พยาบาลจากจีน “ซินจวน วู” ผู้คิดค้นระบบควบคุมโรคซาร์ส คว้ารางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีฯ

เมื่อเวลา 15.03 น. วันที่ 12 กันยายน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในพระบรมราชูปถัมภ์เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งมีวาระพิจารณาตัดสินผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล และหรือการผดุงครรภ์จากทุกประเทศทั่วโลก ที่มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ทั้งในระดับชาติ ระดับนานาชาติ ก่อให้เกิดการพัฒนาด้านสาธารณสุข และคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้ได้เข้ารับพระราชทานรางวัลมูลนิธิฯ ประจำปี 2559 ณ ห้องเจ้าพระยา-ท่าจีน โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ

ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดการประชุมและดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระ ใช้เวลาประชุมกว่า 1 ชั่วโมงก่อนเสด็จฯ กลับ

ต่อมาคณะกรรมการมูลนิธิฯ จัดแถลงข่าวผลการพิจารณาบุคคลที่ได้รับพระราชทานรางวัลมูลนิธิฯ ประจำปี 2559 โดย รศ.ทัศนา บุญทอง รองประธานกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิฯ กล่าวว่า ที่ประชุมซึ่งมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธาน ได้พิจารณาตามที่มีหน่วยงานด้านวิชาชีพการพยาบาล ได้แก่ สมาคมพยาบาล สภาการพยาบาล และกระทรวงสาธารณสุขของประเทศต่างๆ เสนอประวัติและผลงานของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ที่มีคุณสมบัติเพื่อเข้ารับการพิจารณา จำนวนทั้งสิ้น 23 คน จาก 20 ประเทศ ซึ่งมูลนิธิฯ ได้ทำการพิจารณากลั่นกรองผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมตามขั้นตอน ตั้งแต่คณะกรรมการวิชาการ คณะกรรมการนานาชาติ และคณะกรรมการมูลนิธิ ซึ่งได้มีมติเป็นเอกฉันท์เลือก นางสาวซินจวน วู (Ms.Xinjuan WU) รับพระราชทานรางวัลมูลนิธิฯ ประจำปี 2559

โดยนางสาวซินจวน วู อายุ 58 ปี จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาลวิทยาลัยแพทยศาสตร์ปักกิ่งยูเนียน (Peking Union Medical College Hospital-PUMCH) เป็นผู้นำในวิชาชีพพยาบาลที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในการพัฒนาคุณภาพ งานบริการพยาบาล งานวิชาการ งานด้านการเรียนการสอน และงานวิจัย จนได้รับการยอมรับในระดับชาติ และระดับนานาชาติ ผลงานที่โดดเด่นคือ ในช่วงที่มีการระบาดของโรคซาร์สในมณฑลกวางตุ้ง และแพร่กระจายอย่างรวดเร็วมายังกรุงปักกิ่ง และประเทศอื่นๆทั่วโลกเมื่อพ.ศ.2547 โรคซาร์สซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรงของระบบทางเดินหายใจ ลักษณะของโรคเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันมีอาการรุนแรง และแพร่กระจายอย่างรวดเร็วผู้ติดเชื้อกว่าครึ่งหนึ่งเสียชีวิต มีผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลวิทยาลัยแพทยศาสตร์ปักกิ่งยูเนียนถึง 300 คน และมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นจนควบคุมไม่ได้

Advertisement

นางสาวซินจวน วู ได้ปรับรื้อโครงสร้างระบบการควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลเสียใหม่ทั้งระบบ ให้ทุกหน่วยทำงานสอดรับกันทั้งระบบด้วยความรวดเร็วและเข้มแข็ง ได้ทุ่มเทเวลาในการทำงานทุกวัน โดยไม่มีวันหยุดติดต่อกันนาน 2 เดือน จัดให้มีระบบเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพ นำทีมพยาบาลให้การพยาบาลผู้ป่วยและยังได้เป็นอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยโรคซาร์สที่เข้ารักษาในหอผู้ป่วยหนักด้วยตนเอง ทำให้ภายในระยะเวลา 2 เดือน สามารถควบคุมและยุติการแพร่กระจายของโรคซาร์สในปักกิ่งได้ ทำให้เป็นที่ยอมรับและชื่นชมจากทุกวงการ

ระบบที่ น.ส.ซินจวน วู พัฒนาขึ้นใหม่นี้ ทำให้การแพร่กระจายของโรคซาร์สไปสู่ประชาชนทั่วไป หยุดลงอย่างได้ผลดี ทั้งยังเป็นระบบที่ป้องกันให้พยาบาลและบุคลากรสุขภาพอื่นๆ ปลอดภัยจากการติดเชื้อจากผู้ป่วย

นับเป็นต้นแบบของการควบคุมโรคซาร์สในสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีประสิทธิภาพ ความสำเร็จดังกล่าวนี้มีผลทำให้การแพร่กระจายของโรคซาร์สสู่ประชากรโลกเบาบางลงอย่างเป็นรูปธรรมและยุติลงในที่สุด

Advertisement

สำหรับพิธีพระราชทานรางวัลฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นในวันที่ 19 ตุลาคม เวลา 16.00 น. ณ พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ ในพระบรมมหาราชวัง การนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงน้ำชา เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัล และแขกที่มาร่วมงานทั้งหมด ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ในพระบรมมหาราชวัง

อนึ่ง มูลนิธิฯ ได้ดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อรับพระราชทานรางวัลมูลนิธิฯ เป็นปีที่ 17 มีผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล และหรือการผดุงครรภ์ได้รับพระราชทานรางวัลแล้ว 18 ท่าน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image