จากเต้าหู้ไข่ ถึง หน้าเสาธง สังคมไทยใส่ใจ ‘สิทธิเด็ก’ แค่ไหน?

จากดราม่า “เต้าหู้ไข่” กรณีนักเรียนหญิงชั้น ป.6 มีอาการป่วยจากการรับประทานต้มจืดเต้าหู้ไข่ อาหารกลางวันที่โรงเรียน แล้วไปรักษาที่โรงพยาบาล แพทย์วินิจฉัยว่าแพ้อาหาร พอครูทราบเรื่องว่าเด็กพูดทำให้เสียหายเกี่ยวกับอาหารกลางวัน อีกทั้งยังให้เด็กทดลองรับประทานเต้าหู้เพื่อทดสอบว่าแพ้จริงหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าไม่มีอาการที่ผิดปกติ จึงเรียกนักเรียนหญิงคนดังกล่าวมากราบขอขมาบริเวณหน้าเสาธงต่อหน้านักเรียนหลายร้อยคน จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสอบครูแล้วนั้น

เป็นกรณีที่ทำให้คิดต่อว่าคนในสังคมไทยเข้าใจและให้ความสำคัญเรื่อง “สิทธิเด็ก” แค่ไหน ทั้งที่ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 และเป็นรัฐภาคี “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก” ซึ่งสหประชาชาติได้ประกาศในปฏิญญาสากลว่า

“เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลและการช่วยเหลือเป็นพิเศษ เพราะเด็กยังไม่เติบโตเต็มที่ทั้งร่างกายและจิตใจ จึงต้องการการพิทักษ์และการดูแลเป็นพิเศษ รวมถึงต้องการการคุ้มครองทางกฎหมายที่เหมาะสมทั้งก่อนและหลังเกิด”

วาสนา
วาสนา

วาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิเด็กในประเทศไทยว่า จากการทำงานของมูลนิธิที่ได้รับแจ้งเด็กที่ถูกละเมิด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ 80-90 เปอร์เซ็นต์ ทั้งจากคนใกล้ชิดและจากการล่อลวง นอกจากนี้เป็นเรื่องการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม ภาษากฎหมายเรียกว่าเลี้ยงดูโดยไม่ชอบ หมายถึง ไม่เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎกระทรวงในการอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแล พ.ศ.2549

Advertisement

“พอพูดถึงคำว่าเลี้ยงดูโดยไม่ชอบ ไม่เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำ หลายคนถามว่ามีคำนี้ด้วยหรือ จริงๆ มีมาตั้งแต่ปี 2546 เพราะเรามี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ที่ระบุกฎเกณฑ์ กฎกระทรวงหลายเรื่องในการดูแลเด็กทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต ซึ่งถ้าเราเอากฎกระทรวงมาเทียบ พบว่าครอบครัวไทยยังเลี้ยงดูลูกตกเกณฑ์มาตรฐานจำนวนมาก”

วาสนาระบุอีกว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้ปูพื้นฐานเรื่องสิทธิให้กับประชาชน ทั้งที่จริงๆ สิทธิเกิดขึ้นติดตัวคนมาตั้งแต่เกิด แม้ประเทศไทยจะลงนามเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและปรับปรุงกฎหมายจำนวนมากเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

“แต่ถ้าไปดูในเรื่องของการพัฒนาเด็กยังมีอีกหลายเรื่องที่เราทำได้อีก”

Advertisement

อย่างเรื่องการสร้างความเข้าใจของประชาชนเรื่อง “สิทธิเด็ก” ซึ่งการละเมิดสิทธิเด็กไม่ใช่แค่เรื่องที่เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ

วาสนาตั้งคำถามว่า ถ้าเทียบระหว่างเด็กถูกข่มขืนกับเด็กถูกปล่อยปละละเลย คิดว่าอันไหนซีเรียสกว่ากัน?

