5 วิธีคุยเรื่องการเมือง แบบ ‘เฮลธ์ตี้’ อยู่ร่วมกับความเห็นต่าง

5 วิธีคุยเรื่องการเมือง แบบ ‘เฮลธ์ตี้’ อยู่ร่วมกับความเห็นต่าง

พอพูดถึงเรื่องของความแตกต่าง หลายคนก็ไม่อยากจะพูดคุย โดยเฉพาะเรื่องของการเมืองเพราะหวั่นจะนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง ทว่าในปัจจุบันการเมืองอยู่ในทุกระดับ ในทุกๆ วัย โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนที่ให้ความสนใจเรื่องของการเมืองอย่างมาก จึงหนีไม่พ้นที่จะมีบทสนทนาเรื่องความคิดเห็นทางด้านการเมือง แต่จะคุยกันในเรื่องความแตกต่างพร้อมกับรักษาความสัมพันธ์เอาไว้ด้วยได้อย่างไร

มีคำตอบในรายการ “Well-Being สุขภาพดี ชีวิตดีสร้างได้” หัวข้อ “การอยู่ร่วมกันของความเห็นต่างทางการเมือง” เผยแพร่ทางมหิดล ชาแนล พอดแคสต์ ซึ่งมี นพ.สมบูรณ์ หทัยอยู่สุข หรือ หมอหลิว อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ร่วมให้ข้อมูล และดำเนินรายการโดย ดร.ระพี บุญเปลื้อง หรือ อ.เต้

 

หมอหลิว กล่าวถึงเหตุผลที่เวลาเข้าสังคมแล้วมักจะได้ยินว่า สองเรื่องที่ไม่ควรชวนคุยคือ 1.การเมือง 2.ศาสนา เป็นเพราะเวลาที่คุยใน 2 หัวข้อนี้ มักลึกลงไปถึงเรื่องความเชื่อความศรัทธา ลึกไปถึงแนวทางการดำเนินชีวิตว่าทำไมคนเราถึงทำแบบนั้นแบบนี้เพราะมีความเชื่อความศรัทธาที่แตกต่างกัน สื่อเองก็มีผลส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกว่าเรื่องนี้น่ากลัว เป็นเรื่องที่ไม่ควรพูดไม่ควรคุย แถมเวลาที่คุยกันเรื่องพวกนี้จะมีความรู้สึกของ “อารมณ์” เกิดขึ้นมาด้วย จึงกลายเป็นเรื่องที่ถูกบอกว่าไม่ควรคุย เพราะคุยแล้วมีแต่ทะเลาะกัน ส่วนหนึ่งอาจจะด้วยวัฒนธรรมของไทย ที่คนไทยเป็นคนอะลุ่มอะลวย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ชอบความขัดแย้ง เมื่อไหร่ที่คุยแล้วจะนำมาซึ่งความขัดแย้งเราก็มักจะหลีกเลี่ยง

Advertisement

ทว่าเรื่องการเมืองคุยแบบเฮลธ์ตี้ได้ แต่ต้องอาศัย “วิธีการดำเนินการพูดคุย” โดยไม่ให้เป็นการรุกล้ำสิทธิของคู่สนทนา ซึ่ง หมอหลิว แนะนำไว้ 5 ขั้นตอน ดังนี้

1.การเปิดใจ ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดเปรียบเหมือนการติดกระดุมเม็ดแรก ถ้าติดถูกก็ไปต่อได้ ต้องเข้าใจก่อนว่าชีวิตของเราไม่ได้มีแค่เรื่องการเมือง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่คุยเรื่องการเมืองเพราะไม่ใช่เรื่องของเรา การเปิดใจจึงเป็นการยอมรับว่าชีวิตเรามีทั้งเรื่องถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง นี่คือความปกติ

