จิตแพทย์แนะ เร่งเยียวยา “นร.” ถูกบังคับกราบหน้าเสาธง ส่งผลกระทบ “เด็กรู้สึกด้อยค่า-ต่ำกว่าคนอื่น”

จากกรณีคลิปภาพที่ถูกแอบถ่ายจากโทรศัพท์มือถือ เป็นภาพเหตุการณ์กรณีนักเรียนหญิงชั้น ป.6 โรงเรียนบ้านลำหาด ต.ทัพทัน อ.สังขะ จ.สุรินทร์ สืบเนื่องจากนักเรียนมีอาการป่วยแล้วไปรักษาที่โรงพยาบาลสังขะ แพทย์วินิจฉัยว่าแพ้อาหาร พอครูทราบเรื่องว่าเด็กพูดทำให้เสียหายเกี่ยวกับอาหารกลางวัน จึงเรียกนักเรียนหญิงคนดังกล่าวมากราบขอขมาบริเวณหน้าเสาธงต่อหน้านักเรียนหลายร้อยคน จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ต่อมาครูรายดังกล่าวระบุว่า ให้เด็กทดลองรับประทานเต้าหู้เพื่อทดสอบว่าแพ้จริงหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าไม่มีอาการแสดงออกที่ผิดปกติ จึงให้เป็นเหตุให้เด็กก้มกราบตามที่เป็นข่าวนั้น

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เรื่องการปรับพฤติกรรมของเด็กที่ไม่พึงประสงค์ ควรเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมกว่านี้ ไม่ควรนำมาประจานแบบนี้ หลักการพื้นฐาน คือ 1.เราต้องทำให้เด็กเข้าใจว่าพฤติกรรมอะไรที่เด็กควรแสดงออก ถ้าเราอยากให้เขาเรียนรู้ ต้องเลือกใช้วิธีที่ทำให้เรียนรู้ ไม่ใช่ทำให้อับอาย หรือมีมุมมองหรือทัศนะในทางลบมากยิ่งขึ้น

“ถ้าเราอยากให้เด็กมีพฤติกรรมเหมาะสม พื้นฐานแรก เรื่องการสื่อสารด้วยเหตุและผล ด้วยวัยของเด็กชั้นประถม เป็นวัยที่เรียนรู้ด้วยเหตุและผลได้ บางทีเด็กอาจทำพฤติกรรมบางอย่างที่เราอาจรู้สึกว่าไม่เหมาะสมไม่ถูกต้อง ก็มาจากความไม่รู้ของเขา การสื่อสารด้วยเหตุและผลจะทำให้เด็กเข้าใจว่า ทำไมครูถึงสอนเขา นี่คือการที่เราสอนเขา”

“แต่ถ้ารู้สึกว่า เด็กยังไม่เข้าใจ ไม่ปฏิบัติตาม ทั้งที่พยายามสื่อสารด้วยเหตุผลแล้ว อันนี้ถึงจะใช้มาตรการที่อาจทำให้เด็กเรียนรู้มากขึ้น เพราะถ้าเขายังมีพฤติกรรมอย่างเดิมไม่เหมาะสม เขาจะได้รับผลตามมา แต่ผลที่ตามมาไม่ควรเป็นความอับอาย เพราะไม่ได้ทำให้เด็กเปลี่ยนพฤติกรรมได้”

Advertisement

“เราอาจต้องออกมาตรการว่า ถ้าทำแบบนี้ ครูจะให้หนูรับผลกระทบที่ทำนะ ซึ่งผลส่วนใหญ่ ควรพยายามไปสร้างทางบวกมากกว่าด้านลบสำหรับเด็ก”

ต่อคำถามที่ว่า ครูทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า เวลาที่เราจะทำอะไรกับเด็ก มีข้อคำนึงถึง 2 อย่าง ซึ่งเป็นพื้นฐานไม่ได้ยากมาก 1.ต้องกลับกัน ถ้าเป็นเราในสถานเดียวกัน เช่น เราต้องก้มลงหมอบต่อหน้าคนอื่น ความรู้สึกของเราคืออะไร อันนี้ เราจะสามารถเข้าใจได้ไม่ยาก

2.ในฐานะครู แน่นอน ครูต้องฝ่ายกระบวนการเข้าใจว่าและรู้ว่า เด็กวัยขนาดนี้ เขาจะเข้าใจสิ่งนี้ได้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องพัฒนาการของเด็ก เนื่องจากเราทำหน้าที่นี้