“คนส่วนมากจะบอกว่าเรื่องล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งดิฉันเองเมื่อก่อนก็คิดเช่นนั้น จนกระทั่งมีผู้เชี่ยวชาญจากอเมริกามาบอกว่า เด็กที่ถูกปล่อยปละละเลยก็ซีเรียส ถามต่อว่าซีเรียสอย่างไร เด็กที่ถูกเลี้ยงดูปล่อยปละละเลย การดำเนินชีวิตของเขาจะไม่ปกติ จะไม่ได้รับโอกาสการส่งเสริมพัฒนา พ่อแม่บางคนบอกว่าไม่เคยตีลูก แต่สำหรับลูก การเพิกเฉยไม่ใส่ใจ มันรุนแรงกว่า งานวิจัยระบุว่าให้พ่อแม่ตียังดีกว่าไม่เห็นเขาในสายตาเลย”

“การเลี้ยงลูกปล่อยปละละเลยเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก เพราะคุณไม่ได้ส่งเสริมเขา ทั้งที่พ่อแม่มีหน้าที่ต้องพัฒนาเขาให้เต็มศักยภาพ”

อีกเรื่องที่สังคมไทยไม่คำนึงถึงคือ การทารุณกรรมทางด้านอารมณ์และจิตใจ

“เราไม่ค่อยหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาเพราะมองว่าเป็นเรื่องที่พิสูจน์ยาก อย่างศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เด็กทุกคนที่เราช่วย ต้องเข้าสู่กระบวนการเยียวยาจิตใจ ชีวิตคนเราเหมือนเส้นเชือก เวลาเจอปัญหาเหมือนผูกปม และเด็กที่เราช่วยมา เขาไม่ได้มีปมเดียว แต่เขามีหลายปม ซึ่งต้นเรื่องเขามาจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่พอย้อนกลับไปดู การเลี้ยงดูอย่างปล่อยปละละเลย ถูกทำร้ายทุบตี และเด็กบางคนถูกแสวงหาประโยชน์ ถูกบังคับใช้แรงงาน ค้าประเวณี”

วาสนายกตัวอย่างกรณี เด็ก ป.6 ที่ถูกบังคับกินเต้าหู้ไข่และให้ไปกราบขอขมาครูหน้าเสาธง ก็คือตัวอย่างของการละเมิดสิทธิเด็กด้วยการทำร้ายจิตใจ

“ผลกระทบตรงนี้มันฝังข้างใน เรื่องแบบนี้ แม้แต่ผู้ใหญ่ก็ไม่อยากให้เกิดกับตัวเองเลย”

ทั้งที่หลักง่ายๆ คือ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้าเราไม่อยากถูกปฏิบัติเช่นนั้น เราก็ไม่ควรปฏิบัติอย่างนั้นกับใคร

“บ้านเราอาจยังไม่เจอเหตุการณ์ว่าเด็กที่ถูกทำร้ายด้านอารมณ์จิตใจ เขาแสดงออกมาอย่างไรบ้าง แต่เวลาดูข่าวต่างประเทศ ที่นักศึกษายิงกราดเพื่อน พอย้อนกลับไปดูภูมิหลังชีวิต เขาถูกทำร้ายทารุณทางด้านจิตใจ ถูกเลือกปฏิบัติ และเก็บกดไว้”

นั่นคือผลลัพธ์ของการถูกทำร้ายด้านจิตใจที่สุดท้ายระเบิดออกมาเป็นความรุนแรงที่คาดไม่ถึง

วาสนากล่าวว่า การทำงานเรื่องเด็กในประเทศไทย เรามีกฎหมายที่ดี แต่ก็มีจุดบอดเรื่องการดำเนินการยังขาด การที่ให้ประชาชนหันมาให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้น รัฐต้องขยายการรับรู้สู่ระดับพื้นที่

“เราอยากเห็นบ้านเมืองเป็นยังไงต้องลงทุนกับเด็ก ถ้าเด็กคืออนาคตของชาติ ต้องลงทุนกับเขาวันนี้ และควรหยิบยกเรื่องเด็กเป็นวาระแห่งชาติ” วาสนาทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image