ตามรอยการเดินทางของ ‘โกษาปาน’ ราชทูตผู้กู้แผ่นดิน ในทัวร์ ‘ข้ามสมุทร’ กับ ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม

หากจะให้พูดถึงพ็อกเก็ตบุ๊กที่กำลังมาแรงและได้รับการกล่าวขานเป็นอย่างมากในฐานะนวนิยายเชิงประวัติศาสตร์ชิ้นเอกที่ทุกบททุกตอนสอดประสานเรื่องราวของอดีตมาจนถึงปัจจุบันได้อย่างลงตัว โดยใช้จินตนาการที่เกิดขึ้นจากผู้เขียนบางส่วนผ่านตัวละครชื่อ พจน์และ แสนจนกลายมาเป็นเรื่องราวผ่านตัวหนังสืออย่างน่าติดตาม…ใช่แล้วค่ะ เรากำลังพูดถึง ข้ามสมุทรนวนิยายชิ้นเอกจาก ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม นักกฎหมายมือฉมังของไทย ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอย่างรอบด้านจนกลั่นออกมาเป็นงานเขียนเล่มแรก ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสนุก สาระ และสามารถเสริมเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์ได้อย่างครบถ้วน

ซึ่งในคำนำตอนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ “วิษณุ” เขียนเล่าว่า…นวนิยายเรื่องนี้นำเอาเหตุการณ์ในรัชสมัยและช่วงเวลาดังกล่าวมาผูกเป็นเรื่อง โดยอาศัยฉาก เหตุการณ์ และตัวละครที่มีอยู่จริงเป็นบางส่วนมาสมมุติขึ้น เพื่ออุดรอยช่องว่างที่สูญหายไปจากการบันทึก โดยเพิ่มเติมให้มีความสนุกสนานขึ้นมา..เป็นการบอกเล่างานวรรณกรรมที่กล่าวถึงความเจริญในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ในสายตาคนยุคใหม่นั่นเอง

สำหรับคนที่ชอบอ่านผ่านการบอกเล่าของ หนังสือถือว่า..ตอบโจทย์ แล้วถ้าคุณได้เข้าไปสัมผัสเรื่องราวประวัติศาสตร์แบบลงลึก พร้อมสัมผัสบรรยากาศในสถานที่จริงๆ พร้อมกับผู้เขียนอย่างวิษณุ เครืองาม จะฟินขนาดไหน !!

ด้วยความฮิตติดกระแสขนาดนี้…”มติชนอคาเดมี” จึงไม่พลาดที่จะจัดกิจกรรมท่องเที่ยวสุดเอ็กซ์คลูซีฟอย่างทัวร์ศิลปวัฒนธรรม โกษาปานราชทูตกู้แผ่นดิน ที่ จ.ลพบุรี โดยครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม ผู้แต่งหนังสือ ข้ามสมุทรและ รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา นำพาทุกท่านไปตามรอย-เจาะลึกเรื่องราวที่ชวนติดตามของ โกษาปานซึ่งเป็นหนึ่งในตัวละครเอกจากหนังสือเล่มนี้ และเรื่องราวความสัมพันธ์ของไทย-ฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นในสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พร้อมกับผู้เขียนตัวจริงแบบใกล้ชิด และนักประวัติศาสตร์ตัวจริง..เสียงจริง ชนิดที่แฟนพันธุ์แท้ไม่ควรพลาดโดยประการทั้งปวง !!!      

Advertisement

และเพื่อเป็นการเรียกน้ำย่อย…เราจึงขอนำเสนอเรื่องราว 5 ประเด็นสุดเอ็กซ์คลูซีฟที่คุณจะไปสัมผัสกับทัวร์ฯ ของเราในครั้งนี้ค่ะ…   

เหตุใดกรุงศรีอยุธยาจึงต้องเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ?

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้มีการค้าขายกับนานาชาติทั้งเอเชียและตะวันตก เมื่อฝรั่งเศสเริ่มเข้ามาในสยาม สมเด็จพระนารายณ์จึงใคร่อยากรู้ในสิ่งที่พระองค์ได้ยินมาจากคำร่ำลือ “เงินทองก็มีมากมาย ในวังพระเจ้าฝรั่งเศสให้หลอมเงินเป็นท่อน 8 เหลี่ยม ใหญ่ประมาณ 3 กำ โดยยาวประมาณ 7 ศอก กองอยู่ริมถนนเป็นอันมาก เหมือนดุจเสาอันกองไว้ กำลังคนแต่ 13 คน 14 คนจะยกท่อนเงินมิได้ไหว” จึงส่งราชทูตไปเพื่อจุดประสงค์ 3 ประการดังนี้

Advertisement
  1. ประการแรก เพื่อสืบให้รู้แน่จริงดั่งที่ได้ยินคำร่ำลือกันมา
  2. ประการที่สอง เพื่อจัดหาของที่พระราชประสงค์ เช่น แว่นทองคำ เครื่องมือดาราศาสตร์ นาฬิกาพก เป็นต้น
  3. ประการที่สาม นโยบายในการเพิ่มพูนมิตรภาพเพื่อประโยชน์ทางการค้า

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงมองเห็นถึงความสามารถของโกษาปาน จึงส่งให้เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีที่ฝรั่งเศสเป็นเวลา 6 เดือน และได้นำความรู้ต่างๆ มาปรับใช้ในสยามด้วย เช่น การตั้งโรงพิมพ์, ตั้งหอดูดาว, การค้าขาย และกลายเป็นความดีความชอบที่นำเทคโนโลยีตะวันตกเข้ามาในสยามในเวลาต่อมา

เพราะเหตุใด พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จึงได้ถูกขนานนามว่าเป็นพระราชวังแวร์ซายล์แห่งสยาม?

