“สสส.” ผนึก กรมพลศึกษา ดันหลักสูตรเอื้อเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

“เด็กที่มีความต้องการพิเศษ” หรือ “เด็กพิเศษ” คือ กลุ่มเด็กที่มีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือเป็นพิเศษ เพิ่มเติมจากวิธีการปรกติ ทั้งในด้านการใช้ชีวิตประจำวัน การเข้าสังคม และที่สำคัญสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงการเรียนรู้ เพื่อให้ได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพของวัย ผ่านการออกแบบการดูแล ช่วยเหลือตามเหมาะสมของเด็กแต่ละคน

ในปัจจุบัน “เด็กพิเศษ” คือ กลุ่มเด็กที่มีความบกพร่อง กระทรวงศึกษาธิการได้แบ่งลักษณะของเด็กพิเศษออกเป็น 9 กลุ่ม ได้แก่ 1.เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น, 2.เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน, 3.เด็กที่มีความบกพร่องทางการสื่อสาร, 4.เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย และการเคลื่อนไหว, 5.เด็กที่มีความบกพร่องทางอารมณ์ และพฤติกรรม, 6.เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา, 7.เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้, 8,เด็กออทิสติก และ 9.เด็กที่มีความพิการซ้อน ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการเรียนรู้ การอบรมสั่งสอนจากสถานศึกษา บุคลากรผู้ให้ความรู้ที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละกลุ่ม แต่ละคน 

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมมือกับ กรมพลศึกษา และ มูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม จัดเสวนาออนไลน์เปิดตัว “หลักสูตรผู้ฝึกสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ระดับประถมศึกษา (ประเภทความบกพร่องทางสติปัญญา) และ คู่มือการสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กบกพร่องทางสติปัญญา (ฉบับผู้ปกครอง) ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการสร้างเสริมสุขภาวะให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้วยการใช้กิจกรรมทางกายเป็นสื่อ สำหรับครูพลศึกษาในโรงเรียน เพื่อเพิ่มทักษะให้ครูรู้จักการออกแบบกิจกรรมทางกายในวิชาเรียนให้เหมาะสมกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษและเด็กทั่วไป การสอนกิจกรรมทางกายที่ถูกต้องให้เด็กพิเศษ จะช่วยให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง ช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านสติปัญญาเด็กได้ตรงจุด รวมถึง เป็นการพัฒนาทักษะและเสริมสร้างร่างกายของเด็กให้มีร่างกายที่แข็งแรง เพิ่มโอกาสการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม รวมถึงการส่งเสริมการสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษให้สามารถเป็นบุคลากรที่มีคุณค่าในสังคมและสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเหมือนเด็กทั่วไปในสังคม

Advertisement

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันคนพิการที่มีการขึ้นทะเบียนมีจำนวนประมาณ 2 ล้านคน สำหรับกลุ่มบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ ด้านจิตใจหรือพฤติกรรม ด้านสติปัญญา  กลุ่มออทิสติก และด้านการเรียนรู้ ที่ผ่านมาพบว่า เด็กกลุ่มนี้มักไม่ได้รับบัตรคนพิการ เพราะไม่มีเอกสารทางการแพทย์รับรองความพิการตั้งแต่กำเนิด เนื่องจากประเภทความพิการของเด็กกลุ่มนี้ไม่แสดงอาการให้เห็นทางกายภาพ จึงต้องอาศัยเวลาประเมินความพิการ ทำให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับบัตรคนพิการช้ากว่าคนพิการกลุ่มอื่นๆ โดยข้อมูลจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปี 2564 พบเด็กที่มีความต้องการพิเศษ กลุ่มพิการด้านสติปัญญา 142,667 คน ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มว่าจะพบเด็กกลุ่มนี้เพิ่มจำนวนมากขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ด้านสุขภาวะ