Advertisement

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า จากเหตุการณ์นี้มีความเสี่ยงสูงที่เด็กได้รับผลกระทบ เพราะเหตุการณ์ตรงนี้ มีทั้งกระทำตรงกับเขาในลักษณะให้หมอบกราบแบบนั้น เป็นการกดให้เขารู้สึกว่าด้อยกว่ามาก ความรู้สึกด้อยแบบนี้อาจติดตัวเขาไป และคนเราเวลารู้สึกด้อย จะขาดความพยายาม หรือความมุ่งมั่น เพราะรู้สึกว่า ตัวเองอยู่ในสภาพที่ด้อยกว่าหรือต่ำกว่า ซึ่งความรู้สึกแบบนี้ ไม่ส่งเสริมสำหรับเด็กวัยขนาดนี้

“เวลาทำเรื่องแบบนี้ต่อหน้าที่สาธารณะ เราไม่รู้เลยว่า หลังจากนี้ เด็กคนอื่นจะปฏิบัติต่อเด็กคนนี้อย่างไร เป็นผลตามมาที่อาจควบคุมไม่ได้ หรือคาดการณ์ไม่ได้ เราเลยไม่รู้ว่าหลังจากนี้ เขาอาจจะต้องเผชิญกับสถานการณ์อะไรตามมาอีก”

พญ.พรรณพิมล แนะว่า ต้องรีบเข้าไปเยียวยาเด็ก โดยค่อยๆ คุยความรู้สึกหรือผลกระทบทางจิตใจที่เกิดขึ้นกับเขา และต้องค่อยๆ ดึงความรู้สึกเขากลับเข้ามา ให้เขาผ่านเหตุการณ์นี้ไปให้ได้

“สำหรับเด็กวัยขนาดนี้พอทำได้ ค่อยๆ ฟื้นความรู้สึกเด็กกลับมาให้เชื่อมั่นและมองตัวเองใหม่ และรับมือกับสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับเพื่อนในชั้นเรียนหรือโรงเรียนที่อาจมีผลกระทบตามมา ให้เขาผ่านมันไปในสถานการณ์นี้ ถ้ามีคนคอยช่วยประคับประคองก็จะดีสำหรับเด็ก ซึ่งหน่วยงานภาครัฐทั้งนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ควรเข้าไปพูดคุย ทั้งกับคุณพ่อคุณแม่และเด็ก เพื่อให้คำแนะนำว่าเป็นเพื่อนคุยกับลูกยังไง ทำยังไงให้เขารู้สึกกลับมามั่นคงอีกครั้งหนึ่ง”

พญ.พรรณพิมล ย้ำว่า “อย่าปล่อยเด็ก เพราะข่าวนี้กระจายวงกว้างไปแล้ว อยากให้ท่านผู้ดูแลเด็กเข้าใจ ไม่ใช่เรื่องแค่หน้าเสาธง แต่เรื่องมันตามมาใหญ่เกินกว่าที่คิดเอาไว้เยอะ สิ่งสำคัญคือ เด็กต้องได้รับการเยียวยา ซึ่งถ้าปล่อยไว้ ไม่รู้ว่าความกดดันที่เกิดขึ้นกับเขาที่รู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่น รู้สึกเป็นตัวน่าอับอาย พูดภาษาแบบง่ายๆ มันรบกวนอย่างนี้ตลอดเวลา อาจลดความเชื่อมั่นของเด็กลงไป”

พญ.พรรณพิมล แนะนำว่า ถ้าเด็กมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ผู้ใหญ่ควรพูดคุยอย่างมีเหตุผล โดยคำนึงถึง 3 ข้อต่อไปนี้ 1.ไม่ควรทำให้เด็กอับอาย 2.ไม่ใช้ความรุนแรงจนเด็กไม่เข้าใจ และคิดว่านี่คือการทำร้าย 3.ไม่ชัดเจน เช่น ลงโทษเกินกว่าเหตุ หรือเรื่องที่เกิดขึ้นแทนที่จะคุย กลับเป็นถูกด่า ซึ่งเด็กไม่เข้าใจว่า ตกลงเขาผิดอะไรหรือผิดตรงไหน เพราะเราทำให้มันไม่ชัดเจนตรงไปตรงมา ทั้ง 3 ข้อนี้ เป็นข้อควรระวังในการลงโทษเด็กเสมอ

“เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว เราต้องมีวิธีการดูแลทั้งสองฝ่าย ถ้าครูทำโดยไม่เจตนา ครูอาจต้องได้รับการดูแลด้วยเหมือนกันว่าจะผ่านเหตุการณ์นี้ไปยังไง และโอกาสหน้าครูอยากช่วยเด็กๆ อีก มีทางเลือกอื่นอีกไหมในการแก้ปัญหาแบบนี้” พญ.พรรณพิมลกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image