เวียดนามกินรวบธุรกิจอาหารในอเมริกา

หมู่นี้เพื่อนฝูงที่ไปมีครอบครัวอยู่ที่อเมริกาชักพูดถึงการไปกินอาหารนอกบ้านเป็นอาหารเวียดนามถี่ขึ้น

ผู้เขียนก็นึกในใจว่าอาหารเวียดนามน่าจะกำลังเร่งแซงอาหารไทยอยู่ที่โน่น ขนาดเราคนไทยยังชอบกินอาหารเวียดนาม ฝรั่งไม่ชอบก็แปลกอยู่ละ

และยิ่งอาหารเวียดนามมีลักษณะที่ทำเป็นอาหารบรรจุแพ็กได้ง่ายกว่า ในเชิงการตลาดก็ได้เปรียบอาหารไทยอยู่แล้ว

เรื่องราวของอาหารเวียดนามไม่ได้มีอยู่แค่การไปเปิดภัตตาคารใกล้บ้านในถิ่นต่างๆ ในเมืองต่างๆ ของอเมริกา แต่มันไปไกลและใหญ่กว่านั้นมาก

Advertisement

ที่ว่ากันว่าจีนจะครองเอเชีย และรองลงมาก็จะเป็นเวียดนามก็ไม่ได้ผิดความจริงไปเท่าไหร่เลย

เพราะเรื่องที่นิตยสารบิสเนสวีกเอามาเล่าเมื่อเร็วๆ นี้ทำให้เราเห็นภาพการมองธุรกิจของคนเวียดนามได้เป็นอย่างดี

เป็นเรื่องของ start up ของธุรกิจอาหารในแบรนด์ Munchery ที่คนอเมริกันจัดให้เป็นเถ้าแก่รุ่นใหม่แห่งซิลิคอนแวลลีย์ แบรนด์นี้ตั้งขึ้นโดยเด็กหนุ่มชาวเวียดนามผู้ซึ่งในอดีตคือเด็กน้อยชาวเวียดนามผู้หิวโหยที่อพยพหนีสงครามเวียดนามมาอยู่กับย่าและลุงเมื่ออายุ 11 ปี

Advertisement

Munchery ไม่ได้จัดอยู่ในหมวดธุรกิจอาหารแม้ว่ามันจะขายอาหารก็ตาม แต่จัดอยู่ในหมวดหมู่เทคโนโลยี

เรื่องของเรื่องก็คือธุรกิจนี้พยายามแก้ปัญหาการเข้าถึงอาหารในแต่ละมื้อด้วยการใช้ app พูดง่ายๆ ก็คือ สั่งอาหารด้วย app นั่นล่ะค่ะ

เรามีการเรียกแท็กซี่ด้วย app กันแล้ว ตานี้ก็จะมีการสั่งอาหารด้วย app กันละ

ผู้อ่านที่เป็นแฟนคอลัมน์นี้อาจจำได้ว่าผู้เขียนเคยเล่าเรื่องการส่งอาหารของคนอินเดียที่ใช้คนส่งจากบ้านข้ามเมืองไปยังคนทำงานในออฟฟิศ หรือถ้าดูหนังเรื่อง lunch box ก็คงพอนึกออกเหมือนกัน ว่าอาหารฝีมือนางเอกไปถึงพระเอกได้โดยบริการเดลิเวอรี่ Munchery ก็ทำอย่างเดียวกันเพียงแต่ว่าของอินเดียนั่นใช้คน เป็นเรื่อง low tech แต่ Munchery นั้น high tech สุดๆ คือใช้ app

ตอนนี้ Munchery มีบริการอยู่ใน 4 เมืองคือ ซานฟรานซิสโก ลอสแองเจลิส นิวยอร์ก และซีแอตเติล แต่ละเมืองมีครัวของตัวเอง ต้องเป็นครัวแบบอุตสาหกรรมแน่นอน ไม่ใช่ครัวที่บ้านที่มีเมียทำคนเดียวแบบใน lunch box

อาหารของ Munchery แต่ละกล่องราคาประมาณ 350 บาท มีเมนู เช่น แซลมอนย่างโปะหน้าข้าวกล้อง มีแครอตเป็นเครื่องเคียง หรือหมูราดซอส กินกับกะหล่ำปลีฝอย เครื่องเคียงจะมีให้เลือกหลายสิบแบบ

