เด็กเกเรกลับใจ “ปริญญา มอญเก่า” ที่ปรึกษาสภาเด็กฯ แห่งประเทศไทย

12036986_1059802660699490_6658155274589762991_n

“ปัญหาเด็กแว้น เด็กที่ชอบขีดเขียนตามกำแพงฝาผนัง เด็กบีบอย เด็กเหล่านี้ไม่ใช่เด็กไม่ดี หลายเป็นคนมีพลังมีความคิดสร้างสรรค์ แต่เป็นเพราะผู้ใหญ่ไม่เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กได้ทำกิจกรรม เด็กบางคนเคยไปร่วมแข่งขันในเวทีระดับโลกได้รางวัลมากมาย แต่ไม่เคยถูกนำเสนอเผยแพร่ เพราะผู้ใหญ่มักจะยกย่องแต่เด็กในระบบที่เรียนเก่งสอบได้อันดับต้นๆ ส่วนเด็กที่ทำกิจกรรมหรือเด็กนอกระบบเหล่านี้มักจะถูกมองข้าม”

เป็นคำบอกเล่าของ ณรงค์ ฟับประโคน ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สะท้อนความจริงแง่คิดคนในสังคม ซึ่งน่าสนใจไม่น้อยและอยากฉายสปอตไลต์ไปให้ถึง

เขาคือ “ปริญญา มอญเก่า” หรืออาร์ติน ที่ปรึกษาประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย, ที่ปรึกษาประธานสภาเด็กฯ จังหวัดสมุทรสาคร, ประธานเครือข่ายเด็กและเยาวชนองค์งดเหล้าภาคตะวันตก คณะทำงานศูนย์อำนวยการประสานงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดภาคเยาวชน และหัวหน้ากลุ่มบีบอยชื่อดังแห่งจังหวัดสมุทรสาคร “ชาเล้นคลู” (challengecrew)

Advertisement

ปริญญาเล่าถึงชีวิตก่อนหน้านี้ว่า ช่วง ม.ต้นเป็นเด็กตั้งใจเรียน แต่หลังจากย้ายบ้านจากกรุงเทพฯ มาอยู่แถวบางปิ้ง จ.สมุทรสาคร และเรียน ม.ปลาย ก็เริ่มคบกับกลุ่มเพื่อนไม่ดี

“ตอนนั้นหนักมาก คืออะไรแย่ๆ ทำหมด ไม่ว่าจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ สูบบุหรี่ ยาเสพติด ทะเลาะวิวาท ปล้นทรัพย์ สิ่งที่ไม่ทำอย่างเดียว คือ เสพยา แต่ก็มาหนักในช่วง ม.6 ที่ไม่ได้ไปเรียนเลย”

แต่นับยังเป็นโชคของปริญญา เมื่อเขากลับตัวกลับใจได้เร็ว

“มีเพื่อนบางคนในกลุ่มเสียชีวิต บางคนติดคุก เห็นแบบนี้แล้ว ทำให้กลับมาคิดว่าทุกอย่างเริ่มใกล้ตัวมาเรื่อยๆ จึงเริ่มทบทวนตัวเอง ทำไมเราถึงเป็นแบบนี้ เรียนไม่จบ สร้างปัญหาให้พ่อแม่ สังคมมองเป็นสวะ จึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวเอง”

12509783_1113134468699642_1605960358658635349_n

จากวันนั้น เด็กหนุ่มวัย 19 ปี เริ่มมองหาโอกาสใหม่ๆ วันหนึ่งที่สวนสาธารณะในงานกีฬาต้านภัยยาเสพติด เขาได้ยืนดูการเต้นบีบอย แล้วรู้สึกหัวใจพองโตเป็นจังหวะเพราะสนใจมาก จากนั้นได้รวบรวมกลุ่มเพื่อนพากันไปซ้อมเต้น เลิกสูบบุหรี่ เลิกกินเหล้า

เมื่อหันกลับมาปรับปรุงตัวเองใหม่ เรื่องดีๆ ก็เกิดขึ้น เมื่อได้พบกับ ขวัญชัย โพธิ์จำเริญ อดีตประธานสภาเด็กและเยาวชนเทศบาลตำบลนาดี จ.สมุทรสาคร ซึ่งเชิญชวนให้เข้าร่วมทำกิจกรรมกับสภาเด็กฯ ด้วยคำพูดที่จำขึ้นใจว่า “จะได้เที่ยว และเจอสังคมใหม่ๆ” แน่นอน ปริญญาตอบตกลง

“ผมลองไปทำกิจกรรมกับสภาเด็กฯ ทั้งงานวิทยากรบรรยายให้เด็กๆ งานจิตอาสาช่วยเหลือสังคม ทำมาตลอดหลายปีจนผู้ใหญ่เริ่มให้การยอมรับ การทำงานตรงนี้ทำให้ผมใจเย็นขึ้น มีกระบวนการคิดและมีวุฒิภาวะมากขึ้น และทำให้คิดว่าเมื่อผมเปลี่ยนได้ เยาวชนที่มีปัญหาอื่นๆ ก็ต้องเปลี่ยนได้ จึงเริ่มทำกลุ่มบีบอยจริงจัง โดยชวนเยาวชนในพื้นที่ที่มีปัญหาเข้ามา แล้วบอกว่าหากอยากเรียนบีบอยต้องอยู่ในกฎของเรา”

