เปิดใจ 2 แชมป์ จ้าวเวหา “เครื่องบินกระดาษพับ”

เคยตั้งคำถามกันไหมว่า กระดาษ 1 แผ่น มีประโยชน์อะไรบ้าง?

คำตอบ คงจะเป็นใช้เขียนหนังสือ บันทึกเรื่องราวต่างๆ หรือวาดรูปสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นเอก รวมทั้งพับให้เป็นรูปทรงต่างๆ เสริมสร้างจินตนาการได้ไม่รู้จบ

นี่คือคำตอบที่หลายคนคิดได้ แต่อีกหนึ่งประโยชน์ของกระดาษ 1 แผ่นคือ สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ทาง “วิทยาศาสตร์” ได้

หากนึกไม่ออกว่าเป็นอย่างไร คำตอบอยู่ที่การแข่งขันเครื่องบินกระดาษชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 13 ส่วนหนึ่งในการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2559 ที่อิมแพค เมืองทองธานี

Advertisement

กระดาษหนึ่งแผ่นสามารถส่งเสริมเยาวชนให้เกิดการเรียนรู้กระบวนการทางสวิทยาศาสตร์ผ่านการเล่นที่ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน โดยใช้ “กระดาษ” มาทำการทดลองประดิษฐ์ผสมผสานจินตนาการด้านศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ พร้อมฝึกทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในการทำให้กระดาษชิ้นเดียวกลายเป็นเครื่องบินกระดาษพับที่สามารถลอยในอากาศให้ได้นานที่สุด

ธนากร พละชัย อุปนายกสมาคมเครื่องบินกระดาษพับ กล่าวว่า การพับกระดาษเหมือนไร้สาระ แต่แท้ที่จริงเป็นการฝึกทักษะในการแก้ปัญหา การสังเกต และการสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา

“การพับกระดาษคือการตั้งโจทย์ว่ากระดาษแผ่นนี้จะลอยอยู่ในอากาศนานเท่าไหร่ ให้นานที่สุดเท่าที่เราทำได้ เมื่อเด็กพับขึ้นมาและลองร่อนดู เขาก็จะฝึกทักษะการสังเกตว่าเครื่องบินช้าหรือเร็ว เอียงซ้ายหรือขวา จากนั้นก็จะแก้ว่าปัญหา ถ้าเอียงทางนี้จะทำอย่างไร แล้วก็ลองเล่นใหม่”

“นี่คือ หัวใจของการเล่น เป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทั้งแก้ปัญหา ตั้งคำถาม และจินตนาการ เป็นกระบวนการที่ฝึกทักษะคนให้คิด และมีกระบวนการทำให้ได้คำตอบนั้นมา”

ซึ่งถ้ามองในแง่ของคุณค่า การพับการดาษเป็นการฝึกทักษะการสร้างสิ่งของซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างสรรค์เทคโนโลยี

“เครื่องบินกระดาษพับเป็นเทคโนโลยีอันหนึ่ง ผ่านกระบวนการคิด สร้างขึ้นมา แล้วมาใช้วิทยาศาตร์อธิบายในเรื่องอากาศพลศาสตร์ หรือแอโรไดนามิก”

ซึ่งกิจกรรมนี้ อุปนายกสมาคมระบุว่าเป็นกิจกรรมที่ฝึกเด็กให้มีทักษะโดยไม่รู้ตัว เช่น การสังเกต การแก้ปัญหา

“ไอสไตน์บอกว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือประสบการณ์ ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้เป็นทักษะสำคัญทำให้เขาเติบโตในอนาคต” อุปนายกสมาคมทิ้งท้าย

สำหรับผลการแข่งขันปรากฏว่า รุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี ด.ช.วัชรินทร์ ไชยายงค์ อายุ 12 ปี จากโรงเรียนบ้านแก้ง จ.มุกดาหาร สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศจากผลงานการประดิษฐ์เครื่องบินกระดาษพับที่สามารถร่อนได้นานถึง 28.18 วินาที

วัชรินทร์ หรือเมฆ บอกว่า ชอบการพับกระดาษมาก เทคนิคการพับเครื่องบินให้ร่อนได้นานคือต้องดัดตรงปีกด้านหลัง และที่สำคัญต้องมีสมาธิ แต่กว่าที่เขาจะคว้าแชมป์มาได้ต้องฝึกพับเครื่องบินเป็นพันๆ ลำทีเดียว

ประกาศผลชิงชนะเลิศแชมป์ เครื่องบินกระดาษพับ_2
วัชรินทร์ ไชยายงค์

ส่วนรุ่นบุคคลทั่วไป รางวัลชนะเลิศตกเป็นของ นายธวัช จุลศรี อายุ 17 ปี จากโรงเรียนผักไหมวิทยานุกูล จ.ศรีสะเกษ ซึ่งสามารถประดิษฐ์เครื่องบินกระดาษพับร่อนได้นานถึง 33.58 วินาที บอกว่า การพับเครื่องบินกระดาษจะใช้กระดาษชนิดพิเศษและต้องมีเทคนิคในการพับ อย่างเทคนิคของเขาคือจะพยายามทำให้กระดาษที่พับเรียบสุด ไม่ให้ยับเลย อีกทั่งจะดัดปีกของเครื่องบินด้านหลังขึ้น เพื่อให้เมื่อขว้างเครื่องบินขึ้นไปแล้ว จะร่อนอยู่ได้นาน

“นอกจากเทคนิคการพับแล้ว ขณะแข่งใจของเราต้องนิ่งด้วย ส่วนเทคนิคการโยนเครื่องบินจะก้มตัวและโยนขึ้น เพื่อให้เครื่องบินตั้งลำให้ตรง”

สำหรับการเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งที่ญี่ปุ่น ทั้งวัชรินทร์และธวัชบอกว่า จะตั้งใช้ฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ เพื่อนำแชมป์มาฝากคนไทย

ประกาศผลชิงชนะเลิศแชมป์ เครื่องบินกระดาษพับ_4
ธวัช จุลศรี

ประกาศผลชิงชนะเลิศแชมป์ เครื่องบินกระดาษพับ_1

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image