ปลดล็อกสิทธิทางเพศ ได้มากกว่าที่คิด มิติใหม่ มธ. “แต่งกายตามเพศสภาพ”
ภายหลังที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้อนุมัติ “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการแต่งกายและเครื่องแบบนักศึกษา พ.ศ.2564” ซึ่งมีสาระสำคัญคือ การให้นักศึกษาสามารถแต่งกายตามเพศกำเนิด หรือเพศสภาพได้
แม้เดิมจะมีประกาศลงนามโดยอธิการบดี มธ. รับรองแนวทางปฏิบัติต่อนักศึกษา และการแต่งกายของนักศึกษา ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ หรือวิถีทางเพศ ไม่ตรงกับเพศกำเนิด เมื่อมิถุนายน 2563 ไปแล้ว
แต่ครั้งนี้ “สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง”
เปิดมุมมองโดย บัซซี่-ศิวกรณ์ ทัศนศร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มธ. และอุปนายกองค์การนักศึกษา มธ. ศูนย์รังสิต ประจำปีการศึกษา 2564 ซึ่งแสดงออกเป็นแอลจีทีบีคิวตั้งแต่ก้าวแรกเข้ามารั้วแม่โดม ได้อยู่ในทุกช่วงเวลา ทั้งการเผชิญแรงกดดัน การต่อสู้เรียกร้องสิทธิ และการเฉลิมฉลอง
บัซซี่เล่าว่า แม้จะอยู่ในมหาวิทยาลัยที่บอกว่ามีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว แต่ก็เจออุปสรรคตั้งแต่แรกเข้ามา อย่างการทำบัตรศึกษาต้องส่งรูปถ่าย ที่ต้องสวมใส่เครื่องแบบนักศึกษาตามคำนำหน้าชื่อ แต่ส่วนตัวคิดว่าบัตรนักศึกษาจะเป็นอะไรที่ติดไปทั้งชีวิต จึงส่งรูปที่สวมใส่เครื่องแบบนักศึกษาหญิงไปให้ แม้จะได้รับบัตรนักศึกษานั้นมา แต่ก็ถูกบอกมาว่าเป็นบัตรผิดระเบียบ ให้ส่งรูปมาทำใหม่
คำเตือน “ผิดระเบียบ” หนักเข้าๆ ทำให้นักศึกษาแอลจีบีทีส่วนใหญ่ ยอมส่งรูปที่สวมใส่เครื่องแบบนักศึกษาตามคำนำหน้าชื่อไป แต่กับบัซซี่ยังคงยืนหยัด เช่นเดียวกับการยืนหยัดใส่เครื่องแบบนักศึกษาตามเพศสภาพตั้งแต่ชั้นปีที่ 1


หลากหลายอุปสรรคที่ต้องพบเจอ ในใจเธอเริ่มมีความคิดอยากทำอะไรที่เปลี่ยนแปลง กระทั่งขึ้นปี 2 ได้เข้าร่วมกลุ่มขับเคลื่อนทางสังคม TU Changemaker ก่อตั้งโดย ศ.พญ.ดร.อรพรรณ โพชนุกูล อดีตฝ่ายการนักศึกษาฯ มธ. ทำให้เธอได้มีโอกาสร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงใน มธ. หนึ่งในนั้นคือ ผลักดันสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ
“จริงๆ เป็นคนเชื่อฟังผู้ใหญ่นะ แต่อะไรไม่ถูกไม่ควร อะไรที่ลิดรอนสิทธิเรา ซึ่งเคยโดยมาตั้งแต่ประถมมัธยม เมื่อได้มาอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งสิทธิเสรีภาพ ก็เลยคิดว่าถึงเวลาต้องสู้ ตรงนี้ไม่ได้ทำเพื่อใคร แต่ทำเพื่อตัวเอง ที่อยากมีชีวิตอยู่รอด มีความสุข และได้สวย”
กระทั่งได้รับการสนองตอบจากคณาจารย์และฝ่ายบริหาร จึงเป็นที่มาของประกาศ มธ.เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ มธ.เปิดให้นักศึกษาแต่งกายตามเพศสภาพได้ เพียงแต่ต้องทำรายงานเพื่อพิสูจน์ตัวตนเข้ามาก่อน จนล่าสุดในข้อบังคับ 2564 ตรงนี้คือ สามารถแต่งได้เลย จะแจ้งหรือไม่แจ้งให้มหาวิทยาลัยทราบก็ได้
“จากนี้จะไม่มีประกาศไหนออกมาขัดกับข้อบังคับ ไม่มีรุ่นพี่ ไม่มีอาจารย์มายุ่งกับการแต่งกายของเราได้ โดยเฉพาะบางคณะที่บังคับให้นักศึกษาแต่งกายตามคำนำหน้าอยู่ ก็จะคลายล็อคเรื่องนี้”



บัซซี่ยืนยันว่า การได้แต่งกายตามเพศสภาพ มีผลต่อการศึกษา อาจจะไม่ใช่กับผลการเรียนโดยตรง แต่อย่างน้อยๆ ก็ทำให้เราอยากไปเรียน ไปเรียนแล้วสบายใจ มีความสุข จากที่ผ่านมานักศึกษาแอลจีบีทีหลายคนไม่มีความสุข ไม่สบายใจต้องไปเรียน เพราะต้องแต่งเครื่องแบบนักศึกษาชายไปเรียน โดยเฉพาะการสอบที่มักบังคับ ทั้งที่ร่างกายเป็นผู้หญิงแล้ว
อีกอานิสงส์ของประกาศ มธ.เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ทำให้มีการตั้ง “คณะกรรมการสงเสริมความปลอดภัยเเละความเข้าใจทางเพศ” ซึ่งเป็นครั้งแรกอีกเช่นกัน ในการมีกลไกเข้ามาดูแลนักศึกษาและบุคลากร มธ.
ซึ่ง 1 ปีที่ผ่านมาได้ดำเนินการปลดล็อกและแก้ไขปัญหาหลายเรื่องๆ เช่น แก้ไขประกาศจ้างงาน มธ.ไม่ระบุเพศ การมีมาตรการป้องกันและแก้ไขการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเปิดให้มีการยื่นคำร้องเข้ามา มีการสอบสวนที่เข้าใจความละเอียดอ่อนผู้เสียหาย ก่อนดำเนินการหรือส่งต่อให้มีการเอาผิดทั้งทางวินัยและแจ้งความดำเนินคดี ทั้งเคสที่เกิดในและนอกมหาวิทยาลัย
บัซซี่บอกว่า ในแวดวงมหาวิทยาลัยอื่นๆ ยังไม่มีกลไกแบบนี้ แต่เขามีความสนใจอยากทำบ้าง เช่น จุฬาฯ ม.ขอนแก่น ม.เชียงใหม่ ที่มาดู มธ.เป็นต้นแบบ
“ความเปลี่ยนแปลงนี้ เกิดจากกระบวนการส่งเสริมประชาธิปไตยใน มธ. ที่คนหลายกลุ่มช่วยกันเรียกร้อง กดดัน ที่สำคัญคือ เรามีผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ ซึ่งเป็นผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้ง” บัซซี่กล่าวทิ้งท้าย