ถ้าแวะเข้าไปขอชมในครัวก็จะพบเตาอบขนาดใหญ่ยักษ์ทำด้วยสเตนเลสสตีลที่สามารถปิ้งหมู เนื้อ หรือแซลมอนได้ทีละ 500 ชิ้นในคราวเดียวกัน คุณภาพคงที่สม่ำเสมอ ไม่มีชิ้นไหนเกรียมไปอย่างเด็ดขาด เสร็จแล้วก็นำไปเก็บในห้องเย็นบรรจุลงกล่องลูกฟูก นำส่งลูกค้า ลูกค้าก็อุ่นในไมโครเวฟ 2 นาที

ฟังดูก็คล้ายข้าวกล่องของเซเว่นเหมือนกันนะคะนี่

สําหรับคนอเมริกัน นี่ถือว่าเป็นอาหารที่สดที่สุดแล้ว คือทำวันนั้นกินวันนั้น เชื่อหรือไม่ว่าเด็กหนุ่มเวียดนามคนนั้นที่ชื่อตรันที่เป็นเจ้าของธุรกิจร่วมกับเพื่อนอีกคนสามารถระดมทุนได้ถึง 155 ล้านเหรียญ เพราะมันเข้าข่าย technology start up ของ Silicon Valley

จนถึงบัดนี้เขาได้ส่งมอบอาหารแก่คนอเมริกันแล้วถึง 3 ล้านชุด นับแต่ปี 2010 ที่เริ่มธุรกิจมา ตรันบอกใครๆ อย่างภูมิใจว่ามันเป็นธุรกิจผลิตอาหารตรงจากครัวที่ใหญ่ที่สุดในทุกๆ เมืองที่ Munchery ตั้งอยู่

ใครไป 4 เมืองที่ว่าก็ลองติดตั้ง app แล้วสั่งมาลองดู เรื่องที่น่าเสียดายสำหรับผู้เขียนซึ่งชื่นชอบอาหารเวียดนามก็คือ ความที่มันเป็น mass มาก ก็เลยมีแต่เมนูทั่วๆ ไปไม่ใช่เมนูเวียดนาม

ตรันอาจจะต้องรออีกระยะ เมื่ออาหารเวียดนามเป็นที่นิยมมากกว่านี้จึงจะเพิ่มเมนูเวียดนามก็เป็นได้

ความท้าทายของ Munchery ก็คือเมื่อพูดถึงเรื่องอาหาร คนก็อยากจะเลือกกินหลากหลาย วันหนึ่งมีสามมื้อ ไม่มีใครอยากกินอาหารซ้ำทุกมื้อ คู่แข่งก็มี บางเจ้ากล้าส่งอาหารร้อนถึงลูกค้าด้วยซ้ำ แต่เขาไม่เอา เขาว่าเสี่ยงเกินไป

ถ้าถามตรันว่าทำไมเขาจึงคิดทำธุรกิจสั่งอาหารทาง app

เขาก็จะบอกว่าทั้งเขาและภรรยาต่างก็ไม่มีเวลาว่างพอจะทำอาหาร เลิกงานก็มักจะแวะซื้ออาหารสำเร็จมากินทำให้ชีวิตซึ่งแม้จะหาเงินหาทองได้มากจากอาชีพเขียนซอฟต์แวร์หลังจากเรียนจบเอ็มไอทีไม่มีความสุข

เขาถวิลหาอาหารบ้านที่ย่าทำให้กินที่บ้านในซานโฮเซ่สมัยอพยพมาใหม่ๆ

ตรันสะสมความคิดและประสบการณ์ที่เกี่ยวกับอาหารเรื่อยมา ครั้งหนึ่งตอนที่ครอบครัวของตรันอยู่ที่ทางตอนใต้ของโอ๊กแลนด์ เขามีเพื่อนบ้านมีอาชีพเป็นเชฟส่วนตัว เชฟก็จะไปตามบ้าน เพื่อไปทำอาหารแล้วใส่ภาชนะแก้วเก็บไว้ในตู้เย็น เจ้าของบ้านกลับมาก็มาอุ่น แค่ทำให้บ้านสองบ้านก็มีรายได้ 500-700 เหรียญต่อวัน

ตรันก็มานั่งคิดว่าน่าเสียดายจังนะ ฝีมือก็มี แต่ไม่สามารถทำอาหารให้คนได้มากกว่านี้