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงโปรดสร้างพระราชวังขึ้นที่ลพบุรี เพื่อเป็นที่พำนักสำหรับแปรพระราชฐาน ลพบุรีจึงมีการค้าที่รุ่งเรือง ราชนิเวศน์แห่งนี้จึงมีสถานที่รองรับคณะทูตจากต่างประเทศ ได้รับอิทธิพลหรือเครื่องราชบรรณาการจากต่างประเทศ และการก่อสร้างพระนารายณ์ราชนิเวศน์นั้นได้รับความร่วมมือจากฝรั่งเศสและอิตาเลียนจึงมีศิลปะแบบตะวันตกผสมเปอร์เซีย ล้อมรอบไปด้วยคูน้ำที่มีการจุดไฟและน้ำพุเรียงราย ประตู หน้าต่าง ช่องระบายลมใต้หลังคาเป็นทรงโค้งแหลม

เหตุใดถึงต้องไปชม ประตูชัย ที่ลพบุรีแห่งนี้?

ประตูชัยแห่งนี้สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สร้างขึ้นเพื่อเป็นสิริมงคลแก่เหล่าทหารและบ้านเมืองในยามมีศึกสงคราม เป็นประตูชัยที่สุดท้ายที่ยังเหลืออยู่ เป็นศิลปะที่ผสมผสานระหว่างเปอร์เซียและตะวันตก มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในตอนนี้

วัดสันเปาโล หนึ่งในสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์ของประเทศไทย เหตุใดจึงต้องไปชม ?

“สันเปาโล” คำนี้เพี้ยนมาจาก “เซนต์ปอลหรือแซงต์เปาโล” เป็นหอดูดาวที่ใช้ในทางวิชาดาราศาสตร์แห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งพระนารายณ์ฯ ทรงมอบที่ดินให้แก่คณะเยซูอิตบาทหลวงที่เดินทางมาจากฝรั่งเศสและไปปฏิบัติงานในประเทศจีน จึงทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างหอคอยแห่งนี้และมีความเก่าแก่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากหอดูดาวกรุงปารีสและหอดูดาวปักกิ่งที่แสดงถึงการติดต่อกับสังคมโลกตะวันตกเพื่อนำเอาวิทยาการความก้าวหน้าเข้ามาใช้ให้เป็นประโยชน์ในยุคนั้น นอกจากนี้ บริเวณโดยรอบเป็นโบสถ์ในศาสนาคริสต์และสุสาน ที่มีสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกอย่างเห็นได้ชัด

บ้านหลวงรับราชทูต (บ้านวิชาเยนทร์) กับความสำคัญที่น่าค้นหา?

บ้านวิชาเยนทร์ ที่รับรองราชทูตครั้นเมื่อเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ได้นำคณะทูตชุดแรกกลับมาจากฝรั่งศสและเข้ามารับราชการอยู่ในรัชสมัยพระนารายณ์ นอกจากนี้ยังเป็นที่พำนักของข้าราชการคนสำคัญ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ หรือชื่อเดิมว่าคอนสแตนติน ฟอลคอน นักผจญภัยชาวกรีก มีความสามารถพูดได้หลายภาษา เป็นที่โปรดปรานของพระนารายณ์ฯ ทำให้การค้าในสมัยนั้นรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก จนได้รับการแต่งตั้งเป็นสมุหนายกที่เป็นชาวตะวันตกคนแรกของสยาม เป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อการเมืองในสมัยนั้น ทั้งในทางการเมืองทั้งในและต่างประเทศ โดยสถาปัตยกรรมของตัวอาคารที่แสดงให้เห็นลักษณะศิลปะตะวันตกผสมผสานกับศิลปะแบบไทย โดยเฉพาะการจัดสวนหน้าบ้านซึ่งมีลานน้ำพุแบบฝรั่งเศส และที่สำคัญคือ อาคารที่เป็นโบสถ์คริสต์ศาสนาที่มีผังแบบยุโรปแต่มีการตกแต่งซุ้มบานประตูหน้าต่างรูปกลีบบัว ถือว่า เป็นโบสถ์คริสต์ศาสนาหลังแรกในโลกที่ตกแต่งตามแบบของโบสถ์ทางพระพุทธศาสนา

และนี่คือ…5 ประเด็นน้ำจิ้มที่เรานำมาให้แฟนๆ ทุกท่านได้รู้เรื่อง ยังมีอีกหลากเรื่องราวที่คุณพลาดไม่ได้…ในกิจกรรมทัวร์สุดเอ็กซ์คลูซีฟครั้งนี้ค่ะ…ถ้าคุณคือคนอ่านหนังสือ…และเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ ข้ามสมุทรห้ามพลาดโดยประการทั้งปวง

ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2559 นี้ เตรียมพบกับทัวร์ศิลปวัฒนธรรม โกษาปานราชทูตกู้แผ่นดิน จ.ลพบุรี ที่มติชนอคาเดมีจะนำพาทุกท่านไปร่วมแสวงหาและค้นคำตอบ เกร็ดความรู้ในแง่มุมต่างๆ อย่างละเอียด พร้อมร่วมทริปกับวิทยากรกิตติมศักดิ์ ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม ผู้แต่งหนังสือ ข้ามสมุทรและ รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยมหิดล และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยา สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร 0-2954-3977-84 ต่อ 2123, 2124 (จันทร์-ศุกร์) 08-2993-9097, 08-2993-9105 (เสาร์-อาทิตย์) หรือที่ http://www.matichonacademy.com และ https://www.facebook.com/Matichon.Academy.Thailand

 

 

 

 

 

 

                   

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image