กรมพลศึกษา จับมือ สสส. มูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม 

พัฒนา “หลักสูตรผู้ฝึกสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ” เพิ่มทักษะครูพละ หลังพบ เด็กไทยบกพร่องทางสติปัญญากว่า 1.4 แสนคน ไม่มีบัตรคนพิการ ขาดการออกกำลังกาย ชวน ผู้ปกครอง อ่านคู่มือสอนกิจกรรมทางกาย ฉบับครอบครัว กระตุ้นทักษะเคลื่อนไหว สร้างสุขภาวะที่ดีในครอบครัว

            เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมพลศึกษา และมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม จัดเสวนาออนไลน์พร้อมเปิดตัว ”หลักสูตรผู้ฝึกสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ” ระดับประถมศึกษา (ประเภทความบกพร่องทางสติปัญญา) และ “คู่มือการสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กบกพร่องทางสติปัญญา (ฉบับผู้ปกครอง) มีเป้าหมายพัฒนาทักษะทางร่างกาย เพิ่มโอกาสการเรียนรู้วิชาพลศึกษาอย่างเท่าเทียม เพื่อให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเหมือนเด็กทั่วไปในสังคม

ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพลศึกษา ในฐานะที่ปรึกษาโครงการสร้างเสริมสุขภาวะให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้วยการใช้กิจกรรมทางกายเป็นสื่อ กล่าวว่า กิจกรรมทางกายมีส่วนสำคัญที่จะทำให้เด็กมีสุขภาวะที่ดี แต่ปัญหาตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบันพบว่า โรงเรียนระดับประถมศึกษาหลายแห่งไม่มีครูที่จบสาขาวิชาพลศึกษาโดยตรง ทำให้ทักษะการทำกิจกรรมทางกายขั้นพื้นฐานในโรงเรียนถูกสอนแบบไม่ถูกต้อง จนทำให้เด็กบางคนมีพฤติกรรมต่อต้านไม่รักการออกกำลังกายและเล่นกีฬา กรมพลศึกษาจึงได้ร่วมกับ สสส. มูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม จัดทำหลักสูตรอบรมครูสอนวิชาพลศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ สำหรับครูพลศึกษาในโรงเรียน เพื่อเพิ่มทักษะให้ครูรู้จักการออกแบบกิจกรรมทางกายในวิชาเรียนให้เหมาะสมกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษและเด็กทั่วไป การสอนกิจกรรมทางกายที่ถูกต้องให้เด็กพิเศษ จะช่วยให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง ช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านสติปัญญาเด็กได้ตรงจุด โดยครูพละที่เข้าร่วมอบรมจบหลักสูตรนี้จะได้รับประกาศนียบัตรจากรมพละศึกษา นอกจากนี้ ยังได้จัดทำคู่มือการสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กบกพร่องทางสติปัญญา (ฉบับผู้ปกครอง) เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถจัดกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมกับบุตร หลานที่เป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ โดยสามารถดาว์นโหลดคู่มือทั้ง 2 หลักสูตรได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ : พลศึกษาเพื่อสุขภาวะเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

Advertisement

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า จำนวนคนพิการที่จดทะเบียนปัจจุบันมีประมาณ 2 ล้านกว่าคน สำหรับกลุ่มบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ ด้านจิตใจหรือพฤติกรรม ด้านสติปัญญา  กลุ่มออทิสติก และด้านการเรียนรู้ ที่ผ่านมาพบว่า เด็กกลุ่มนี้มักไม่ได้รับบัตรคนพิการ เพราะไม่มีเอกสารทางการแพทย์รับรองความพิการตั้งแต่กำเนิด เนื่องจากประเภทความพิการของเด็กกลุ่มนี้ไม่แสดงอาการให้เห็นทางกายภาพ จึงต้องอาศัยเวลาประเมินความพิการ ทำให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับบัตรคนพิการช้ากว่าคนพิการกลุ่มอื่นๆ โดยข้อมูลจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปี 2564 พบเด็กที่มีความต้องการพิเศษ กลุ่มพิการด้านสติปัญญา 142,667 คน ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มว่าจะพบเด็กกลุ่มนี้เพิ่มจำนวนมากขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ด้านสุขภาวะ