นางภรณี กล่าวต่อว่า ในปัจจุบัน มีจำนวนเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่สามารถจะเรียนต่อจนจบในระดับอุดมศึกษาได้แค่ร้อยละ 1.38 เท่านั้น ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 จบเพียงระดับประถมศึกษา เพราะว่ามีอุปสรรคในการเรียนรู้ หรือชีวิตความเป็นอยู่ ต่อการเข้าไปอยู่ในโรงเรียน ทั้งปัญหาด้านร่างกาย ปัญหากับครอบครัว ฐานะทางเศรษฐกิจ ล้วนแต่เป็นอุปสรรคในการเรียนต่อสำหรับเด็กพิการ รวมถึงปัญหาเมื่ออยู่ในโรงเรียนที่เรียนร่วมกับกลุ่มเด็กกลุ่มอื่นๆ โอกาสที่จะถูกกลั่นแกล้ง ถูกเพื่อนล้อ แม้กระทั่งครูผู้สอนไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ที่เหมาะสมกับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นเป็นพิเศษได้ โดยร้อยละ 30 ของเด็กพิการ คือกลุ่มที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ

Advertisement

“สสส. จึงมีบทบาทสำคัญ ในการเข้ามาสนับสนุนกลุ่มเด็กที่มีความจำเป็นพิเศษ กลุ่มนี้ คำว่าสุขภาวะสำหรับคนพิการ สสส. ให้ความสำคัญมากเราพูดถึงสุขภาวะใน 4 มิติ สุขภาวะด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านปัญญา และด้านสังคม ซึ่งด้านร่างกาย จะต้องช่วยในการฟื้นฟูให้กับเด็กพิการมีความแข็งแรงมากขึ้น เรื่องนี้ก็จะเป็นเรื่องพื้นฐานที่เราจะพยายามสนับสนุน ให้คนพิการสามารถมีสุขภาพหรือสุขภาวะที่ดี ในด้านอื่น ๆ ก็อยากจะให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษมีความมั่นใจ พึ่งพาตนเองได้สามารถรู้ว่าอะไรดีไม่ดีกับตนเอง ดังนั้น สสส. ถึงให้ความสำคัญ ในการเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กกลุ่มที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษกลุ่มนี้”

นางภรณี กล่าวต่ออีกว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ทั้งในด้านการใช้ชีวิต และการทำงาน ด้วยการร่วมพัฒนาหลักที่เอื้อให้ผู้ปกครองและเด็ก สามารถก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆ โดยส่งเสริมการทำกิจกรรมการอยู่ร่วมกันในสังคม กิจกรรมทางกาย รวมถึงสนับสนุนด้านการเรียนต่อของเด็กกลุ่มนี้ นอกจากนี้ สสส. ยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนด้านการทำงานของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ โดยร่วมร่างหลักสูตรและคู่มือแนวทางสำหรับเด็กกลุ่มนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การประกอบอาชีพที่มีความเหมาะสม และตรงกับความต้องการมากที่สุด 

นอกจากนี้ยังร่วมพัฒนาหลักสูตรผู้ฝึกสอนกิจกรรมทางกายฯ และคู่มือกิจกรรมทางกายฯ (ฉบับผู้ปกครอง) เพื่อทำให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษทั่วประเทศได้รับความเป็นธรรมทางสุขภาพ ไม่ถูกละเลย หรือถูกเลือกปฏิบัติในรั้วโรงเรียนและสังคม โดยตั้งเป้าภายในปี 2565 ร่วมกับกรมพลศึกษาผลักดันให้เกิดการจัดการอบรมขยายในวงกว้างให้ครูในโรงเรียนเรียนร่วมได้เพิ่มเติมศักยภาพในการสอนกิจกรรมทางกายได้อย่างถูกต้องตามหลักการ จนส่งผลให้เกิดสุขภาวะกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษในโรงเรียนเรียนร่วมทั่วประเทศ และเผยแพร่คู่มือการสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กบกพร่องทางสติปัญญา (ฉบับผู้ปกครอง) ให้ถึงมือผู้ปกครองของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เพื่อผู้ปกครองจะได้มีส่วนในการพัฒนาสุขภาวะอย่างต่อเนื่องให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่บ้านต่อไป

นับจากนี้ คือ การเปิดโอกาสให้กลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษเหล่านี้ มีโอกาสได้เรียนรู้ ได้เข้าอยู่ในสังคม โอกาสในการพัฒนาทักษะต่างๆ มีโอกาสเข้าไปชีวิตเหมือนคนปรกติทั่วไป และสิ่งสำคัญที่สุด คือ การเปิดใจและต้อนรับเด็กเหล่านี้เข้ามาอยู่ในสังคมเสมือนหนึ่งคนปรกติทั่วไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image