทั่งค่าตอบแทน

ทุกอย่างดูดีสวยหรู

ทว่า…ยังมีอีกมุมที่หลายคนยังไม่รู้ โดยเฉพาะการไป “ทำงาน” ที่เกาหลีใต้ ซึ่งได้ถอดบทเรียนจากคนไปทำงานที่นั่น จากการศึกษาเรื่อง “แรงงานไทยในเกาหลีใต้ : ปัญหาและอุปสรรคของการเข้าถึงความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทยและเกาหลีใต้” ในงานประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 12 หัวข้อ “ประเทศไทยกับศตวรรษแห่งการย้ายถิ่นข้ามชาติ” จัดโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม (วปส.) มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ที่อาคารประชาสังคมอุดมพัฒน์ มม.ศาลายา

รีนา ต๊ะดี นักปฏิบัติการวิจัย วปส. กล่าวบรรยายผลการศึกษาตอนหนึ่งว่า ข้อมูลจากสำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่าปี 2558 มีแรงงานไทยได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานในเกาหลีใต้ 5,549 คน และกลับเข้าไปใหม่ 5,833 คน ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีแรงงานไทยไปมากเป็นอันดับ 3 รองจากประเทศไต้หวันและญี่ปุ่น ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยเกาหลีใต้ ระบุมีแรงงานไทยจำนวน 2.3 หมื่นคน คิดเป็นร้อยละ 3.18 ของแรงงานข้ามชาติทั้งหมด 6 แสนกว่าคน

Advertisement
รีนา ต๊ะดี
รีนา ต๊ะดี

รีนากล่าวอีกว่า แรงงานไทยที่ไปทำงานในเกาหลีใต้ มีทั้งไปอย่างถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ซึ่งต่างประสบปัญหาในการทำงานต่างๆ ตั้งแต่การได้รับค่าแรงน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ถูกบังคับทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ความรุนแรงในที่ทำงาน ตลอดจนการไม่ได้รับค่าชดเชยจากการเกิดอุบัติเหตุในที่ทำงาน อย่างแรงงานถูกกฎหมาย ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องการขอย้ายงาน ที่ต้องให้นายจ้างอนุญาตเท่านั้น ทำให้ต้องจำทนหรือไม่ก็หนีไปเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ส่วนแรงงานผิดกฎหมายมีแนวโน้มจะถูกละเมิดสิทธิมากกว่า เช่น การถูกเอารัดเอาเปรียบค่าแรง การไม่ได้รับเงินชดเชยต่างๆ ทำงานล่วงเวลาไม่ได้ค่าตอบแทน รวมถึงความรุนแรงทางกาย วาจา และเพศ

“จากที่ได้สอบถามแรงงานไทยในเกาหลีใต้ พบแรงงานเพศหญิงมีความเสี่ยงถูกล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ว่าด้วยการกระทำหรือคำพูด อย่างพูดคุยกับแรงงานหญิงผิดกฎหมายคนหนึ่ง อายุ 33 ปี บอกว่าถูกพวกคุมร้านนวดลากไปข่มขืนหน้าห้องน้ำ ถ้าไม่ยอมก็ถูกซ้อมตีสารพัด คิดอยากกลับบ้าน แต่พาสปอร์ตถูกเขายึดไว้ ที่นั่นยังมีคนไทยอยู่อีก 5-6 คน”

งานศึกษาชี้ให้เห็นว่าการใช้แรงงานอย่างผิดกฎหมาย การไม่รู้ภาษาท้องถิ่น ทำให้แรงงานไทยถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งความกลัวว่าจะถูกจับ ความไม่รู้ ตรงนี้ยังเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงความช่วยเหลือ

Advertisement

รีนากล่าวถึงข้อเสนอว่า 1.ให้สิทธิแรงงานในการเลือกงานหรือนายจ้างมากขึ้น 2.ให้มีการอบรมภาษาเกาหลีก่อนเดินทางออกจากประเทศไทยเข้มข้นมากขึ้น เพื่อทำให้แรงงานไม่ถูกเอาเปรียบและสามารถสื่อสารและต่อรองกับนายจ้าง สามารถติดต่อหน่วยงานหรือโรงพยาบาล ตลอดจนใช้ชีวิตในเกาหลีใต้ได้สะดวกขึ้น 3.การเปิดให้คนไม่มีวีซ่าได้เข้าระบบถูกกฎหมาย จะช่วยให้คนเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองสิทธิได้ เพราะคนเหล่านี้สร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจเกาหลีใต้และส่งเงินกลับประเทศไทยเป็นจำนวนมาก แต่กลับถูกละเมิดสิทธิมาก และไม่สามารถเรียกร้องความเป็นธรรมได้ และ 4.ควรมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบสถานประกอบการ ป้องกันไม่ให้นายจ้างทำผิดสัญญา

“เชื่อว่าข้อเสนอทางนโยบายเหล่านี้ จะช่วยคุ้มครองแรงงานไทยและส่งเสริมให้แรงงานไทยเข้าถึงความช่วยเหลือได้มากขึ้น” รีนากล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image