นางภรณี กล่าวต่อว่า สสส. ร่วมพัฒนาหลักสูตรผู้ฝึกสอนกิจกรรมทางกายและคู่มือกิจกรรมทางกายฯ (ฉบับผู้ปกครอง) เพื่อทำให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษทั่วประเทศได้รับความเป็นธรรมทางสุขภาพ ไม่ถูกละเลย หรือถูกเลือกปฏิบัติในรั้วโรงเรียนและสังคม โดยตั้งเป้าภายในปี 2565  ร่วมกับกรมพลศึกษาผลักดันให้เกิดการจัดการอบรมขยายในวงกว้างให้ครูในโรงเรียนเรียนร่วมได้เพิ่มเติมศักยภาพในการสอนกิจกรรมทางกายได้อย่างถูกต้องตามหลักการ จนส่งผลให้เกิดสุขภาวะกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษในโรงเรียนเรียนร่วมทั่วประเทศ และเผยแพร่คู่มือการสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กบกพร่องทางสติปัญญา (ฉบับผู้ปกครอง) ให้ถึงมือผู้ปกครองของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เพื่อผู้ปกครองจะได้มีส่วนในการพัฒนาสุขภาวะอย่างต่อเนื่องให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่บ้านต่อไ

Advertisement

ผศ.ดร.เกษม นครเขตต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมทางกาย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกกำหนดว่า เด็กต้องมีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน เพราะร่างกายของเด็กกำลังเติบโต และต้องมีพัฒนาการเหมาะสม ถ้าเด็กที่มีความต้องการพิเศษขาดกิจกรรมทางกายอาจมีผลต่อพัฒนาการทางร่างกาย ดังนั้น วิชาพลศึกษาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้เด็กรู้สึกภาคภูมิใจ เมื่อประสบความสำเร็จในการมีกิจกรรมทางกาย สิ่งที่ครูผู้สอนและสังคมจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่คือ เมื่อในโรงเรียนมีเด็กที่มีความต้องการพิเศษร่วมชั้นเรียนในวิชาพลศึกษา ครูไม่ควรตัดโอกาสให้เด็กออกไปนั่งเฉยๆ แต่ต้องปรับกิจกรรมให้เข้ากับเด็ก เพราะงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า เมื่อเด็กได้มีโอกาสได้วิ่งเล่นประมาณ 10-15 นาที จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสมอง ไม่ควรให้เด็กนั่งเรียนนาน 14-15 ชั่วโมงเพียงอย่างเดียว และครูผู้ต้องเข้าใจว่าการวิ่งเล่นของเด็กคือสิทธิ ไม่ใช่หน้าที่ตามหลักสูตรเพื่อตอบสนองให้มีพัฒนาการที่ดี

ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา กล่าวว่า เด็กที่มีความต้องการพิเศษ อาจควบคุมตัวเองไม่ได้เหมือนเด็กปกติ กิจกรรมทางกายจะช่วยกระตุ้นให้เด็กได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกิจกรรม เช่น เด็กต้องทำอะไร ทำอย่างไร ให้บรรลุเป้าหมาย ผ่านการทดสอบ ยก จับ หิ้ว เหวี่ยง ขว้าง ปา ซึ่งการทำกิจกรรมเหล่านี้จะทำให้รู้ได้ทันทีว่า เด็กต้องการได้รับการพัฒนาด้านใด ครูผู้สอนจึงจำเป็นต้องมีความรู้เพื่อนำไปพัฒนาทักษะเด็กให้ได้ตรงจุดผ่านกระบวนการออกแบบการเคลื่อนไหว เพราะครูเปรียบเสมือนโค้ชและนักจิตวิทยาที่คอยให้ข้อแนะนำ กระตุ้น ให้เด็กทำในสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบและถนัด สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยความรัก ความจริงใจในการดูแล รวมถึงผู้บริหารโรงเรียนต้องมีความรู้ความเข้าใจบริบทของเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้วย ส่วนผู้ปกครองต้องเข้าใจในตัวของเด็กที่มีความต้องการพิเศษมากขึ้น ไม่ควรมองว่าเป็นปัญหา แต่ต้องให้ความเอาใจใส่ เพราะเรื่องของพัฒนาการเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาไม่ควรเพิ่มความกดดัน แต่ควรให้ความอบอุ่นกับเด็ก โดยจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดมาจากครอบครัว

ผศ.ดร.มยุรี ศุภวิบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ กล่าวว่า หลักสูตรฯ นี้จะเติมเต็มศักยภาพให้ครูพลศึกษาในโรงเรียน เพราะจะทำให้ครูเปลี่ยนแนวคิดและจุดมุ่งเน้นในการเรียนการสอน เน้นการสร้างพัฒนาการและการเคลื่อนไหวของเด็กเป็นหลัก ในเนื้อหาจะแนะนำวิธีการสอนให้เหมาะสม เพื่อทำให้เด็กไม่ต่อต้านการทำกิจกรรมทางกายและป้องกันการไม่ชอบเล่นกีฬา นอกจากนี้จะทำให้ครูรู้จักวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในโรงเรียนเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายรูปแบบใหม่ๆ ให้กับเด็ก เน้นให้เด็กปฏิบัติกิจกรรมได้ รับฟังคำสั่งได้ และสามารถสื่อสารได้ ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่ใช่คำพูด แต่เป็นกิริยาท่าทาง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image