ในครอบครัวควรเปิดใจยอมรับก่อนว่าลูกของเรากำลังเติบโต เขาเป็นยุคไหน เขาเป็นคนวัยไหน เราเลี้ยงเขามาจนเขาเก่งและคิดเองได้ ต้องชื่นชมเขา ชื่นชมตัวเองด้วยว่าเลี้ยงลูกมาดี ขณะเดียวกันเด็กก็ต้องเปิดใจว่า พ่อแม่เขาไม่ได้โตมาพร้อมกับเรา จะให้มาคิดเหมือนกันก็คงไม่ง่ายนัก หากในครอบครัวอยากจะคุยกันเรื่องนี้ก็ต้องเปิดใจเชื่อมโยงความสัมพันธ์กันก่อน

2.การฟัง เมื่อเปิดใจแล้วควรฟัง (อย่างตั้งใจ) เช่นถ้าสมมติวันนี้เราทำงานมาหนักมากแล้วมีคนรับฟังเราคงรู้สึกดีมาก ขณะเดียวกันลองนึกถึงสถานการณ์ที่ลูกกำลังไถทวิตเตอร์ดูข่าวการเมือง พ่อแม่เข้าไปเห็น สอนเขาเลย แม้จะตั้งใจหวังดีอยากสอน ทว่าฝ่ายลูกที่อยากจะบ่น อยากจะเล่าจะคุย สุดท้ายก็เลยเลือกไม่คุย เพราะพูดแล้วมีแต่ผลลบ พูดแล้วเจ็บ ใครอยากจะพูด

ฉะนั้น ทักษะการฟัง เป็นทักษะที่ยากมาก เพราะหลายคนคิดว่าการได้ยินเท่ากับการฟัง แต่จริงๆ การฟังนั้นลึกซึ้งกว่าแค่ได้ยิน ประกอบกับหลายๆ ครั้งเหมือนฟังเพื่อที่จะได้พูดต่อไม่ใช่การฟังอย่างแท้จริง แต่ถ้าเราฟังแล้วเข้าใจว่าอีกฝ่ายกำลังรู้สึกอะไร เขากำลังจะสื่อสารและแสดงออกอะไรกันแน่ จะพบว่าข้อความเดียวกันบางทีเขาสื่อความหมายไม่เหมือนกัน

3.การชวนคิดชวนวิเคราะห์ (Critical thinking) เป็นทักษะที่ควรได้รับการฝึกในวัยรุ่น ถูกยกให้เป็น “ทักษะศตวรรษที่ 21” กล่าวง่ายๆ คือ ในเมื่อการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องคุย แต่จะคุยยังไง เมื่อมีการนำเสนอข่าวเรื่องหนึ่งให้ตั้งสติ และวางใจสงบเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน พอสมองส่วนอารมณ์สงบ สมองส่วนความคิดจะทำงานมากขึ้น คนเห็นต่างเห็นหลากหลายชวนกันมานั่งคุยเลยว่าข่าวนี้จริงมากแค่ไหน อะไรคือสิ่งที่ทำให้เชื่้อว่าจริง คิดว่าจริงกี่เปอร์เซ็น และไม่จริงกี่เปอร์เซ็น ถ้าจริงแล้วจะมีทางออกหรือทิศทางไปต่ออย่างไร เป็นต้น

4.การให้พื้นที่ คือการที่เราอนุญาตให้อีกฝ่ายได้มีโอกาสทำหรือได้เชื่อในแบบที่เขาอยากจะเป็น ต้องเหลือพื้นที่ให้กันบ้าง ให้ได้แสดงออกอย่างเหมาะสม ถ้าทุกอย่างถูกบังคับกำกับ ผลที่ได้อาจจะแสดงออกในเชิงลบ

5.การฝึกอยู่กับความแตกต่าง ยอมรับว่าความแตกต่างคือเรื่องปกติ มองว่าความหลากหลายเป็นเรื่องสวยงาม การฝึกอยู่กับความแตกต่างเป็นเรื่องที่ต้องทำซ้ำๆ เพื่อให้เกิดเป็นความชำนาญ กลายเป็นทักษะ จนกลายเป็นตัวเราโดยที่ไม่ต้องฝึกแล้วในตอนท้าย

อยู่ร่วมกับความแตกต่าง

นพ.สมบูรณ์ หทัยอยู่สุข
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image