ขณะนี้มีสมาชิก 30- 40 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กนอกระบบการศึกษา และเคยติดคุกมาแล้ว

“น้องๆ ที่อยู่ในกลุ่ม ตอนไปเจอครั้งแรกมีปัญหากันหนักมาก หากไม่ติดยา ก็เป็นขโมย หรือไม่ก็ทะเลาะวิวาท แต่หลังจากมาอยู่ที่นี่ พวกเขาค่อยๆ เปลี่ยน แม้อาจไม่ดีขึ้นแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะยังกินเหล้าและสูบบุหรี่อยู่บ้าง แต่พวกเขาก็เลิกก่อปัญหาอาชญากรรม กลับมารับผิดชอบตัวเอง รู้จักทำมาหากิน ทำให้ลดปัญหาวัยรุ่นในละแวกนี้ไปได้มาก”

“นี่คือความสุขที่ผมได้เห็นพวกเขาเติบโตขึ้นทุกวัน คล้ายๆ กับพ่อแม่ที่ดูลูกมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ผมยังรู้สึกดีใจที่ได้เป็นไอดอลของเด็กหลายคน รู้สึกภูมิใจที่ทำให้ครอบครัวมีความสุขและภูมิใจ จากการสร้างกลุ่มเยาวชนที่โดดเด่นระดับจังหวัดและประเทศ”

ฟังอาจดูเหมือนง่าย แต่ในทางปฏิบัติยากมาก ทั้งโดนสังคมดูถูกสารพัด ที่หนักกว่านั้นคือ “สังคมไม่ให้โอกาส”

934110_1116788805000875_4968559584197665548_n

กลุ่มชาเล้นคลู (challengecrew)

ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่หนุ่มวัย 26 ปีอยากฝากถึงคนในสังคมว่า

“อย่าตัดสินคนที่ภายนอก วัยรุ่นตัวดำ ผอม สักลาย บางทีเขาอาจมีอะไรดีๆ ก็ได้ เด็กล้วนมีศักยภาพและความสามารถเท่ากันหมด และจากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา พบว่าเด็กที่มีปัญหานี่แหละ เป็นเด็กที่ให้ความร่วมมือที่สุด หากช่วยเขาด้วยความจริงใจ จนได้ใจเขา เขาก็จะให้ใจตลอดไป” ปริญญาบอกก่อนย้ำความสำคัญการมีพื้นที่สร้างสรรค์ว่า

“โดยรวมเด็กต้องการพื้นที่แสดงออก อย่างเด็กแว้น เด็กก่ออาชญากรรมที่เข้ามาในกลุ่ม เมื่อเขาได้เต้น ได้ขึ้นเวที มีคนขอถ่ายรูป เขารู้สึกมีคุณค่าก็ไม่กลับไปทำอย่างนั้นอีก ที่ผ่านมารัฐมักพูดถึงพื้นที่สร้างสรรค์ แต่เอาเข้าจริงกลับไม่ทำ ไม่สนับสนุน อย่างเต้นบีบอยรัฐไม่เคยจัดประกวด ส่งไปแข่ง ฉะนั้น อยากให้รัฐจัดพื้นที่สร้างสรรค์ที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่และความต้องการเด็ก ทำด้วยความจริงใจ และร่วมกับกลุ่มคนที่ทำงานเพื่อสังคมที่มีศักยภาพ เท่านี้ปัญหาวัยรุ่นก็แก้ได้ไม่ยาก”

ปัจจุบัน ปริญญาดั้นด้นเรียนจบชั้น ม.6 แล้ว ส่วนจะเรียนต่อหรือไม่นั้น เขายังไม่ได้ตัดสินใจ เพราะกำลังมีไฟกับงานที่ทำอยู่นี้ ควบคู่กันไปเขาเริ่มมองหาความยั่งยืนของกลุ่ม เริ่มฝึกน้องๆ เตรียมส่งไม้ผลัดให้ดูแลกันต่อ

ไม่เพียงหวังประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับน้องๆ ในกลุ่ม แต่ยังหวังเกิดขึ้นกับเยาวชนในพื้นที่

“ผมไม่รวย ไม่มีมรดกที่เป็นตัวเงิน แต่การมาทำตรงนี้ที่ได้ช่วยแก้ปัญหาสังคม เพื่อทำให้รุ่นลูกหลานของเราอยู่ได้ง่ายขึ้น ปลอดภัยขึ้น ดีกว่าการมีเงินก้อนใหญ่ให้ลูก” ปริญญาทิ้งท้าย

12265940_1085036011509488_658709183693924182_o

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image