ตรันรีบไปคุยให้ชูเพื่อนรักฟัง ชูก็ปิ๊งความคิดของตรัน ทั้งสองจึงกอดคอกันลาออกจากงานประจำ Munchery ก็เกิดแต่บัดนั้น

ในตอนเริ่มแรกธุรกิจก็ลุ่มๆ ดอนๆ ตรันจ้างเชฟมาทำอาหารส่ง โดยไม่มีระบบควบคุมคุณภาพ ทำเสร็จให้เชฟไปส่งเอง เชฟก็มักจะเจ้าอารมณ์ ถ้าโดนลูกค้าบ่นก็จะด่าลูกค้ากลับ เขาเลยขับรถส่งเสียเอง ก็โดนพ่อตาเสียดสีว่าจบเอ็มไอทีจะมาเป็นคนขับรถส่งอาหารแค่นี้ละหรือ

ต่อมาตรันจึง “Go Online” มีชูเพื่อนรักเป็นหัวหน้าด้านเทคโนโลยี เขาไปเช่าครัวครึ่งหนึ่ง และชวนเชฟมาทำงานแบบฟรีแลนซ์ ให้ลูกค้าสั่งอาหารตามสั่งและกำหนดเวลาส่ง ปรากฏว่าลูกค้าบางคนพอใจถึงกับให้เงินลงทุนก้อนแรก 210,000 เหรียญ

ชักจะไปได้ดี ปีต่อมาตรันจึงเช่าครัวทั้งครัว และจ้างพ่อครัวเป็นพนักงานประจำ แม้จะเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าแต่ก็ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพได้ และสามารถควบคุมต้นทุนได้เพราะซื้อในปริมาณมาก

ชัยชนะของธุรกิจอยู่ที่การระดมทุนได้ ปีที่แล้ว Munchery ระดมทุนได้ 85 ล้านเหรียญ และทำให้บริษัทมีมูลค่า 300 ล้านเหรียญ

วามได้เปรียบในการแข่งขันของ Munchery อยู่ตรงที่การผลิตในจำนวนมากทำให้ราคาค่อยๆ ลดลง อย่างเมนูแซลมอนตอนแรกราคา 22 เหรียญ ปัจจุบันเหลือ 11 เหรียญ นอกจากนี้ การใช้เตาอบที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ก็ทำให้ควบคุมคุณภาพได้ดี และยังมีแผนจะย้ายโรงครัวไปอยู่ที่ใหม่ที่ราคาถูกกว่า

ตอนนี้ตรันกำลังจะเปิดธุรกิจใหม่สำหรับคนที่อยากทำครัวเล็กน้อย คือธุรกิจอาหารพร้อมปรุง ซี่งจะมีอาหารบางส่วนที่ทำสุกแล้วและเหลืออีกส่วนหนึ่งเอาไปทำต่อที่บ้าน ใช้เวลา 10-15 นาที เขาจ้างอดีตเจ้าของกิจการร้านขนมปังที่ขายกิจการให้สตาร์บัคไปมาดูแลแผนกนี้ เมนูของแผนกนี้ก็เช่น ไก่ย่างเสียบไม้ กับสลัด เป็นต้น

นายริโกที่เป็นหัวหน้าแผนกนี้ดูจะศรัทธาตรันมากๆ เขาบอกว่าตรันนั้นทำงานโดยมีความมุ่งมั่นที่จะนำส่งอาหารที่ดีมีคุณค่าให้กับลูกค้าด้วยใจจริง เขาทำด้วยหัวใจ

ด้วยน้ำอดน้ำทนของผู้อพยพ ด้วยความหิวโหยในอดีต และด้วยสำนึกที่ว่าพ่อแม่ขายบ้านเพื่อส่งเขามาอยู่กับย่าและลุงที่อเมริกาทำให้ตรันมีวันนี้

ตรันมีเพื่อนผู้อพยพชื่อทัม เป็นหัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีที่ Uber Technologies ซึ่งเข้ามาทำธุรกิจรถแท็กซี่ที่ใช้ app ในเมืองไทยเมื่อไม่นานมานี้

ทั้งสองคนมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือสำนึกถึงความยากลำบากของพ่อแม่

พวกเขาจึงทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ให้รู้สึกว่าเป็นคนที่มีคุณค่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image